เรื่องทำความรู้จักกับรูปธรรม ตอนที่ ๑
โยคา เว ชายตี ภูริ
ปัญญาย่อมเกิดเพราะความประกอบ
อโยคา ภูริสงฺขโย
ความสิ้นปัญญาย่อมเกิดเพราะความไม่ประกอบ
พุทธภาษิตดังกล่าวข้างต้นเราจะแลเห็นได้ว่า
ความรู้ทั้งหลายเกี่ยวกับธรรมะซึ่งจะทำให้เกิดปัญญานั้น ผู้ประพฤติ ปฏิบัติจะต้องประกอบขึ้นด้วยตนของตนเอง
นั่นคือการประพฤติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ผู้ที่มิได้ประพฤติธรรมให้สมควรแก่ ธรรมแล้ว
ปัญญาจะเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้นพวกเราทุกคนควรทำความเข้าใจว่าธรรมะทั้งหลายนั้นขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติ
อันถูกต้อง ไม่ใช่เรื่องของศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ที่จะดลบันดาลให้ ในวันนี้เราจะได้เริ่มพูดถึงเรื่องความจริงบางประการ
คือเรื่อง รูปปรมัตถ์ ทั้งนี้ เพราะเนื่องจากว่าเราได้ปลูกสติเพื่อให้มีการระลึกรู้เป็นเวลานามาถึง
๕ อาทิตย์แล้ว ก็ควรจะได้มีการระลึกรู้ กันบ้างก็ตามสมควร ผู้ใดที่ยังมีสติไม่ระลึกรู้นั้น
ก็ควรจะได้ พยายามปลุกปั่นให้มีสติเกิดขึ้นเพื่อใช้ในการประพฤติปฏิบัติ
ธรรมในขั้นต่อๆ ไป การที่มีสติระลึกรู้นั้นได้กล่าวมาแล้วว่า เราหาทางระลึกรู้ได้หลายอย่างหลายวิธีการ
เพื่อให้เป็นความ
ปกติในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปนั่งเข้าสมาธิ หลับตาอยู่อย่างนั้น
การที่เราได้พูดกันมาแล้วนั้นเรา
จะได้ทุกอริยบถไม่ว่าเราทำงานทำการ กินอาหาร เดินเล่น ยังไงๆ เราก็มีสติ ระลึกรู้ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมะขั้นสูง
ที่เราจะต้องรู้กันต่อไปนั้นก็คือเรื่องเกี่ยวกับปรมัตถธรรม ปรมัตถธรรมนั้น ความจริงมีทั้งหมด
๔ ตัวด้วยกันคือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ปรมัตถธรรมถ้าพูดกันตามความ หมายก็คือสิ่งที่เป็นเนื้อความไม่วิปริตแปรผัน
อันเป็นสิ่งที่เป็นไปเองตามธรรมดา
ตามธรรมชาตินั้นๆ ไม่มีการปรุงแต่งใดๆ เกิดขึ้น ซึ่งได้แก่ความเป็นจริง ๔ ประการตามที่ผมได้กล่าวแล้วคือ
จิต เจตสิก รูป
นิพพาน นั่นเอง จากคำจำกัดความดังกล่าว เราก็พอที่จะกำหนดลักษณะของปรมัตถธรรมออกได้ดังนี้คือ
๑. เป็นธรรมธาตุ คือเครื่องดำรงอยู่ของธรรมะ
๒. เป็นธรรมฐิติ คือเป็นเครื่องตั้งอยู่ของธรรมะ
๓. เป็นธรรมนิยาม คือเป็นเครื่องกำหนดหมายของธรรมะ
ถ้าพวกเราสนใจกันต่อไปแล้ว เราจะเห็นได้ว่า จิต เจตสิก รูป นิพพาน นี้มีลักษณะดังกล่าวข้างต้น
ซึ่งในวันนี้เราจะไม่ พูดรายละเอียดมากมายนัก เพราะว่าเจตนาสำคัญยิ่งก็คือ เราจะนำเอาปรมัตถธรรมบางตัวเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิต
ประจำวันของเรา เพราะว่าเราทุกคนนั้นก็ได้ทางสมถะกันมาแล้ว เพราะว่าสัมถกัมมัฏฐานนั้นเป็นเรื่องของบัญญัติธรรมทั้งสิ้น
ไม่ใช่ปรมัตถธรรม เมื่อเราสามารถสร้างบัญญัติธรรมจนมีความสงบเกิดขึ้นแล้ว เราก็หาความรู้กันต่อไปในเรื่องปรมัตถธรรม
ว่ามันมีอะไรกันบ้าง ก่อนที่เราจะพูดกันในเรื่องนี้ เราก็ได้ทำการฝึกสติกันมาแล้ว
๕ อาทิตย์ แต่ผลจะปรากฏอย่างไรไม่รู้ แล้วแต่แต่ละคนจะประพฤติปฏิบัติหรือจะมานั่งเล่นโก้ๆ
กันก็ตามใจ สำหรับผู้ที่อยากให้มันมีความเบาบางลง ก็เป็นหน้าที่ของ ท่านเองที่จะต้องประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม
เมื่อผมให้ความหมายของปรมัตถธรรมท่านอย่างคร่าวๆ ขัางต้น ไปแล้วว่า จิต เจตสิก
รูป นิพพานนั้น คือปรมัตถธรรม คือมีเพียง ๔ ตัวเท่านั้น ต่อไปนี้ผมอยากจะให้ท่านได้รู้จักคุณสมบัติของ
ปรมัตถธรรมทั้ง ๔ ตัวนั้น มันมีอะไรกันบ้าง ประการแรกปรมัตถธรรมทุกตัว ยกเว้นนิพพาน
คือจิต เจตสิก รูป เราขอให้
ศึกษากันมาเพียง ๓ ตัวนี้ก่อน เรื่องนิพพานนั้นยังไกลนัก ฉะนั้นจะไม่พูดถึง ลักษณะประการแรกก็คือ
คุณสมบัติประการแรก
เรียกว่า สามัญลักษณะ คือเป็นคุณสมบัติธรรมดาสามัญทั่วๆ ไปของปรมัตถธรรมทุกตัว
ไม่ว่าจิตก็ดี เจตสิกก็ดี รูปก็ดี ต่างก็มีคุณสมบัติกันอย่างนี้ทั้งสิ้น จิตนั้นหมายถึงสิ่งที่รับรู้อารมณ์
ส่วนเจตสิกนั้นคือเครื่องปรุงแต่ง ส่วนรูป นั้นคือรูปที่เรา
เห็นกันอยู่โดยทั่วๆ ไปในรูปปรมัตถ์ก็คือรูป ๒๘ นั่นเอง ซึ่งเราจะได้พูดกันต่อไปในภายหลัง
สามัญลักษณะนี้ เป็นคุณสมบัติ
ของปรมัตถธรรมทุกตัว ที่ผมพูดว่าทุกตัวนี้เฉพาะ ๓ ตัวเท่านั้นนะ อย่าไปเอานิพพานมาเกี่ยวข้องด้วย
๑. อนิจจลักษณะ คือสภาวะหรือลักษณะที่ไม่เที่ยง ไม่มั่นคง ไม่ยั่งยืนอยู่ได้ตลอดกาล
นี่เป็นคุณสมบัติของ
สามัญลักษณะ ตัวแรกของความเป็นปรมัตถธรรมทุกตัว
๒. ทุกขลักษณะ ได้แก่สภาวะหรือลักษณะที่ทนอยู่ไม่ได้ จำต้องแตกต้องดับ
เสื่อมสลายไปในที่สุด นี่เป็นลักษณะตัวที่ ๒ ของสามัญลักษณะ เรียกว่า ทุกขลักษณะ
๓. อนัตตลักษณะ อันได้แก่สภาวะหรือลักษณะที่ว่างเปล่า ไม่ใช่ตัวตน
บังคับบัญชาไม่ได้ หมายความว่าจะให้เป็นไป ตามใจชอบหาได้ไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิพพาน
มีลักษณะตัวนี้ตัวเดียวเท่านั้นคือ อนัตตลักษณะ
คือสภาวะหรือลักษณะที่ว่างเปล่า ไม่ใช่ตัวตน บังคบบัญชาไม่ได้ และจะให้เป็นไปตามใจชอบก็ไม่ได้
ฉะนั้นจงลืมเสีย นิพพานนั้นน่ะมันจะดีวิเศษอย่างไรก็ลืมเสีย เพราะว่าเรายังอยู่ห่างไกลกันมากนัก
เราเอาแต่ตัวต้นๆ คือจิต เจตสิก รูป ๓ ตัวเท่านี้ เรารู้แค่นี้ก็พอกินแล้วในฐานะที่เกิดมาในวัฏฏะนี้
ทั้ง ๓๑ ภูมิ และเจตนาที่จะพูดกันในวันนี้นั้น ก็จะพูดเฉพาะเรื่องรูปตัวเดียว
นอกจากสามัญลักษณะแล้ว ปรมัตถธรรมทั้งหลายไม่ว่า
จิตก็ดี เจตสิกก็ดี รูปก็ดี ยังมี วิเสสลักษณะ อีกประการหนึ่ง วิเสสลักษณะนี้หมายถึงลักษณะพิเศษที่มีประจำเฉพาะสิ่งนั้นๆ
ซึ่งไม่เหมือนกัน อยู่ ๔ ประการ ดังนี้คือ
๑. ลักษณะ หมายถึงคุณภาพ หรือเครื่องหมายแสดง หรือสภาพที่เป็นอยู่ประจำตัวของธรรมนั้นๆ
ตัวนี้เป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งที่พวกเราทุกคน ถ้าเราจะย่างเข้าไปเรียนธรรมะขั้นสูงแล้ว
เราจะต้องจำลักษณะของตัวนี้ให้ได้ ถ้าเราจำไม่ได้แล้ว ก็ไม่มี โอกาส เพราะบอกไว้แล้วว่า
ปัญญานั้นมันต้องมีพื้นฐาน ไม่ใช่ว่านอนอืดอยู่โดยไม่ศึกษาค้นคว้าแล้วปัญญาจะเกิดแล้วบรรลุไป
เองนั้นน่ะ คงจะต้องรอพระพุทธเจ้าอีกหลายร้อยพระองค์กว่าจะไปได้เช่นนั้น
๒. รสะ หมายถึงกิจการงาน หรือหน้าที่การงานของธรรมะตัวนั้นๆ คือทำตามลักษณะของตน
ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ กิจจรสะ ตัวหนึ่ง และ สัมปัตติรสะ อีกตัวหนึ่ง
กิจการของตัวนี้ เราจะรู้ได้ว่าแต่ละตัวนั้นมันมีกิจจรสะก็ดี หรือสัมปัตติรสะก็ดี
ในรสะตัวนี้ที่กิจการนี้ อย่างเช่นไฟนี้มันก็มีกิจจรสะก็คือความร้อน นั่นเป็นกิจของมัน
สัมปัตติรสะ ก็คือ แสงสว่าง เราจะเห็นได้ว่าไฟนี้มีหน้าที่อยู่ ๒ อัน ( ๑ ) หน้าที่ให้ความร้อน
( ๒ ) หน้าที่ให้แสงสว่าง
๓. ปัจจุปัฏฐาน ปัจจุปัฏฐานตัวนี้หมายถึงอาการที่ปรากฏจากรสะนั้นๆ
พูดกันอย่างง่ายๆ ก็คือ ผลอันเกิดจากรสะ หรือผลอันเกิดจากการงานของธรรมะตัวนั้นๆ
นั่นเอง
๔. ปทัฏฐาน หมายถึงปัจจัยโดยตรงที่เป็นตัวการให้เกิดลักษณะการนั้นๆ
เรียกกันว่าเหตุใกล้ให้เกิด ปัญหาในเรื่องนี้ คำจำกัดความในเรื่องนี้อาจจะมีพวกเราบางคนสงสัย
แต่ขอให้เราได้ฟังกันต่อๆ ไปแล้วก็ความสงสัยทั้งหลายมันก็จะหมดไป
นี่เป็นลักษณะวิเสสของปรมัตถธรรมทั้ง
๓ ตัว คือ จิต เจตสิก และรูป โดยเฉพาะนิพพานนั้น วิเสสลักษณะมีเพียง ๓ ตัวเท่านั้น
นั่นคือลักษณะ๑ รสะหน้าที่๑ ปัจจุปัฏฐาน๑ ไม่มีปทัฏฐาน เหตุใกล้ของนิพพานไม่มี
เพราะว่าเป็นธรรมที่พ้นเหตุ และปัจจัยทั้งปวง นี่เป็น nature ของปรมัตถธรรมโดยทั่วๆ
ไป
เราบอกกันมาแล้วตั้งแต่ต้นว่าวันนี้เราจะได้พูดกันถึงเรื่องรูปธรรม รูปธรรมนั้นหมายถึงธรรมชาติที่ผันแปรแตกดับไป
ด้วยความเย็นและความร้อน ทุกๆ อย่างนั้น ที่เรารู้ได้ด้วยตาก็ดี หูก็ดี จมูกก็ดี
ลิ้นก็ดี กายก็ดี สิ่งเหล่านี้เป็นรูปทั้งสิ้น แต่รูป เหล่านี้ รู้ได้ทางตาบ้าง
รู้ได้ทางหูบ้าง รู้ได้ทางจมูกบ้าง รู้ได้ทางลิ้นบ้าง รู้ได้ทางกายบ้าง ทุกอย่างเป็นรูปธรรมทั้งสิ้น
เรารู้
คร่าวๆ เพียงเท่านี้ก่อน อย่าเพิ่งไปรู้ละเอียด และหลักการใหญ่ของรูปนั้น จงจำไว้ว่ามันมีลักษณะต่างๆ
ตามที่ผมกล่าวข้างต้น คือวิเสสลักษณะ ซึ่งประมวลได้ดังต่อไปนี้คือ
ลักษณะ มีการสลายและแปรปรวนเป็นลักษณะ รสะ มีการแยกออกจากกันได้เป็นกิจ
คำว่าแยกออกจากกันได้เป็น
กิจนี้ หมายถึงการแยกออกจากจิต เรื่องนี้ถ้าเราได้ศึกษาถึงขันธ์ ๕ อันได้แก่ รูป
เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ แล้ว เราก็จะรู้ได้ว่าหน้าที่ของรูปนั้นมันแยกกันได้กับจิต
ลักษณะที่รูปมันแยกกันได้จากจิตนี้ ถ้าเราพูดกันในหลักการวิทยาศาสตร์
ในทางแพทย์ปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่าในการผ่าตัดต่างๆ นั้น ในชั้นต้นจำเป็นต้องแยกจิตออกจากรูปก่อน
ทำไมถึงต้องแยก
เช่นนั้น เพราะถ้าไม่แยกแล้วเวทนามันก็จะเกิดขึ้นได้ เพราะจิตตัวนี้มันเป็นตัวรับรู้
ฉะนั้นวิทยาการในทางแพทย์ปัจจุบันนี้
จึงใช้ยาสลบ เป็นเครื่องมือแยกจิตออกจากรูป และผลก็ได้ในการผ่าตัดซึ่งเราจะได้เห็นกันอยู่โดยทั่วๆ
ไป ในแง่ของธรรมะนั้น จิตกับรูปเรา จะแยกออกได้จากวสีของฌานจิตบางตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือวิญญาณัญจายตนฌานนั่นเอง
ถ้าเราทำวสี
ตัวนี้ให้แก่กล้าแล้วเราก็สามารถที่จะแยกระหว่างรูปกับจิตออกจากกันได้โดยง่าย ดังนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัส
เรื่องนี้มา ๒๕00 กว่าปีมาแล้ว ซึ่งในปัจจุบันนี้ วิทยาการในทางแพทย์ ก็ได้ค้นพบและนำมาใช้เพื่อแยกรูปกับจิตออก
จากกันเพื่อใช้ประโยชน์ในการแพทย์ ดังนั้นหลักการพระ พุทธศาสนากับหลักการในทางวิทยาศาสตร์ เราสามารถพิสูจน์ให้
สัมพันธ์กันได้ ซึ่งไม่เหมือนกับหลักการหรือลัทธิหรือวิธีการ อื่นๆ แต่ประการใด
นอกจากนี้แล้วเราก็มี ปัจจุปัฏฐาน คือผลของรูปนั่นเอง มันมีเป็นประการใด
คือท่านว่ามีความเป็นอพยากตธรรมเป็นอาการที่ปรากฏ คำว่าอพยากตธรรม
ที่เป็นอาการที่ปรากฏนี้ เราจะแลเห็นได้ว่า ร่างกายของคนเรานั้นเป็นรูปที่มีวิญญาณครอง
แต่เราได้เห็นคนตายหรือไม่ คนตายนั้นหมายถึงรูปที่แยกออกจากจิตแล้ว เมื่อรูปที่แยกจากจิตแล้วนั้น
สภาพ ของมันก็คือเป็นอพยากตธรรม คำว่าอพยากตธรรมในที่นี้หมายความว่าเป็นธรรมที่ทำให้แจ้งไม่ได้
หรือพูดกันอย่างภาษาง่ายๆ ภาษาพื้นบ้านของเรา อย่างภาษาบ้าๆ บอๆ ของเรา คือไม่เอาไหนนั่นเอง
ทำไมมันถึงได้ไม่เอาไหน เรานี่ลองใครซัดสักผัวะสัก เผียะกันดูซิเรา
จะรู้สึกว่ามันเจ็บปวดแค่ไหน นั่นเพราะอะไร เพราะยีงมีวิญญาณครองหรือจิตมันยังมีอยู่
แต่คนเราที่ตายไปแล้ว นั้น จิตมันแยกออกจากรูปไปแล้ว เราจะเห็นเขาเผาศพสดก็ดี เผาแห้งๆ
ก็ดี ไม่เป็นมันร้องเอะอะโวยวาย นี่แหละคือ
อพยากตธรรม นี่แหละ ตัวนี้หมายถึงอพยากตธรรม คือมันทำให้แจ้งไม่ได้ คือไม่รับรู้นั่นเอง
ฉะนั้นที่ผมพูดว่าไม่เอาไหน ไม่เอาไหน นี่ตัวนี้ นี่เป็นลักษณะซึ่งเราได้เห็นเป็นของจริง
เราสังเกตดูซิ คนไข้ที่ถูกวางยาสลบ แยกรูปออกจากจิตแล้ว
หรือจิตให้พ้นจากรูปไปแล้ว เขาก็ทำการผ่าตัดได้โดยสะดวก หรือผู้ที่ได้ฌานจิตทำให้แก่กล้าขึ้นแล้ว
ก็สามารถแยกเอาจิตออก จากรูปไปได้ ก็เหมือนหนึ่งคนสลบ สามารถจะทำการผ่าตัดได้โดยไม่รู้สึกตัวเหมือนกัน
นี่ ฉะนั้นวงการแพทย์ต่อไปถ้าได้รู้เรื่องนี้ ถ้าคิดให้คนไข้สามารถทำสมาธิได้สูงๆ
อย่างนี้ ก็คงจะไม่ต้องไปอาศัยวิทยาการแพทย์สมัยใหม่ ซึ่งต้องมีเจ้าหน้าที่เฉพาะวางยา
โดยเฉพาะจำนวนเท่านั้นเวลาเท่านั้น ถึงจะเกิดฟื้นขึ้นอะไรขึ้น ต้องทำพิธีรีตองกันมาก
นอกจากนั้นแล้ว ปทัฏฐาน ตัวสุดท้าย ลักษณะตัวสุดท้ายนั่นก็คือเหตุใกล้ชิด
เหตุใกล้ชิดของรูปธรรม นั้นก็คือวิญญาณหรือจิตนั่นเอง คือเป็นตัวรับรู้ พวกเราทั้งหลาย
ที่ยังมีความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ ตุ้บตั้บไปหน่อยก็ร้องโอดโอย กันนั้น ก็เพราะจิตตัวนี้แหละมันเป็นตัวรับรู้ในผัสสะทั้งปวงไม่ว่า
ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ
นี่ ที่ผมกล่าวมานี้เป็นลักษณะของรูปปรมัตถ์โดยทั่วๆ ไป เรายังไม่กล่าวกันถึงรายละเอียดของรูปแต่ละตัวนั้นว่ามันมี
เป็นประการใด เมื่อเราได้รู้ถึงหลักการโดยทั่วๆ ไปของรูปแล้ว ผมก็ยังไม่กล่าวให้พวกเราได้รับรู้ถึงรูป
๒๘ อีก เพราะว่ามันเป็น เรื่องรายละเอียดซึ่งเราจะได้ศึกษากันต่อไป ในขั้นต้นผมอยากจะให้พวกเราได้รู้จักชื่อของกลุ่ม
เขาเรียกชื่อเขาเรียกตามความ หมายกันต่างๆ ว่าเขาเรียกกันอย่างไร มันหมายถึงรูปอะไรบ้าง
เพราะภาษาธรรมะนั้น บางอย่างสิ่งอันเดียวกัน แต่เราเรียกเป็น ภาษาต่างกัน ตามที่นำมาให้ท่านได้รู้จักนั้นก็เพื่อประโยชน์ในภายหลัง
ถ้าเราไปได้ยินไปได้ฟังใครเขาพูดกัน เราก็จะรู้ได้ว่าเขา หมายความว่าอะไรอย่างนี้
ทั้งนี้ เพราะว่าเราจำเป็นจะต้องรู้จัก ถ้าเราไม่รู้จักแล้วมันจะเกิดความยุ่งยากลำบากภายหลังทำให้
เกิดมีความข้องใจสงสัยว่าสิ่งที่เรารู้นั้น มันผิดหรือมันถูกประการใด อย่างสมมุติว่าทำไมเพียงแต่รูปนี้
ทำไมชื่อของรูปบางทีเขา
ถึง ได้เรียกกันต่างๆ เช่นนั้น ก็สมมุติว่าตัวเราพวกเราคนใดคนหนึ่ง ถ้าสังคมกับคนที่ไม่รู้จักกันเขาก็เรียกว่า
คุณ ถ้าคนที่เขา
จะ เลียตีนเลียมือเรา เขาก็เรียกเราว่าท่าน ถ้าเพื่อนฝูงกันเรียกว่า เฮ้ย เอ็ง
มึง กู อะไรเป็นต้น ถ้าเป็นศัตรูที่ไม่ถูกกันเขาบอก
ว่า ไอ้นั่น อีนี่ อะไร ก็ความจริงมันคนๆ เดียวกันนั่นเองแหละ เรียกกันสารพัดร้อยสีร้อยอย่างเช่นเดียวกันเหมือนกันกับรูป
ในภาษาธรรมะนั้นมันมีเรียกกันมากมายหลายประการ แต่ไม่ใช่รูป ๒๘ แต่เขาเรียกในกลุ่มของรูป
๒๘ นั่นเอง แต่สำหรับรูป
๒๘ นั้นมันมีชื่อเรียกอัน เดียวกัน หรือ ถ้าจะเรียกชื่อต่างกันก็เราสามารถจะเข้าใจได้ว่ามันเป็นคำที่สุภาพไม่สุภาพอะไรสัก
หน่อย ในขั้นต้นผมอยากจะ แนะนำให้พวกเราทั้งหลายได้รู้จักว่า
มหาภูตรูป เป็นภาษาเขาเรียกรูปใหญ่ คือรูปที่เกิดขึ้นด้วยตัวมันเอง
มหาแปลว่า ใหญ่ มหาภูตรูปแปลว่ารูปใหญ่ ซึ่งได้แก่รูป ๔ ตัวคือ (๑) ปฐวี คือ ดิน
(๒) อาโป คือ น้ำ (๓) เตโช คือ ไฟ (๔) วาโย คือ ลม นี่เขาเรียกรูปทั้ง ๔ ตัวนี้เรียก
ว่า มหาภูตรูป ฉะนั้นคำว่า มหาภูตรูป หรือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มันก็อันเดียวกันแหละ
นี่ มันเป็นอย่างนี้ เราจงจำไว้
อุปาทยรูป หมาถึงรูปอีก ๒๔ ตัว ที่ต้องอาศัยมหาภูตรูปเกิด ทั้งนี้เราต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่ารูปปรมัตถ์ทั้ง
หมดนั้น นอกจากมหาภูตรูปแล้ว ซึ่งเป็นรูปที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวของมันเองแล้วก็มี
อุปาทายรูป หมายถึง รูป ๒๔ ที่ต้องอาศัย มหาภูตรูปเกิด เราได้รู้กันมาแล้วว่ารูปปรมัตถ์ทั้งหมดนั้นมันมีอยู่
๒๘ รูป ตัดมหาภูตรูปออกเสีย ๔ ตัวคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ออกจากกันแล้ว มันก็เหลืออีก
๒๔ ตัว ฉะนั้น ถ้าใครเขาอ้างว่าอุปาทายรูป เราต้องเข้าใจว่า นอกจากมหาภูตรูปแล้วเรียกว่า
อุปาทายรูปหมด
นิปผันนรูป คำว่านิปผันนรูปนี้หมายถึงรูปที่สำเร็จขึ้นมาด้วยสภาวะของตัวเอง
ผมใช้คำว่ารูปที่สำเร็จขึ้นมาด้วย
สภาวะของตัวเองนะ ไม่ใช่เกิดขึ้นเองนะ คนละเรื่อง มี ๑๘ ตัวเท่านั้น นิปผันนรูปตัวนี้แหละที่เรานำมาพิจารณากันในเรื่องของ
วิปัสสนาปัญญา อันได้แก่ (๑) มหาภูตรูป ๔ ๔ ตัว (๒) ปสาทรูป ๕ ๕ ตัว (๓) โคจรรูป
๔ ๔ ตัว (๔) ภาวรูป ๒ ๒ ตัว
(๕) หทยรูป อีก ๑ ตัว (๖) ชีวิตรูป อีก ๑ ตัว (๗) อาหารรูปอีก ๑ ตัว รวมเป็น ๑๘ ตัว
มีอยู่เท่านี้ที่จะนำมาพิจารณากันเรื่อง ของรูปและนาม
อนิปผันนรูป มี ๑0 ตัว
เป็นเรื่องของความละเอียด ไม่สามารถจะรู้กันได้ในขั้นหยาบๆ แต่สำหรับพวกเราทั้งหลาย
ถ้าเราจะแนะนำให้รู้จักกันในขั้นต้น มันก็คงจะมหาภูตรูป ๔ นั่นแหละ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่แลเห็นได้ง่าย
สัมผัสได้ง่าย รู้ได้ง่าย นั่นคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ นั่นเอง นอกจากนิปผันนรูปแล้ว
อนิปผันนรูป อีก ๑0 ตัว เพราะว่านิปผันนรูปมี ๑๘ ตัวแล้วที่เหลืออีก
๑0 ก็เป็นนิปผันนรูป หมายถึงรูปที่ต้องอาศัยนิปผันนรูปจึงจะมีรูปของตนเกิดขึ้นมาได้
มีอยู่ ๑0 รูปคือ ปริจเฉทรูป วิญญัตติรูป และวิการรูป ลักขณรูป นั่นได้แก่อะไร
คือ ปริเฉทรูป ๑ วิญญัติรูปหมายความว่า วจีวิญญัตติ กายวิญญัตติรูป เป็น ๓ นะ วิการรูปอีก
๓ ลักขณะรูป ๔ รวมเป็น ๑0 ด้วยกัน นอกจากรูป ๒๘ ที่แยกเป็นนิปผันนรูปก็ดี อนิปผันนรูปก็ดี
ยังมีเรียกกันต่อ ไปอีกว่า สภาวรูป
สภาวรูป หมายถึงรูปที่มีสภาวะหรือมีสภาพของตนเองปรากฏได้แน่นอน
นี่มันก็คือมหาภูตรูป ๔ บ้าง อะไรบ้าง เหล่านี้ที่เห็นกันได้ง่ายๆ
อสภาวรูป คือรูปที่ไม่มีสภาพของตนโดยเฉพาะ
สิ่งที่ผมพูดมานี้เป็นเพียงเครื่องประดับความรู้ เวลาใครเขาพูดอะไรและเราศึกษาเรื่องอะไร
พูดกันแล้วเราจะได้เข้าใจ ความหมาย แต่รูปที่เราจำเป็นจะต้องรู้จริงๆ คือรูปปรมัตถ์
๒๘ ไอ้ที่เรียกชื่อต่างๆ นี้คือทั้งหมดนี้มันก็อยู่ในรูปปรมัตถ์ ๒๘ นั่นแหละ แต่เขาเรียกกันอย่างโน้นกันบ้างเรียกอย่างนี้กันบ้าง
กลุ่มโน้นบ้างกลุ่มนี้บ้าง นี่มันหมายถึงอย่างนี้ทีนี้ต่อไปนอกจาก
อสภาวรูปแล้วก็มีสลักขณรูป
สลักขณรูป คือรูปที่มีไตรลักษณ์โดยสภาพของตน
อสลักขณรูป คือรูปที่ไม่มีไตรลักษณ์โดยสภาพของตน
รูปรูป รูปรูป นี้หมายถึงรูปที่ผันแปรแตกดับไปด้วยความร้อนและความเย็น
อรูปรูป คือรูปที่ไม่แตกดับเพราะความร้อนความเย็น
สัมมสนรูป หมายถึงรูปที่มีที่ควรแก่การพิจารณาเป็นไตรลักษณ์ เพราะว่าเป็นการแลเห็นได้ง่าย
มันก็เข้ามาใน มหาภูตรูป ๔ นั่นอีกแหละ
อสัมมสนรูป คือรูปที่ไม่ควรนำมาใช้พิจารณาไตรลักษณ์ เพราะยากแก่การแลเห็นพวกนี้ได้แก่
วิญญัตติรูป คือ การไหวกาย ไหววาจา นี่ มองไม่เห็น
อเหตุกรูป หมายถึงรูปที่ไม่มีเหตุ ๖ มาสัมปยุตต
สปัจจยรูป คือรูปที่มีปัจจัยคือสิ่งอุปการะและเกื้อหนุนจึงจะทำให้เกิดรูปขึ้นมาได้
สิ่งเหล่านี้ก็ได้แก่ กรรม จิต อุตุ และอาหาร อย่างที่พวกเราเกิดมานี้ มันก็เกิดมามีกรรมเป็นปัจจัย
เติบใหญ่ขึ้นมาก็มีอาหารเป็นปัจจัย เราอยู่รอดมาได้ก็เพราะ ว่าอุตุเป็นปัจจัย และเรามีการเคลื่อนไหวได้ก็เพราะมีจิตเป็นปัจจัย
นี่
สาสวรูป คือรูปที่เป็นอารมณ์ของอาสวะ
สังขตรูป คือรูปที่มีการปรุงแต่งมาจากกรรม จิต อุตุ และอาหาร
โลกียรูป หมายถึงรูปที่เนื่องด้วยโลกียธรรม
อัชฌัตติรูป หมายถึงปสาทรูป ๕ อันได้แก่ จักขุปสาทรูป ซึ่งเป็นหนึ่งในรูป
๒๘ โสตปสาทรูป ซึ่งเป็นหนึ่งในรูป ๒๘ ฆานปสาทรูป ซึ่งเป็นหนึ่งในรูป ๒๘ ชิวหาปสาทรูป
ซึ่งเป็นหนึ่งในรูป ๒๘ และกายปสาทรูป ซึ่งเป็นหนึ่งในรูป ๒๘ เห็นไหม เขามาเรียกกันว่า
อัชฌัตติรูป ก็ได้ ฉะนั้นใครเขาจะพูดอย่างไร เราเข้าใจหมด
วัตถุรูป หมายถึงปสาทรูป ๕ บวกด้วยหทยวัตถุรูปอีก ๑ เป็น ๖ เขารวมเรียกกันว่าวัตถุรูป
นี่เห็นไหม เรารู้เป็นกลุ่ม เป็นก้อนเสียก่อน
ทวารรูป หมายถึงปสาทรูป ๕ รวมกับวิญญัตติรูป ๒ หมายถึง การเคลื่อนไหวกาย
๑ การเคลื่อนไหววาจา ๑ บวกด้วย ปสาทรูป ๕ เขาเรียกว่าทวารรูป อันนี้เป็นเครื่องประดับความรู้
เวลาพูดกันสูงๆ ขึ้นไปเขาก็ใช้ศัพท์พวกนี้มาพูด เราจะได้รู้ว่า อันไหนมีความหมายว่าอย่างไร
อินทรียรูป อินทรียรูปนี้หมายถึงปสาทรูป
๕ ภาวรูป ๒ และชีวิตรูป ๑ เราเรียกว่า อินทรียรูป ในเรื่องนี้เรายังจะ
ไม่พูดรายละเอียดกัน เพียงแต่แนะนำให้พวกเราได้รู้จักว่าอะไรกลุ่มไหนเขาเรียกว่าอะไรเสียก่อน
โอฬาริกรูป ซึ่งได้แก่ ปสาทรูป ๕ และวิสยรูป ๗ รวมกันเป็น ๑๒ ปสาทรูปก็คือ
ประสาทตา หู จมูก ลิ้น กาย
วิสยรูป ๗ ก็ได้แก่ วัณณะ ซึ่งเป็นหนึ่งใน ๒๘ สัททะ-เสียง คันธะ-กลิ่น รสะ-รส ปฐวี
เตโช วาโย เป็น ๓ เอามหาภูตรูป ๓ บวกเข้าไปเป็น ๗ เรียกว่า วิสยรูปนี่ รวมกับปสาทรูป
๕ ก็เป็น ๑๒ นี่เรียกว่า โอฬาริกรูป
สัปติเกรูป สัปติเกรูปนี้ได้แก่อะไรบ้าง ได้แก่โอฬาริกรูป ซึ่งเป็นรูปที่ใกล้พิจารณาได้ง่าย
อันได้แก่ปสาทรูป ๕
วิสยรูป ๗ เรียกว่า สัปติเกรูป มาเรียกอีกอย่างแล้ว
สัปปฏิฆรูป อันได้แก่ ปสาทรูป ๕ วิสยรูป ๗ รวม ๑๒ เรียกว่าสัปปฏิฆรูป
อุปาทินนกรูป หมายถึงรูปที่เกิดจากกรรม หรืออย่างที่เรียกว่า กัมชชรูป
นั่นเอง เขาเรียกชื่อไปอีกอย่างหนึ่ง
สนิทัสสนรูป อันได้แก่รูปารมณ์หรือสี หรือรูปที่สามารถแลเห็นทางตานั่นเอง
โคจรรัคคาหิกรูป คือรูปที่รับปัญจารมณ์ได้ นั่นอะไร ปสาทรูป ๕
นั่นเอง
อวินิพโภครูป หมายถึงรูปที่แยกกันไม่ได้ เรียกว่า อวินิพโภครูป
รูปที่แยกไม่ได้นี้ก็ได้แก่ ปฐวี ๑ อาโป ๑ เตโช ๑
วาโย ๑ วัณณะ ๑ คันธะ ๑ รสะ ๑ โอชะ ๑ รวมกัน ๘ ให้เล็กอย่างไรรูปทั้งหลายมันจะต้องรวมกลุ่มรวมก้อนกัน
อย่างน้อยต้อง
๘ ตัวนี้ มันไม่แยกกัน ที่เราเรียกว่าดินๆ นั้นเพราะว่าธาตุดินมันมากกว่าธาตุอื่น
และก็สัมผัสถูกต้องได้ หรือลมหายใจเข้าออก นั้นไม่ใช่ลมอย่างเดียว มีอย่างน้อยก็เป็นอวินิพโภครูปทั้ง
๘ รูปรวมอยู่ด้วย แต่มีลมส่วนใหญ่ นี่ มันไม่บริสุทธิ์
กัมมชรูป กัมมชรูปนี้เรียกว่า
กสกตารูป ก็ได้ กัมมสมุฏฐานิกรูป ก็ได้ เป็นรูปที่เกิดจากกรรม พวกเรานี่แหละ
จิตชรูป คือรูปที่เกิดจากจิต
อุตุชรูป คือรูปที่เกิดจากอุตุ คือความร้อนความเย็นนั่นเอง
อาหารรูป คือรูปที่เกิดจากอาหาร
นี่ ที่ผมกล่าวมานี้เป็นเรื่องของรูปที่เขาเรียกชื่อต่างๆ กัน รวมเป็นกลุ่มบ้าง
เป็นก้อนบ้าง ฉะนั้น เราจงทำความเข้าใจ ให้ดี ความจริงนั้นมันก็อ้ายรูป ๒๘ นั่นเอง
เรามาจับกลุ่มนี้กลุ่มนั้นเรียกันได้ ๔0 กว่าชื่อ
ต่อไปนี้เราจะได้ทำความรู้จักกับรูปจริงๆ ในรูป ๒๘ คือ มหาภูตรูปตัวที่
๑ คือ ปฐวี
ประเภทที่ ๑ มหาภูตรูป
๑. ปฐวี
ปฐวีนั้นก็คือดิน
เรียกว่าปฐวีธาตุก็ได้ ดินก็ได้ ตามใจเถอะ สิ่งที่สำคัญที่สุดของมันคือ
๑. ลักษณะของมัน คือความแข็ง ภาษาธรรมะใช้ว่าความแข็งนะ สังเกตให้ดีนะ
ภาษาธรรมะกับภาษาวิทยาศาสตร์ เหมือนกัน อุณหภูมิภาษาวิทยาศาสตร์ใช้ว่าความร้อน
แต่บางทีหนาวสั่นแทบจะตาย ทีนี้ความแข็งอันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าไปเจอ ความอ่อนเข้าแล้วบอกว่าพระพุทธเจ้าตรัสผิดไม่ใช่
พระพุทธเจ้าตรัสไม่ได้ผิด มันแข็งเหมือนกันแต่แข็งน้อย อุณหภูมิขนาด น้ำแข็งเขาบอกว่ามันร้อนเหมือนกัน
แต่มันร้อนน้อย นั่นเราจะเห็นว่าภาษาพุทธศาสนากับภาษาวิทยาศาสตร์เป็นอันหนึ่งอัน
เดียวกัน ลักษณะอันที่ ๑ ความแข็งนะ
๒. หน้าที่ หรือ รสะ
คือมีการทรงตัว
๓. ผล หรือ ปัจจุปัฏฐาน ผลมีการรับไว้
๔. เหตุใกล้ หรือ ปทัฏฐาน มีธาตุทั้ง ๓ ที่เหลือเป็นเหตุใกล้
คือ ไฟ ลม น้ำ เป็นเหตุใกล้
ด้วยเหตุคำจำกัดความของลักษณะปฐวีนี้ เราก็จะเห็นว่าธรรมชาติที่ทรงภาวะความแข็งก็ดี
ความกระด้างก็ดี ที่มีอยู่ ในกายนั้น เราเรียกว่าปฐวีธาตุทั้งหมด ทำไมถึงบอกว่าปฐวีธาตุมีความแข็งเป็นลักษณะเช่นนั้น
ก็เพราะว่าถ้ามันเปรียบเทียบ กับธาตุอื่น ธาตุลมก็ดี ธาตุไฟก็ดี ธาตุน้ำก็ดี ธาตุดินนี้มีสภาพแข็งกว่าธาตุอื่นๆ
ทั้งสิ้น จึงแสดงให้เห็นว่าปฐวีธาตุมีความแข็ง เป็นลักษณะทั้งนั้น นอกจากปฐวีธาตุแล้ว
รูปอื่นๆไม่สามารถจะทำความแข็งหรือความอ่อนให้เกิดขึ้นในการสัมผัสหรือถูกต้อง วัตถุใดๆ
ที่มีปฐวีมาก ก็มีความแข็งมาก วัตถุใดที่มีปฐวีธาตุน้อยก็มีความแข็งน้อย ก็คือความอ่อนหนึ่งนั่นเอง
จากคำจำกัด ความของปฐวีธาตุความอ่อนหรือแข็งที่เราสัมผัสได้นั้นก็คือดินนั่นเท่านั้นเอง
สิ่งนี้รู้ได้จากการสัมผัสเท่านั้น จำไว้
ตามที่พูดมานี้ ได้แนะนำให้พวกเราพอรู้ลักษณะของรูปปรมัตถ์ที่มีชื่อต่างๆ
กันประการใด และแนะนำให้รู้จักดินตัว เดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นหนึ่งใน ๒๘
เวลามันก็จวนจะหมด ขอเตือนว่ารูปปรมัตถ์ ๒๘ นั้น สิ่งที่สำคัญยิ่งที่พวกเราจะต้องจดจำก็คือ
ลักษณะของรูปแต่ละ
ตัว เพราะต่อไปนั้นเมื่อเราประพฤติปฏิบัติธรรมขั้นสูงขึ้นไปแล้ว ความรู้เหล่านี้
จำเป็นต้องนำเอาออกมาใช้ทั้งสิ้น ปัญญทาง พุทธศาสนาไม่ใช่นึกเอาเอง เราจะต้องศึกษาให้รู้เสียก่อน
และในระหว่างเราศึกษาทำความรู้จักรูปแต่ละตัวนี้ อย่าลืม เราจะ ต้องปลูกสติ ฝึกสติให้มันตื่นอยู่เสมอ
ให้มันระลึกรู้เป็นปัจจุบันธรรม ตามที่เราได้เคยพูดกันมาแล้วตั้ง ๕ อาทิตย์ทุกแง่ทุกมุม
เมื่อเราประพฤติปฏิบัติมาเช่นนั้น กว่าเราจะพูดเรื่องรูปกันจบ สติมันก็เกิด พอเกิดพับ
เราจะรู้ว่ารูปนั้นที่มันเกิดขึ้นอะไรกันแน่ เราได้กำไรชีวิตเกิดขึ้นแล้ว
เท่าที่พูดมานี้ ผู้ใดมีความสงสัยข้องใจประการใดก็ไถ่ถามเสียสิ่งใดที่รู้ก็บอกกัน
ไม่รู้ก็จนใจด้วย
มีท่านผู้หนึ่งถามมาว่า รูปดินนี้เป็นดินอย่างเดียวนั้น สัมผัสกันทางไหนก็ได้
ไม่ได้ครับ ธาตุดินนั้นจะรู้ได้มาจากการสัมผัสทางกายเท่านั้นดินนั้นถ้ามากระทบกาย
ความรู้สึกจากการกระทบนั้น
เรียกว่า กายวิญญาณ เกิดขึ้น รู้ได้จากการอ่อนการแข็งที่มาสัมผัส อย่างอื่นสัมผัสไม่ได้
ท่านถามมาบอกว่า การสัมผัสทางกายนี้ การเดินใช้ได้ไหม
ถูกต้องครับ นี่แหละ แล้วเราจะได้ฝึกกันที่หลังว่าเวลาเดินนี่อะไร ความจริงมันเกิดขึ้น
นั่นแหละการสัมผัสกับธาตุดิน นั่นเอง
ที่เราเตือนนี่นะ เขาเรียกชื่อต่างๆ กันตามลักษณะใจเรื่องของธรรมนั้นๆ
แต่ความจรืงนั้นมีดินตัวเดียว เพราะว่า รูปปรมัตถ์ทั้งหมดมี ๒๘ ตัว ดินตัวหนึ่งใน
๑ ใน ๒๘ ท่านไม่ต้องตกใจหรอก ไม่มีใครวิเศษเป็นศาสดามาได้ ฟังแล้วจะได้รู้
ทันที ข้อสำคัญนั้นท่านติดตามเรามา รูปที่ผมพูดทั้งหลายนี่ผมพูดภาษามนุษย์ ท่านอย่าไปจดจำเลย
ท่านจดจำว่า ดิน น้ำ
ลม ไฟ ๔ ตัว พอแล้ว อย่าไปฟังอย่างอื่นเลย แค่นี้เอาเท่านี้ อ้ายที่มนุษย์เขาดัดจริตพูดกัน
พูดดินตัวเดียวเท่านั้น วิปัสสนา ไม่มีสอน แต่สอนให้รู้จักธรรมชาติของความจริงคือ
ปรมัตถธรรม ผมบอกว่าวิปัสสนาไม่สอนเพราะใครๆ เขาสอนกัน แต่ผม
สอนปรมัตถธรรมกับสติให้ แล้วท่านคิดเอาเองก็แล้วกัน