นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทุลละภัง ทัสสะนัง โหติ สัมพุทธานัง อะภิณหะโส. การเห็นพระพุทธเจ้าเนืองๆนั้น เป็นการหาได้ ยาก นี่ เป็นพุทธพจน์ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทานเอาไว้ ปัญหาในเรื่องการเห็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนืองๆนั้น ไม่ใช่ว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะอุบัติขึ้นได้ง่ายๆ ทุกยุคทุกสมัย ทั้งนี้เพราะว่า พระพุทธเจ้าแต่ละองค์ที่จะอุบัติขึ้นนั้น จะต้องสิ้นศาสนาหนึ่ง แล้วว่างเปล่าไปอีกเป็นเวลานาน สมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้า จึงจะเกิดขึ้นได้ ระยะเวลานั้น ถ้าจะนับตามภาษามนุษย์ ก็คงเป็นล้านๆปี ซึ่งไม่ใช่ของมีกันได้ ง่ายนัก เหตุนี้แหละ เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจวนจะนิพพานนั้น ภิกษุหลายรูปก็เป็นห่วงในเรื่องนี้ว่า เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ก็จะไม่มีผู้ใดมาสั่งสอน ก็ได้ถามพระพุทธเจ้าว่า จะให้ใคร เป็นผู้สั่งสอนแทนต่อไป เรื่องนี้ เราควรจะได้ทำความเข้าใจกันว่า การเป็นพระพุทธเจ้านั้น ไม่ใช่เกิดจากการ แต่งตั้ง หรือมอบหมาย แต่เป็นการเกิดขึ้นด้วยความสำเร็จของพระโพธิสัตว์แต่ละองค์ ที่มีเป้าหมายที่จะบรรลุ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในศาสนาของพระองค์ท่าน เหตุนี้แหละ เมื่อพระสาวก ได้ทูลถามด้วยความวิตกทุกข์ร้อน ในเรื่องนี้ พระองค์จึงได้ตรัสว่า แม้แต่พระองค์จะนิพพานไปแล้ว ก็ยังมีผู้แทนพระองค์อยู่นั่นคือ พระธรรมคำสอน ของพระองค์ที่ให้เราไว้นั่นเอง ดังนั้น การบูชา พระองค์จึงได้ตรัสว่า การเคารพบูชาพระองค์นั้นด้วยอามิสบูชา พระองค์ไม่ได้ทรงยกย่อง แต่ทรงยกย่องผู้ที่ทำการปฏิบัติบูชา นั่น หมายถึง ผู้ที่จะไปกราบ เคารพนบไหว้ ถวาย ดอกไม้ธูปเทียน อะไรต่างๆเหล่านี้ พระองค์ไม่ได้ตรัส ไม่ได้ทรงยกย่องบุคคลประเภทนั้นเลย แต่ ตรงกันข้าม พระองค์ได้ทรงตรัสยกย่อง บุคคลประเภทที่ได้นำเอาพระธรรมคำสอนของพระองค์มาประพฤติมาปฏิบัติ

การที่พระองค์ทรงยกย่องเช่นนั้น เข้าใจว่า มันมีเหตุผล 2 ประการ หมายถึงว่า ประการแรก หมายความว่า พระองค์ได้ตรัสรู้ ได้โปรดสัตว์แล้ว โดยได้พระธรรมคำสอนมาแล้ว พระองค์ สั่งสอนไปแล้ว เขานำไปประพฤติปฏิบัติ ผลมันก็เกิดขึ้นกับตัวเขา ประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง พระธรรมคำสอนของพระองค์นั้น หากยังมีผู้ประพฤติปฏิบัติอยู่ พุทธศาสนามันก็จะตั้งอยู่ได้ โดยไม่สูญสลายหายไป นี่

ฉะนั้นพวกเราทุกคน ผมจึงได้บอกว่า เราอย่ามายึดมั่นถือมั่นกัน อะไรกันเลย เราเคารพธรรม ปฏิบัติธรรม ให้สมควรแก่ธรรมกันเถอะ แต่ก็ยังมีบุคคลบางคน ยังมีความยึดมั่นถือมั่นเช่นนั้น ดังนั้นวันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ 2521 เรา เห็นขนบประเพณี เขาให้ศีลให้พร เขาไปขอศีลขอพรกันโดยทั่วๆไป เพื่อเป็นสิริมงคล ดังนั้นในวันนี้ จึงจะได้นำเอาสิริมงคล ในพระพุทธศาสนานั้น มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อพวกเราแต่ละคน ถ้าสนใจในความเป็นสิริมงคลนั้น ก็นำมาใช้โดยเราไม่ต้องวิ่ง ไปหาที่ไหน เพราะสิริมงคลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มันไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย ความจริงมันอยู่ในตัวของเรานั่นเอง

เมื่อวันเสาร์ก่อนนั้น เราได้พูดกันมาแล้วถึงเรื่อง การปรับปรุงตัวของเราเอง เพื่อเตรียมรับสิริมงคลในวันปีใหม่นี้ มันเป็น วันสิ้นปี ผลก็คือ เท่ากับเราชำระล้าง ร่างกายและจิตใจของเรา ให้มีความสะอาด มีความผ่องใส เมื่อมาถึงวันนี้ เราก็นำเอา ความเป็นสิริมงคลมาให้กัน แต่ความเป็นสิริมงคลในพระพุทธศาสนา ที่ผมนำมาพูด ให้เราทุกคนฟังในวันนี้ ผมไม่มีปัญญา

ที่จะหยิบยื่นให้ พวกเราทั้งหลายแต่ละคนได้ ผมก็ได้แต่แนะนำเท่านั้น ทั้งนี้เพราะความเป็นมงคลตามประเพณีนั้น มัน แตกต่างกันกับ ความเป็นสิริมงคล ในพระพุทธศาสนา เพราะความเป็นสิริมงคล ในพระพุทธศาสนานั้น เมื่อสรุปแล้ว มันอยู่ที่ ตัวของเราเอง

แต่ก่อน ความเป็นสิริมงคลในพุทธศาสนา ที่ผมจะกล่าวต่อไปนี้ ก่อนที่จะมีความสิริมงคลในเรื่องนี้ มันได้เกิด ขึ้น เป็นประเพณีขึ้นแล้ว 3 พวก หรือ 3 ประเภท

ประเภทที่ 1 เรียกว่า ทิฏฐิมงคล ทิฏฐิมงคลนี่เกิดขึ้นจากชายคนหนึ่ง ชื่อว่า ทิฏฐิมังคลิกะ ซึ่งเป็นผู้อ้างว่า ตนเป็นผู้รู้จักมงคล ด้วยการถือรูปที่แลเห็นนั้นเป็นมงคลยิ่ง เช่นเมื่อเวลาเขาตื่นนอนแต่เช้า ลุกขึ้นมาตั้งแต่เช้าตรู่ เขา เห็นนกแอ่นลมก็ดี เห็นผลมะตูมอ่อนก็ดี เห็นหญิงมีครรภ์ก็ดี เห็นเด็กซึ่งแต่งกาย ด้วยเครื่องประดับก็ดี เห็นหม้อน้ำ ซึ่งเต็มไปด้วยน้ำก็ดี เห็นปลาตะเพียนสดก็ดี เห็นม้าอาชาไนยก็ดี หรือ เห็นรถ เทียมด้วยม้าอาชาไนยก็ดี เห็นโคอสุภะ เห็นแม่โค เห็นโคแดง สิ่งเหล่านี้ รูปที่แลเห็นเหล่านี้ เขาถือว่าเป็นมงคล ที่ผมยกตัวอย่างนี้ มันเป็นแต่เพียงบางอย่าง เท่านั้น แม้แต่สิ่งใดที่เขา ใกล้เคียงกว่านี้ ที่เขาลงมติเห็นว่า เป็นมงคลนั้น ถ้าเขาเห็นเข้าแล้ว เขาก็ถือว่า สิ่งนั้นเป็นมงคล นั่น ถ้าจะพูดตาม หลักของธรรมะ เขาก็ถือเอาวัณณรูป(รูปสี) ที่เขากำหนดหมายไว้นั่นเองว่า เป็นมงคล เป็นสิริในการพบเห็น

ทีนี้นอกจากนายทิฏฐิมังคลิกะนี้แล้ว ก็ยังมีอีกพวกหนึ่งเรียกว่า สุตมงคล สุตมงคลนี่ เกิดขึ้นจากชายคนหนึ่ง ซึงมีนามว่า สุตมังคลิ ซึ่งเมื่อได้ทราบความเป็นมงคล ประเภททิฏฐิมงคล คือถือว่าเป็นมงคลด้วยการเห็นรูปแล้ว นาย คนนี้แกไม่เห็นด้วย แกบอกว่า อ้ายรูปที่เห็นนั้นน่ะ ความจริงแล้วมันเป็นรูปที่ดีก็มี รูปที่ไม่ดีก็มี รูปที่สะอาดก็มี ไม่สะอาด ก็มี ฉะนั้นรูปที่เห็นนั้น จะถือว่าเป็นมงคล อย่างที่ทิฏฐิมังคลิกะเห็นไม่ได้ ความจริงสิ่งที่เป็นมงคลนั้นไม่ใช่รูป ความจริง มันเป็นเสียงต่างหาก การที่ถือว่าเสียงเป็นมงคลนั้น เพราะถือว่า เสียงนั้นเป็นมงคลยิ่ง ที่เรียกว่าเสียงที่เป็นมงคลยิ่งนี้ เมื่อเราตื่นนอนแต่เช้าตรู่ ได้ยินเสียงคำว่า เจริญก็ดี กำลังเจริญก็ดี ความเป็นสวัสดีก็ดี เต็มแล้วก็ดี หรือขาวแล้วก็ดี หรือคำว่าใจดีก็ดี หรือคำว่า สิริก็ดี หรือคำว่า สิริเจริญแล้วก็ดี หรือวันนี้มีใครกล่าวว่า ฤกษ์ดีก็ถือว่าเป็นมงคล ยามดี ก็เป็นมงคล เป็นมงคลดีทั้งนั้น เสียงเหล่านี้ ที่เรียกว่า เขาจึงนับถือว่า เสียงที่ได้ยินในตอนแรก ขณะตื่นนอนนั้น ถ้ามี เสียงที่ดีเหล่านี้แล้วประการใดประการหนึ่ง เขาก็ถือว่าเสียงเหล่านั้น เป็นมงคลทั้งสิ้น

พวกที่แลเห็นรูปเป็นมงคลก็ดี ได้ยินเสียงถือว่าเป็นมงคลก็ดี ยังไม่สิ้นสุดแค่นั้น ยังมีต่อไปอีกเรียกว่า มุตมงคล มุตมงคล นี่เกิดขึ้นจากชายคนหนึ่ง มีนามว่า มุตมังคลิกะ ซึ่งถือว่า อารมณ์ที่ทราบแล้วนั่นแหละเป็นมงคล เมื่อได้ฟัง เสียงที่เป็นมงคลเช่นนั้น เขาจึงคัดค้านจากผู้ที่มีความเห็นว่าเสียงเป็นมงคล เพราะเขาถือว่า ขึ้นชื่อว่าหูนั้นน่ะ ย่อมได้ยิน เสียงที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เสียงที่น่าชอบใจบ้าง เสียงที่ไม่น่าชอบใจบ้าง พวก หากว่า จะถือว่าเสียงนั้นเป็นมงคลแล้ว ก็เสียง ที่ไม่พอใจ ไม่น่ายินดีเช่นนั้น มันก็ต้องเป็นมงคลด้วยน่ะซิ เขามีความเห็นเช่นนี้ เหตุนั้น คนคนนี้ จึงไม่ถือว่าเสียงเป็นมงคล เหมือนบุคคลแรก แต่เขาถือว่า อารมณ์ ที่ได้รับทราบต่างหาก เป็นมงคล ไม่ว่าเขาจะได้ดมกลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสสิ่งต่างๆ และมีอารมณ์เกิดขึ้นแล้ว ถ้าสิ่งที่ดมนั้น เป็นกลิ่นของดอกไม้หอม หรือการเคี้ยวอาหาร หรือไม้จิ้มฟันเป็นครั้งแรก หรือการจับต้องพื้นดิน การจับต้องข้าวกล้า ที่เขียวสด การจับต้องโคมัยสด การจับต้องเต่า การจับต้องเกวียนบรรทุกงา การจับต้องดอกไม้ หรือผลไม้ หรือลูบไล้ด้วยดินสอพอง ตามพิธีกรรมที่กำหนด หรือการนุ่งขาว ห่มขาว การโพกผ้าสี ขาว ตลอดจนการดมกลิ่น การสัมผัสถูกต้อง โดยโผฏฐัพพะ อย่างนั้น ประการใด ประการหนึ่ง ในระยะเริ่มแรก จากที่ตื่นนอนมานั้น เขาถือว่า อารมณ์ ที่ทราบนั้นเป็นมงคล

เราจะเห็นได้ว่า ในสมัยพระพุทธเจ้านั้น มีการถือลัทธิ และมงคลต่างกัน ถึง 3 ประเภท เมื่อชายทั้ง 3 นั้น มีความเห็นต่างกัน คนทั้งหลายก็เห็นด้วยกันแต่ละคน หมายความว่า เห็นว่า

การเห็นรูปสี เป็นมงคลก็ดี ก็มี

การได้ยินเสียงต่างๆ เป็นมงคลก็มี

การสัมผัสสิ่งต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น และกายนั้น เกิดอารมณ์ขึ้น ถือว่า เป็นมงคลก็ดี

นั่นคือ ทิฏฐมงคล สุตมงคล มุตมงคล ได้เกิดขึ้นแล้ว ในสมัยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้อุบัติแล้วใน โลกนี้ แต่สมัยนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังไม่ได้กำหนด ความเป็นมงคลขึ้น แต่ประการใด เมื่อเป็นเช่นนี้ มนุษย์ ขณะนั้นก็แบ่งกันเป็นพวก เป็นเหล่า นับถือมงคลแต่ละอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรูปก็ดี เป็นเสียงก็ดี หรือเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นก็ ดี เมื่อมนุษย์ทั้งหลาย ได้มีความเห็นแตกต่างกัน ความแตกแยกกัน ในเรื่องลัทธิ มันก็เกิดขึ้น และสมัยนั้นกับสมัยนี้ ก็ เช่นเดียวกัน คือเทวดาชั้นต่ำนั้น อยู่ร่วมกับมนุษย์ ก็ได้ถือเอามงคล ที่มนุษย์อุปโลกน์ขึ้น ไปเป็นมงคลด้วย แล้วแต่จะอยู่ ใกล้กลุ่มไหน ก็ถือเอาตามลัทธิของกลุ่มนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้เทวดาก็มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องมงคลอีก เรื่องเช่นนี้ หนัก เข้าๆ ก็เกิดมีความแตกแยกกันในเรื่องลัทธิ เว้นเสียแต่ อาริยสาวกเท่านั้น ที่ไม่ได้สนใจในเรื่องนี้ สำหรับปุถุชนทั่วไปใน สมัยนั้น ต่างก็นับถือมงคล ตลอดจนเทวดา

ครั้นกาลล่วงมา ความแตกแยก ความแพร่สะพัด แห่งมงคลทั้ง 3 ได้รู้ไปถึงชั้นสุทธาวาส ชั้นสุทธาวาสนี่ เราได้รู้กันมาแล้วว่า เป็นชั้นของ อริยบุคคล ซึ่งไม่ได้ร่วมขบวนการ ที่จะลงมาตรัสรู้เป็นพุทธสาวก ดั้งนั้นพวกนี้ ก็รู้ได้ โดยเจโตปริยญาน จึงได้ประกาศให้ชาวชมพูทวีป(โลกที่เราอยู่ใบนี้)ทั่วไปว่า ต่อไปนี้ เป็นเวลาล่วงไปแล้ว 12 ปี สม เด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จักตรัสมงคลนี้ให้รู้ นี่ เป็นการบอกล่วงหน้า ให้มนุษย์และเทวดาทั้งหลายได้รู้กัน ครั้นเมื่อเวลา ผ่านไปแล้ว ถึง 12 ปี พวดเทวดาในชั้นดาวดึงส์ จึงได้ประชุมพร้อมกัน และนำความไปกราบทูลท้าวสักกะว่า ปัญหาปรารภถึงมงคล เกิดขึ้นแล้ว

พวกหนึ่งเห็นว่า รูป ที่เห็น เป็นมงคล

พวกหนึ่งเห็นว่า เสียง ที่ฟังแล้ว เป็นมงคล

พวกหนึ่งเห็นว่า อารมณ์ ที่ทราบแล้ว เป็นมงคล

ซึ่งพวดเทวดาก็ต่างตกลงกันไม่ได้ เหมือนกันว่า อะไรนั้น เป็นมงคลกันแน่ จึงขอให้ท้าวสักกะ เป็นผู้ชี้ขาด ในเรื่องนี้ ท้าวสักกะเมื่อทราบข้อเท็จจริง จากเทวดาดั่งนั้น

จึงได้ย้อนถามว่า เสียงมงคลนี้ ทีแรกเกิดขึ้นที่ไหน เทวดาจึงได้ทูลว่า พวกเทวดาในมนุษย์ ท้าว- สักกะจึงได้ถามต่อไปว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ไหน เทวดาจึงตอบว่าอยู่ในโลกมนุษย์ เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว ท้าวสักกะ จึงมีความเห็นว่า จะต้องนำเอา ปัญหานี้ ในเรื่องมงคลนี้ ไปกราบทูลถามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธ เจ้า ณ พระเชตวันมหาวิหาร ซึ่งเมื่อเทวดาได้มาประชุมพร้อมกัน กราบทูลสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ตรัสมงคลสูตร ซึ่งเป็นสิริมงคลในพุทธศาสนา ดังที่ผมจะเล่าให้ฟังต่อไป และก่อนที่จะเล่าในเรื่องนี้ ผมคิดว่า พวกเราบางคน คงจะติดมงคลทั้ง 3 มาไม่ใช่น้อย เพราะว่า ข้อเท็จจริง นั้น พวกเรายังถือกันมาถึงทุกวันนี้ โดยลืมนึกถึงว่า เรานับถือพุทธศาสนา ก็ควรจะใช้สิริมงคลในพระพุทธศาสนา จึงจะถูก แต่เรื่องนี้ แล้วแต่ ความพอใจ ของพวกเราแต่ละคนว่า มีความคิดเห็นเป็นอย่างไร เราจะคิดเห็น เราจะมีความเห็นตามปุถุชนซึ่งเขา ได้กำหนดมงคลขึ้น คือ ทางสี ทางเสียง และอารมณ์ หรือไม่ ก็แล้วแต่ และสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสมงคลข้อแรก ซึ่งเราคงจะได้ยินอยู่เสมอว่า มงคลในพุทธศาสนานั้น เรียกว่า มงคลสูตร หรือมงคล 38

มงคลข้อแรก ก็ได้แก่ อะเสวะนา จะ พาลานัง คือ การไม่คบคนพาล คำว่า "การไม่คบคนพาล" ในที่นี้ เราควรจะได้เข้าใจว่า ความหมาย ของคำว่า "ไม่คบ" นั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หมายถึง

ความไม่มีคนพาลนั้นเป็นเพื่อน 1 ละ

ประการที่ 2 คือ การไม่เข้าพวกด้วยคนพาลนั้นด้วย

นี่ เป็นความหมายของ การไม่คบ ส่วนว่า คนพาล นั้นมีเป็นประการใด เราจะตัดสินได้อย่างไร เรื่องนี้ สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้กำหนดลักษณะไว้ ดังนี้ คนพาล นั้น

1 คิดแต่ความชั่ว ด้วยอำนาจ อภิชฌา พยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ หมายความว่า จิตใจของเขานั้น มีแต่ความชั่วเข้ามาอบรมอยู่เป็นนิจ

ประการที่ 2 พูดแต่ในสิ่งชั่ว คำว่า "พูดแต่ในสิ่งชั่ว" นี้ ถ้าพวกเรายังไม่ลืมก็หมายถึง วจีกรรม 4 ได้แก่

มุสา 1

การพูดส่อเสียด 1

การพูดเพ้อเจ้อ 1

การพูดคำหยาบ 1

และ ประการที่ 3 ลักษณะที่ 3 ก็ทำแต่ความชั่ว นั่น หมายถึง กายกรรม 3 ได้แก่

ปาณา คือการเบียดเบียน การฆ่าสัตว์ 1

การลักทรัพย์ 1 และ

การผิดประเวณี อีก 1

นี่ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสไว้ บุคคลลักษณะอย่างนี้ คือ เป็นผู้ล่วงอกุศลกรรมบถ 10 นั่นเอง เป็นลักษณะของคนพาล ไม่ควรคบด้วย

สิริมงคลตัวที่ 2 พระองค์ได้ตรัสว่า สมาคมกับบัณฑิต คำว่า "สมาคม" นี้ หมายถึง ความเป็น เพื่อน หรือ พวกพ้อง และหมายถึง การเสวนา คือ การสนทนา วิสาสะ ไต่ถาม ปรึกษาหารือ นี่ กับบัณฑิต นี่ตัวนี้ เรียกว่าเสวนา และพระองค์ยังตรัสถึง ลักษณะของบัณฑิตต่อไปว่า เป็นผู้ดำเนินไปในทางที่เป็น ประโยชน์ ทั้งในปัจจุบันชาติ และอนาคตชาติ นั่นคือ เป็นผู้ที่มี ความคิดดี พูดดี และทำดี หมายถึง ผู้ที่ ไม่ล่วงอกุศลกรรมบถ 10 และยังมีคุณสมบัติ แห่งความเป็นบัณฑิตอีก นี่ เป็นมงคลข้อที่ 2

ส่วนมงคล ข้อที่ 3 นั้น มีอยู่ว่า บูชาคนที่ควรบูชา คำว่า "บูชา" ในที่นี้ หมายถึง การทำสักการะ การเคารพนบนอบ การกราบไหว้ นี่เป็นความหมายของคำว่า "บูชา" ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ อามิสบูชา กับปฏิบัติบูชา

ส่วนบุคคลที่ควรบูชานั้น พระองค์ได้ตรัสไว้ เป็นบุคคลประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ

1 พระพุทธเจ้า

2 พระปัจเจกโพธิพุทธเจ้า

3 พระอริยสาวก

ชื่อว่า เป็นปูชนียบุคคล นี่ เมื่อเราได้ทราบ มงคลข้อที่ 3 คือ การบูชาบุคคลที่ควรบูชาแล้ว

ต่อไปมงคลข้อที่ 4 นั่นคือ การอยู่ในปฏิรูปเทศ คือหมายความ อยู่ในประเทศอันสมควร คำว่า "ประเทศอันสมควร" นี้ หมายถึง

ที่แห่งนั้น มีบริษัท 4 อยู่แพร่หลาย คำว่า "บริษัท 4" นี้ หมายถึง

ภิกษุ 1

ภิกษุณี 1

อุบาสก 1

อุบาสิกา 1

และ 2 สามารถสร้างกุศลธรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นกามาวจรกุศล รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล หรือ โลกุตตรกุศล

สถานที่เช่นนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียกว่าปฏิรูปเทศ อันเป็นประเทศอันสมควร นี่ เป็น มงคลอีกตัวหนึ่ง

มงคลตัวที่ 5 พระองค์ตรัสว่า มีบุญวาสนา คำว่า "มีบุญวาสนา" นี่ผมว่า ทุกคนนี่ อยากมีบุญ วาสนาทุกคน แต่ถ้าเราไปค้นคว้า ในเรื่องนี้ ให้จะแจ้งแล้ว ผู้ที่มีบุญวาสนา ก็คือ ผู้ที่สั่งสมกุศลผลบุญมา ตั้งแต่อดีตชาติ นั่นเองแหละ ไม่ใช่ว่าเขามาเอามาจากไหนเลย ฉะนั้นพวกเรานี้ ที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ ผมถือว่า เรากำลังสร้างมงคลชีวิตให้เกิดขึ้น แต่เราสร้างโดยไม่รู้ตัว

มงคลข้อที่ 6 พระองค์ตรัสว่า ตั้งตนไว้ชอบ คำว่า "ตั้งตนไว้ชอบ" ในที่นี้นี่ ผมว่า ถ้าผมไม่พูด แล้ว อาจจะมี พวกเรานี่ เข้าใจผิด เข้าใจเขว คำว่า "ตั้งตนไว้ชอบ" นั้น หมายถึง

ผู้ที่ไม่มีศีล แต่ได้กระทำตน ให้กลายเป็นผู้มีศีล เห็นไหม มีไหม อย่างนี้

ประการที่ 2 ผู้ที่ยังไม่มีศรัทธา กระทำตนของตนเอง ให้เป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยศรัทธา

3 ผู้ที่มีความตระหนี่ หรือมัจฉริยะ กระทำตน ให้ถึงพร้อมด้วยการบริจาค

นี่ สิ่งเหล่านี้แหละ เรียกว่า เป็นผู้ที่ตั้งตนไว้ชอบ ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆนะครับ

ทีนี้ มงคลข้อที่ 7 พระองค์ตรัสว่า พหูสัจจะ นั้นเป็นมงคล คือได้แก่ การคงแก่เรียน การคงแก่ เรียนนี้ ก็คือ ความเป็นผู้ฉลาดในกิจนั้นๆ อันเกิดขึ้น จากการเรียนก็ดี จากการฟังก็ดี จากการจดจำก็ดี ซึ่งมีได้ทั้ง 2 ประเภท คือ ในทางโลก ก็ได้แก่ ผู้ที่ฉลาด ในทางศิลปะ วิทยาการ หรือเทคนิคต่างๆนั้น นี่เป็นไปในทางโลก พหูสัจจะในทางโลก

ทีนี้ พหูสัจจะ ในทางธรรมนั้น ก็ได้แก่การฟัง การจดจำ และความเข้าใจ ในคำสอน ขององค์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่สั่งสอนเรานั้น ถ้าเราฟังหูซ้าย ออกหูขวา อย่างนี้ ก็ไม่เรียกว่า พหูสัจจะ

มงคลข้อที่ 8 พระองค์ตรัสว่า มีศิลปะ เป็นมงคล คำว่า "ศิลป" ในที่นี้หมายความถึง การเป็น ผู้ฉลาดในหัตถกรรม ด้วยความสามารถแห่งศิลปนั้น ทั้งของคฤหัสและบรรพชิต ศิลปของบรรพชิตนั้น ก็คง จะไม่กว้างขวาง เหมือนศิลปของคฤหัส เพราะบรรพชิตนั้น มีแต่เพียงปัจจัย 4 การเย็บจีวรก็ดี ทำด้วยตัว ของตัวเอง นี่ ก็เรียกว่า เป็นศิลปะ

ประการที่ 9 มงคลประการที่ 9 ท่านตรัสว่า เป็นผู้มีวินัยดี คำว่า "มีวินัยดี" นั้น การประพฤติ ปฏิบัติโดยชอบ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท

ประเภทคฤหัส ก็ได้แก่ การประพฤติปฏิบัติโดยชอบ ด้วยกฏหมาย ระเบียบ แบบแผน ขนบ ประเพณี วัฒนธรรม ของชนหมู่นั้น

ถ้าเป็นบรรพชิต ก็หมายถึง ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติชอบ โดยไม่ต้องอาบัติ ทั้ง 7 กอง

นี่เป็นผู้มีวินัยดี

มงคลข้อที่ 10 เรียกว่า เป็นผู้มีวาจาภาษิต คำว่า "วาจาภาษิต" ในที่นี้ หมายถึง วาจา ซึ่ง ประกอบด้วยองค์ 5 ที่เรียกว่า วาจาภาษิต คือ

1 พูดตามกาละ

2 พูดแต่วาจาสัจจริง

3 พูดด้วยความอ่อนหวาน

4 พูดวาจาที่ประกอบไปด้วยประโยชน์

ประการที่ 5 การพูดนั้น พูดด้วยเมตตาจิต ไม่ใช่เล่ห์เลี่ยมอะไรทั้งหมด จึงจะเรียกว่า เป็นวาจาภาษิต คำพูดใดๆ ประกอบด้วยองค์ 5 แล้ว เรียกว่า วาจาภาษิต อันเป็นมงคลในพระพุทธศาสนา

มงคลข้อที่ 11 ได้แก่ การบำรุงบิดามารดา เหตุทั้งนี้เพราะว่า

บิดามารดานั้น เป็นผู้มีอุปการคุณ 1 ละ

2 บิดามารดานั้น เป็นพรหมของบุตร

3 บิดามารดานั้น เป็นบุรพเทพของบุตร หมายความว่า เทพองค์แรก

4 บิดามารดานั้น เป็นบุรพาจารย์ของบุตร หมายความว่า เป็นครูอาจารย์คนแรกทีเดียว

ประการที่ 5 บิดามารดานั้น เป็นอาหุเนยยบุคคลของบุตร คือเป็นผู้ที่บุตรควรจะเคารพ นี่ เป็นมงคลข้อที่ 11

มงคลข้อที่ 12 ได้แก่ การเลี้ยงบุตร การเลี้ยงบุตรนั้น อย่าเข้าใจว่า สมัยโบราณเหมือนสมัยนี้ ไม่ใช่เลี้ยงโตกันด้วยอาหาร แล้วปล่อยให้เป็นมหาโจร ความหมายของ การเลี้ยงบุตร ที่เป็นมงคลนี้ หมายถึง

1 ห้ามมิให้กระทำความชั่ว

2 สั่งสอนให้บุตรตั้งอยู่ในความดี

3 ให้บุตรได้ศึกษาศิลปวิทยา

4 จัดเรื่องคู่ครองให้เขา เป็นไปตามประเพณื

5 มอบทรัพย์สมบัติให้ เมื่อถึงกาลอันควร

เมื่อเรารู้แล้วว่า การเลี้ยงดูบุตร มีความหมายอย่างนี้ เราก็ควรจะได้ รู้จักประเภทของบุตรนั้น ในทางพุทธศาสนา จัดประเภทของบุตรนั้นเป็น 3 ประเภท คือ

1 อภิชาตบุตร หมายความถึง บุตรที่ดีกว่าบิดา หรือมารดา

2 อนุชาตบุตร หมายถึง บุตรที่เสมอด้วยบิดา และมารดา

3 อวชาตบุตร หมายถึง บุตรที่ต่ำกว่าบิดา และมารดา ซึ่งเราจะเห็นพวกวัยรุ่นสมัยนี้ ส่วนมากเป็นอวชาตบุตรทั้งสิ้น

มงคลข้อที่ 13 ได้แก่ การเลี้ยงดูภรรยา การเลี้ยงดูนั้น หมายถึง

การให้ความนับถือ

ไม่ดูหมิ่นดูแคลน

ไม่ปฏิบัติล่วงเกิน

มอบความเป็นใหญ่ให้ และ

ให้เครื่องประดับ ตามควรแก่ฐานะ

นี่ เป็นความหมายของมงคลข้อที่ 13

มงคลข้อที่ 14 ท่านตรัสว่า การงานไม่อากูล คำว่า "การงาน" ในที่นี้ ถ้าจะพูดกันตามความหมายคลุม ทั่วๆไป ก็หมายถึงอุบายเครื่องยังชีวิต ซึ่งได่แก่ การกสิกรรม การอุสาหกรรม การพานิชกรรม มากมายหลายประการ ในชีวิตของเรานี่ แต่สำหรับภิกษุนั้นไม่เหมือนอย่างเรา เพราะภิกษุนั้นมีบาตรเป็นอาชีพ เรียกว่า สัมมาอาชีวะ ได้แก่ การบิณบาตเลี้ยงชีวิต ไม่ใช่เป็นหมอดู หมอรดน้ำมนต์ เสกเป่า แล้วก็ให้เขามาถวาย ไม่ใช่ อันนี้ ไม่ใช่สัมมาอาชีวะ ทีนี้คำว่า " ไม่อากูล " นั้น หมายถึงว่า ไม่คั่งค้าง เพราะเหตุแห่งความขยันหมั่นเพียรของบุคคลนั้น การงานที่เป็นยังอาชีพนั้นจึงไม่คั่งค้าง เช่นนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เป็นมงคลชีวิตตัวหนึ่ง

ทีนี้ มงคล ข้อที่ 15 พระองค์ตรัสว่า ได้แก่ การบำเพ็ญทาน การบำเพ็ญทานนั้น หมายถึง การบริจาค เพื่อทำลายมัจฉริยะ หรือ ความตระหนี่ ของทายก หรือ ผู้ให้ และจะต้องมี องค์ทาน ที่สำคัญ 2 ประการนั่นคือ

1 ทายก หรือผู้บริจาค และ

ปฏิคาหก หรือผู้รับ

สำหรับทายกนั้น ต้องมีเจตนาด้วยจิตเป็นมหากุศล

ส่วนปฏิคาหกนั้น ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ คือ

1 ปราศจากราคะ หรือผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ

ปราศจากโทสะ หรือผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ

ปราศจากโมหะ หรือผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะ

คำว่า " ปราศจาก " ในที่นี้ หมายถึง อริยบุคคล ส่วน " ผู้ปฏิบัติเพื่อความกำจัด " นั้นหมายถึง ผู้ประพฤติธรรมปฏิบัติธรรม อันสมควรแก่ธรรม ในพระพุทธศาสนา

ต่อไป มงคลตัวที่ 16 ซึ่งเรียกว่า ประพฤติธรรม การประพฤติธรรม นี่ หมายถึง มีธรรมจรรยา หรือการกระทำตามธรรม ซึ่งได้แก่ การสร้างกุศลกรรม ในขอบเขตของพระพุทธศาสนา คือ

1 ไม่ล่วงอกุศลกรรมบถ 10 ได้แก่ กายกรรม 3 , วจีกรรม 4 , มโนกรรม 3

2 มีกุศลกรรมบถ 10

3 ประกอบกามาวจรกุศล อันได้แก่ บุญกิริยาวัตถุ 10 ซึ่งพวกเราทุกคน ก็ได้รู้กันอยู่แล้ว คือได้แก่

ทาน

ศีล

ภาวนา

การประพฤติถ่อมตนต่อผู้ใหญ่

ช่วยเหลือในกิจที่ชอบ

ให้ส่วนบุญ

อนุโมทนาบุญ

การฟังธรรม

การแสดงธรรม

การทำความเห็นให้ตรง

นี่ เป็นเรื่องของบุญกิริยาวัตถุ 10

ส่วนรูปาวจรกุศลนั้น ก็ได้แก่ รูปฌาน 5 นั่น หมายถึง การทำสมาธินั่นเอง

และอรูปาวจรกุศล ก็ได้แก่ อรูปฌาน 4

และโลกุตตรกุศล ก็คือ วิปัสสนาปัญญา นั่นเอง

นี่ เป็นการประพฤติธรรม ตามความหมายของ มงคลข้อที่ 16

มงคลข้อที่ 17 ก็คือ ได้แก่ การสงเคราะห์ญาติ คำว่า " ญาติ " ในที่นี้ ตามพระสูตร ได้แบ่งออกเป็น 7 ขั้นตอน 7 ขั้นตอนนั้น หมายความว่า เราอยู่กึ่งกลาง นับข้างบนไป 3 นับข้างล่างไป 3 ก็ได้แก่ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายายและชวด ส่วนขั้นต่ำก็ได้แก่ ลูก หลาน เหลน นี่ เรียกว่า ความเป็นญาติ ส่วนการสงเคราะห์นั้น ก็แล้วแต่ฐานะที่เราพึงจะให้ ความสงเคราะห์ได้ โดยไม่เบียดเบียนตนเอง หรือผู้อื่น

และมงคลข้อที่ 18 ได้แก่ การทำกรรมโดยหาโทษมิได้ พอพูดมาที่นี้พวกเราทุกคน ก็อาจจะไม่เข้าใจ แต่ความจริงนั้นพวกเราทุกคน ได้กระทำกันอยู่แล้ว หมายถึง การกระทำที่ไม่ใช่ในทางชั่ว แต่เป็นในทางที่มีคุณ เช่น การสมาทานศีล การขวนขวาย ในการทำบุญต่างๆ การปลูกต้นหมากรากไม้ ในอาราม ซึ่งเมื่อถึงวันเข้าพรรษา ซึ่งเขาของแรงให้ปลูก หรือการสร้างสะพานอันเป็นสาธารณะ เช่นนี้ ถือว่าเป็นกรรมอันหาโทษมิได้ คือหมายความว่า ทำแล้วเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง หรือสังคมนั่นเอง

มงคลข้อที่ 19 ได้แก่ การเว้นจากการทำบาป ซึ่งพวกเราทุกคนก็ได้มีมงคลข้อนี้อยู่แล้ว นั่นคือ การไม่ล่วงอกุศลกรรมบถ 10 นั่นเอง

มงคลข้อที่ 20 ได้แก่ สำรวมจากการดื่มน้ำเมา ในที่นี้ หมายถึง การไม่เสพน้ำเมา หรือสิ่งอื่น ที่จะทำให้เผลอสติ โดยการงดเว้น ที่เราเรียกว่าวิรัติ นั้นเสีย ทีนี้มาพูดถึงวิรัติ หรือการงดเว้นนั้น มีอยู่ 3 ขั้นตอนด้วยกัน

ขั้นที่ 1 เรียกว่า สัมปัตตวิรัติ หมายถึง การงดเว้นของชนทั้งหลาย ซึ่งมิได้สมาทานสิกขา อย่างพวกเรานี่ ไม่ได้สมาทานศีลหรอก แต่เรางดเว้นได้ แต่ได้ พิจารณาถึงฐานะของตน พิจารณาถึงชาติของตน พิจารณาถึงวัยของตน และด้วยการฟังมาก จึงเว้นได้ โดยคิดว่า การทำเช่นนั้น ไม่เป็นการสมควรแก่เรา อันนี้ เรียกว่า สัมปัตตวิรัติ

งดเว้นประการที่ 2 เรียกว่า สมาทานวิรัติ คือได้แก่ การงดเว้นของผู้ที่สมาทานสิกขาแล้ว ย่อมลสะแล้วแม้แต่ชีวิตของตน เพื่อการงดเว้นอันนั้น ในเวลามี่สมาทานและเวลาอื่นๆ ที่จะไม่ก้าวล่วงวัตถุที่ตนสมาทาน อันนี้เราจะเห็นกันอย่างง่ายๆ ก็คือ ภิกษุ และชี หรือผู้ที่สมาทานศีล ถ้าใครเขาสมาทานศีลแล้ว ล่วง เราถือว่า เป็น ไม่มีสมาทานวิรัติ

วิรัติ หรือการงดเว้น ประการที่ 3 เรียกว่า สมุจเฉทวิรัติ หมายความว่า การงดเว้นเด็ดขาด ของพระอริยบุคคล นี่ เป็นการสำรวมจากการดื่มน้ำเมานี่ ต้องวิรัติตัวนี้ ซึ่งเป็นมงคลที่ ข้อที่ 20

มงคลข้อที่ 21 ก็คือ ความไม่ประมาท เหตุที่ว่าความไม่ประมาทเป็นมงคลนั้น เพราะว่าความเป็นผู้มีสตินั้น อยู่เสมอนั้น สามารถจะควบคุมจิตของตนได้ ไม่ปล่อยจิต ไม่ส่งเสริมจิต ให้ก้าวล่วงไปใน

กายทุจริต 3

วจีทุจริต 4

มโนทุจริต 3

ในกามคุณ 5

มงคลข้อที่ 22 คือ การมีสัมมาคารวะ การมีสัมมาคารวะ ในที่นี้หมายถึง มีความเคารพอยู่สม่ำเสมอ ไม่ย่อหย่อน แก่บุคคลผู้สมควรจะเคารพสม่ำเสมอนะ ไม่ใช่หนเดียว แล้วก็เลิกกัน หรือวันนี้เจอหน้ากัน ก็เคารพกัน เมื่อต้องการประโยชน์ พอหมดประโยชน์แล้ว ก็ไม่มีเคารพกัน อันนี้ ไม่สม่ำเสมอ บุคคลที่สมควรจะทำความเคารพ นั่นได้แก่อะไร

1. สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

2. พระปัจเจกโพธิพุทธเจ้า

3. พระอริยสาวก

4. อุปัชฌาย์

5. ครูและอาจารย์

6. บิดามารดา

7. ญาติผู้สูงอายุ

นี่ เป็นบุคคลที่ควรเคารพ

มงคลข้อที่ 23 คือ การประพฤติถ่อมตน ความเป็นผู้มีใจอ่อนน้อมซึ่งจะทำให้ขจัดมานะ คือ ความกระด้าง เสียได้ นี่ถือว่าเป็นมงคล

มงคลข้อที่ 24 คือ ความสันโดษ หมายถึง ความยินดี ความพอใสใจในสิ่งที่มีอยู่ หรือทำได้ ตามความรู้ ความสามารถของตน โดยไม่ขัดต่อศีลธรรมและขนบประเพณี อันได้แก่ ปัจจัย 4 ที่เราได้มาอยู่นั่นเอง

มงคลข้อที่ 25 ได้แก่ ความกตัญญู หมายถึง ความเป็นผู้รู้อุปการคุณ ไม่ว่า ผู้มีอุปการคุณนั้น จะมีมากมีน้อยประการใด ก็จะต้องมี ความคิดถึงคุณ เขาอยู่บ่อยๆ เสมอ ไม่ใช่ลืมเสีย

มงคลข้อที่ 26 ได้แก่ การฟังธรรมตามควร คำว่า " การฟังธรรมตามควร " เป็นมงคลนี้ เมื่อเรามีจิตเกิดความฟุ้งซ่าน หรือคิดไปในทางอกุศล อันมี กามวิตก โทสวิตก โมหวิตก เขาก็เข้าไปฟังธรรม เพื่อจะบรรเทาอกุศลเหล่านั้น ดังนี้ เรียกว่า ฟังธรรมตามกาละ

มงคลข้อที่ 27 ได้แก่ ความอดทน ความอดทนนี้ หมายถึง ความอดกลั้นใดๆ ในสิ่งที่ชั่ว ไม่ให้ล่วงอกุศลกรรมบถ 10 โดยเฉพาะได้แก่ การที่อกุศลวิบากเกิดขึ้น เรามีความอดทน ที่จะไม่แปลงอกุศลวิบากนั้น ให้เป็นอกุศลกรรม

มงคลข้อที่ 28 ได้แก่ ความเป็นผู้ว่าง่าย หมายถึง เมื่อมีผู้ว่ากล่าวโดยชอบธรรม ด้วยเหตุด้วยผล ตนเองก็ยอมรับฟัง ยอมรับผิดด้วยดี ไม่กลบเกลื่อน ไม่แก้ตัว ไม่นิ่งเฉย แต่เขากลับคิดถึง คุณและโทษ การกระทำอันเอื้อเฟื้อ สนับสนุน และมีความเคารพและถ่อมตน เพื่อรับเอา ในความคิดเห็นอันนั้น ๆ นี่ เรียกว่า ความเป็นผู้ว่าง่าย

ข้อที่ 29 การเห็นสมณะ หมายถึง เป็นมงคลอีกตัวหนึ่ง ซึ่งหมายถึง การเข้าไปหาสมณะ การบำรุงสมณะให้สมบูรณ์ การระลึกถึง และการได้ยิน หรือการได้เห็น บรรพชิต ผู้มีกิเลสอันสงบแล้ว ซึ่งหมายถึง อริยสงฆ์ นั่นเอง
ข้อที่ 2 หมายถึง ผู้ที่มีกาย วาจา ใจ และปัญญาอันอบรมแล้วให้มีความสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป
นี่ เราจะเห็นได้ว่า สิ่งเหล่านี้ เป็นมงคล

ที่นี้มาถึง มงคลข้อที่ 30 ได้แก่ การสนทนาธรรม หมายถึง การพูด การคุย การไต่ถาม ตามควร แก่ผู้ที่สมควร ซึ่งเกี่ยวกับ พระสูตร พระธรรม และพระวินัย

มงลคข้อที่ 31 คือ การบำเพ็ญตบะ หมายถึง ประพฤติธรรมปฏิบัติธรรม เพื่อเผาผลาญ และทำลาย ธรรมทั้งหลายอันลามก ให้ลดน้อยถอยลง

มงคลข้อที่ 32 ได้แก่ การประพฤติพรหมจรรย์ คือหมายถึง การประพฤติปฏิบัติ พรหมจรรย์ 10 ได้แก่
1 ความสามารถแห่งทาน
2 ความสามารถแห่งเวยยาวัจจนะ คือ การขวนขวาย
3 ความสามารถในเบญจศีล
4 ความสามารถในอัปปมัญญา คือหมายความว่า ปราศจากความกำหนัด
5 ความสามารถในเมถุนวิรัติ หมายถึง เว้นจากกาม
6 สทารสันโดษ คือ ความพอใจในเฉพาะภรรยาตน
7 วิริยะ หมายถึง ความเพียร 4
8 ความสามารถในองค์อุโบสถ หมายถึง รักษาศีล 8 ให้บริสุทธิ์
9 หมายถึง ความสามารถในอริยมรรค 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
10 หมายถึง ความสามารถในศาสนา คือ คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
นั่นคือ การประพฤติธรรม หรือการประพฤติพรหมจรรย์ 10

มงคลที่ 33 คือ การเห็นอริยสัจ หมายถึง การเห็นความเป็นอริยสัจ 4 ซึ่งมี
ทุกขอริยัสจ
สมุทัยอริยสัจจะ
นิโรธอริยสัจจะ และ
มรรคอริยสัจจะ
ซึ่งได้แก่ การเจริญวิปัสสนา ถึงญาณที่ 12 แห่งวิปัสสนาญาณ ซึ่งเรียกกันว่า อนุโลมญาณ หรือสัจจนุโลมิกญาณ การเห็นอริยสัจนี่ เป็นมงคลข้อที่ 33

สำหรับมงคลข้อที่ 34 ได้แก่ การกระทำพระนิพพานให้แจ้ง คำว่า " การทำพระนิพพานให้แจ้ง " นี้ หมายถึง ปัญญารู้แจ้ง ซึ่งนิพพาน อันเป็นตัดออกจากโคตรบุถุชน แล้วก้าวเข้าไปสู่โคตรอริยชน ซึ่งได้แก่ วิปัสสนาญาณ ที่ 13 ซึ่งเรียกกันว่า โคตรภูญาณ ญาณนี่แหละ เป็นการที่ จิตใจของผู้ประพฤติปฏิบัติล่วงพ้น จากความเป็นบุถุชน เข้าสู่แดนอริยชน ในญาณนี้

มงคลข้อที่ 35 ได้แก่ จิตอันโลกธรรม 8 ไม่ทำให้หวั่นไหว หมายถึง จิตที่พ้นจากอำนาจของโลกธรรม 8 ซึ่งได้แก่
การมีลาภ และ เสื่อมลาภ
การมียศ และ เสื่อมยศ
การสรรเสริญ และ นินทา
มีสุข และ มีทุกข์
ซึ่งโลกธรรม 8 นี้ ไม่ว่าจะอยู่ในระดับไหน คนทุกคน จะไม่พ้น โลกธรรม 8
ไปได้ ผู้ที่มี " จิตอันโลกธรรม 8 ไม่ทำให้หวั่นไหวได้ " นั้น เป็นมงคลที่ 35 ซึ่งหมายถึง การตัดขาดจากกิเลส เป็นสมุจเฉทปหาน ซึ่งได้แก่วิปัสนาญาณที่ 14 ซึ่งเรียกกันว่า มัคคญาณ

มงคลที่ 36 เรียกว่า จิตไม่เศร้าหมอง คำว่า " จิตไม่เศร้าหมอง " นี้หมายถึง จิตที่พ้นจากความโศก จิตที่พ้นจากความเศร้า จิตที่พ้นจากความแห้งใจ จิตที่พ้นจากความแห้งผากภายใน ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีจิตเข้าสู่อริยบุคคลขั้นต้น ซึ่งเรียกกันว่า โสดา

มงคลข้อที่ 37 ได้แก่ จิตที่ไม่กำหนัด หมายถึง จิตที่ปราศจาก กามราคสังโยชน์ กามราคสังโยชน์นี้ ได้แก่ ผู้ที่เข้าถึงอริยชน ในขั้นอนาคามิมรรคจึงจะตัดกามสังโยชน์ตัวนี้ออกไปได้

มงคลข้อ ที่ 38 อันเป็นข้อสุดท้าย ได้แก่ จิตเกษม ซึ่งหมายถึง จิตหลุดพ้น ผู้ที่มีจิตหลุดพ้นนี้ หมายถึง จิตพ้นจากโยคะ 4 โยคะ 4 นั้นหมายถึง กามโยคะ ภวโยคะ ทิฏฐิโยคะ และอวิชชาโยคะ ผู้ที่พ้นจากโยคะ 4 นั้น ก็ได้แก่ ผู้ที่ได้อรหัตตมรรคนั่นเอง

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ เราจะเห็นได้ว่า มงคลในพุทธศาสนานั้น ความเป็นสิริมงคลทั้งหลาย มีเกิดขึ้นได้ดังนี้ คือ
1 ขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติของตนเอง ถ้าเราประพฤติปฏิบัติในขั้นต้น ๆ เราก็ได้แต่ขั้น ความเป็นสิริมงคลในขั้นหยาบ ๆ
แต่เมื่อมีการประพฤติปฏิบัติ ให้สูงยิ่งขึ้น ความเป็นสิริมงคลนั้น ก็มีความหนาแน่นยิ่งขึ้น
การประพฤติปฏิบัติในธรรมของพระพุทธศาสนา เท่านั้น จึงจะถือได้ว่า เป็นมงคล และสิริ อันเกิดขึ้นแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติ ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จากมงคลสูตรนี้ เราจะเห็นได้ว่า ความเป็นสิริมงคลนั้น ไม่ใช่อยู่ที่การอวยชัยให้พร หรือการให้ศีลให้พร ดังที่ทุก ๆ คนส่วนใหญ่เข้าใจในอยู่บัดนี้ แม้แต่สงฆ์บางองค์ที่ยังถือความเป็นมงคลข้างต้น ซึ่งได้แก่ การเห็นรูปเป็นมงคล การได้ยินเสียงเป็นมงคล การมีอารมณ์กระทบเป็นมงคล เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งเป็นมงคลนอกพระพุทธศาสนา ทั้งนี้มงคลเหล่านั้น เป็นเรื่องที่เกิดก่อนมงคลสูตร หรือมงคลชีวิต 38 ดังกล่าวมาแล้ว
ความเป็นสิริมงคล ในพระพุทธศาสนานั้น
เริ่มจาก ชีวิตปุถุชนทั่วๆไป ในขั้นต้น ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า กล่าวไว้ ไม่ให้คบคนพาล
ขั้นต่อไป ก็ให้ คบแต่บัณฑิต ซึ่งเป็นชีวิต ข้อประพฤติ ข้อปฏิบัติของปุถุชนทั่วไปประจำวัน
จนถึงชีวิตขั้นสูงสุด คือ การประพฤติปฏิบัติ ของอริยชน ขั้นสูงสุด คือ การหลุดพ้นจากวัฏฏะ

ตามที่ได้กล่าวมานี้ หวังว่า พวกเราทุกคน ที่นับถือพระพุทธศาสนา คงจะเข้าใจความหมายของ การเป็นสิริมงคลในพุทธศาสนา ได้ดี ซึ่งน้อยคนนักที่จะเข้าใจตามนี้ เพราะต่างก็ยัง ยึดมั่น ถือมั่น อยู่กับการอวยชัยให้พร และวัตถุมงคลต่างๆ เพราะเหตุนี้แหละ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ตรัสพุทธภาษิต ไว้ว่า ทุลละภัง ทัสสะนัง โหติ สัมพุทธานัง อะภิณหะโส การเห็นพระพุทธเจ้าเนือง ๆ เป็นการหาได้ยาก นั่น การที่เราจะนำเอาสิริมงคลในพุทธศาสนา มาประกอบเข้ากับตัวเรานั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่ขอให้พวกเราทุกคน ได้ตระหนักไว้ว่า สิ่งใดที่ทำได้ยาก สร้างได้ยากนั้น เป็นของมีค่าที่สุดในชีวิต