สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ
ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา

         จากพุทธภาษิตบทนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่จะเป็นปัญญาชนได้นั้นจะต้องมีสุตะหรือการฟังมากเป็นสมบัติเบื้องต้น เมื่อวัน อาทิตย์ก่อนนั้นเราได้พูดกันถึงมหาภูตรูป ๔ ตัวๆ ที่ ๑ คือปฐวีธาตุ ซึ่งเราได้พูดกันถึงลักษณะ คือความแข็ง กิจ คือการทรงตัว
ผล มีการรับไว้ เหตุใกล้ คือธาตุทั้ง ๓ ได้แก่ อาโป เตโช และวาโย ในการเจริญสติเพื่อรู้จักรูปนามนั้น ก่อนที่เราจะดำเนินการ ในเรื่องนี้ เราได้พูดกันมาแล้วถึงเรื่อง การฝึกสติให้ระลึกรู้ทุกแง่ทุกมุมต่างๆ สามารถที่จะทำได้ทุกอย่างทุกประการ เมื่อเราได้ ฝึกสติให้มีการระลึกรู้ได้เช่นนี้แล้ว ข้อต่อไปเราก็ควรจะได้รู้จักความจริงที่เกิดขึ้นนั้นมันเป็นความจริงชนิดไหน ในที่นี้ผม
หมายถึงมันเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม รูปธรรมนี้เราจะต้องทำความรู้จักกันนั้น มันมีทั้งหมด ๒๘ รูป แต่ที่ผมพูดให้พวกเรา ทั้งหลายฟังว่าชื่อมีการเรียกต่างๆ นั้น มากมายหลายสิบชนิดนั้น มันเป็นการเรียกกลุ่มของรูป ประเภทของรูป แต่รูปที่แท้จริง ที่เราจะต้องรู้จักกันนั้นมีเพียง ๒๘ เท่านั้น และรูปที่เราจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณานั้น มันก็คงมีเพียง ๑๘ รูป นอกกระนั้นส่วน ใหญ่ไม่ค่อยได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณากัน ประการสุดท้ายที่เราพูดกันในเรื่องปฐวีนั้นได้กล่าวข้างต้น วันนี้ผมจะได้นำเรื่องปฐวี มาพูดให้ท่านฟังต่อจากวันอาทิตย์ก่อนให้สมบูรณ์เสร็จสิ้นกันเสียที ปฐวีธาตุ หรือที่เรียกกันทั่วๆ ไปว่า ธาตุดิน นั้นแบ่งออก
เป็น ๔ ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้ คือ

         ก. ลักขณปฐวี หมายถึงลักษณะของธาตุดินนั้น มีแข็งและอ่อนเป็นตัวที่จะใช้ในการพิสูจน์ลักขณะหรือสภาพแข็งเรียก ว่ากักขฬลักษณะ ส่วนลักษณอ่อนนั้นเรียกว่าอถัทธลักขณะ คืออ่อนหรือแข็งน้อยนั่นเอง ความอ่อนหรือแข็งน้อยหรือไม่แข็งนี้ก็ อยู่ในประเภทของธาตุดิน ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียกลักษณะนี้เช่นเดียวกันกับอุณหภูมิตามหลักการของวิทยาศาสตร์ พูดถึงเรื่องของความร้อนแต่ความเย็นไม่พูด เพียงแต่ว่าร้อนมากหรือร้อนน้อย ในลักษณะของธาตุดินก็เหมือนกัน มีความแข็ง เป็นลักษณะแต่แข็งมาก อาจจะเป็นอย่างหิน เหล็ก เหล็กกล้า อะไรพวกนี้แข็งมาก และอ่อนเหลวอาจจะพวกสำลี พวกอะไรนี้ มันก็อ่อนนุ่มอย่างนี้ คือสรุปลักษณะของธาตุดิน สิ่งใดที่สัมผัส ได้ด้วยผิวหนัง รู้การสัมผัสในการกระทบได้แล้วว่ามีความรู้สึกใน การสัมผัสวัตถุนั้นๆ แล้ว เราเรียกว่าธาตุดินทั้งสิ้น เรื่องนี้ขอให้พวกเราจงจำไว้ เพราะว่าลักษณะอันนี้เราจะต้องนำไปใช้ พิจารณาเกี่ยวกับสติต่อไปในวันหลัง เมื่อสรุปลักษณะของธาตุดินอย่างนี้แล้ว เราจะได้ความรู้อยู่ว่าธรรมชาติซึ่งทรงไว้ซึ่งความ แข็งความอ่อนที่มีอยู่ในสิ่งที่มีวิญญาณก็ดีหรือไม่มีวิญญาณก็ดี เป็นลักษณะของธาตุดินทั้งสิ้นอย่างที่ผมบอกเมื่อกี้นี้

         ข. สสัมภารปฐวี คือ สสัมภาระของดิน ซึ่งตามพระสูตรแบ่งออกเป็น ๒ จำพวก คือ อัชฌัตติกปฐวี หมายถึงดินภายใน หมายถึงดินอันเป็นส่วนประกอบของร่างกายที่มีวิญญาณครอง เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า มันสมอง สิ่งเหล่านี้เป็นธาตุดินทั้งสิ้น ฉะนั้นเวลาเราพิจารณา อาการ ๓๒ ของตัวเรา เราอย่าไปพิจารณามันเป็นขน เป็นเล็บ เป็นหนัง เป็นอะไร อย่างนั้น พิจารณา
ทะลุไปเลย เป็นปฐวีทั้งนั้น ประการที่ ๒ เรียกว่า พาหิรปฐวี หมายถึงดินภายนอก หมายถึงดินอันเป็นส่วนประกอบมีอยู่ในสิ่ง
ที่ไม่มีวิญญาณ ตัวอย่างเช่น เหล็ก ทองแดง เงิน ทอง ดิน หิน เป็นต้น

         ค. กลิณปฐวี คำว่ากลิณปฐวีนี้พวกเราอาจจะไม่เคยได้ยิน แต่พวกที่ทำกลิณหลายๆ ตัวย่อมเข้าใจเรื่องนี้ หมายถึง
ดินที่เป็นนิมิตทั้งปวง อันได้แก่ดินของการบริกรรมนิมิต ดินของอุคคหนิมิต ดินของปฏิภาคนิมิตนั่นเอง พวกนี้ผู้ที่ทำปฐวีกสิณ
ย่อมจะรู้จัก นี่เป็น ประเภท ค. หรือ ประเภทที่ ๓

         ง. ปกติปฐวี หรือ สัมมติปฐวี คือดินตามปกติ หรือดินที่เรียกว่าสมมุติเรียกกันว่าดินดินอย่างที่เราเหยียบๆ กันนี่ นี่อีก ประเภทหนึ่ง

         ฉะนั้นเราจะเห็นคำว่าปฐวีในที่นี้หมายความได้เป็น ๔ ประเภท ด้วยกันดังกล่าวมาแล้วข้างต้น คือดินในลักษณะของ ความอ่อนความแข็งเรื่องหนึ่ง ดินซึ่งเกี่ยวกับที่มีวิญญาณครองอีกพวกหนึ่ง และดินที่เป็นนิมิตในการทำกัมมัฏฐานอีกพวกหนึ่ง นอกจากนี้แล้วก็ยังมีดินสมมุติอย่างที่เราเหยียบๆ กันนี้มันก็ดินเหมือนกัน ฉะนั้นปฐวีนี้จึงเป็นรูปธาตุที่เป็นที่อาศัยเป็นที่ตั้งของ รูปอื่นๆ ทั้งหมด เปรียบเสมือนแผ่นดินอันเป็นที่อาศัยที่ตั้งของสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งปวง

         ตามที่ผมกล่าวมานี้เป็นคุณสมบัติของธาตุดิน เราจงระลึกรู้เมื่อสติเกิดขึ้น สิ่งใดที่สัมผัสเกิดความรู้สึกอ่อนหรือแข็งนั้น มันเป็นดินซึ่งเป็นรูปธรรมตัวหนึ่งในรูป ๒๘ ถ้าเราทำความเข้าใจในเรื่องดินให้เข้าใจโดยถ่องแท้แล้ว รูปอื่นๆ อีก ๓๗ รูปซึ่ง
ต้องอาศัยดินเกิดก็จะเป็นการเข้าใจได้ง่ายเข้า

๒. อาโป

         เมื่อเราได้รู้จักรูปธรรมตัวที่หนึ่ง คือดินแล้ว ต่อไปเราก็มาทำความรู้จักกันกับรูปธรรมตัวที่ ๒ คือ อาโป หรือ น้ำ น้ำ นั้นมีลักษณะคือมีการไหลเป็นลักษณะ มีการเจริญเป็นกิจ มีการรวบรวมเป็นผล มีธาตุทั้ง ๓ ที่เหลือเป็นเหตุใกล้ ดังนั้นจากหลัก การดังกล่าวเบื้องต้นเราจะเห็นได้ว่าธรรมชาติที่ทรงภาวะการเกาะกุมก็ดี การไหลก็ดี ที่มีอยู่ในร่างกายเรานั้นเรียกว่า อาโปธาตุ คือธาตุน้ำนั่นเอง อาโปธาตุนี้มีจำนวนพอประมาณในวัตถุใด ก็ทำหน้าที่เกาะกุมอย่างเหนียวแน่นวัตถุนั้นก็แข็ง ถ้าวัตถุใดมี
อาโป ธาตุมากหน่อยหนึ่ง ก็เกาะกุมไม่สู้จะเหนียวแน่น จึงทำให้วัตถุนั้นอ่อนลงและเหลวมากขึ้น หากว่าในวัตถุใดมีอาโปธาตุ
เป็นจำนวนมากแล้ว การเกาะกุมก็น้อยลง ทำให้วัตถุนั้นเหลวมากจนถึงกับไหลไปได้ เท่าที่พูดมานี้ ผมเข้าใจว่าพวกเราบางคน อาจจะไขว้เขวไม่เข้าใจลักษณะธาตุน้ำดี เพราะอาจจะมีพวกเราบางคนหยิบถ้วยชามกระเบื้องขึ้นมา ก็บอกว่าชามที่มันทรงตัว อยู่ได้ มันไม่เห็นมีน้ำอยู่ที่ไหน จำไว้ว่า ถ้าไม่มีน้ำมันจะไม่เกาะกุมกัน มันจะต้องแตกสลายเป็นผงออกไป กลายเป็นลักษณะ
ของ ธาตุดิน หรือเราจะเห็นดินแข็งๆ ที่เราขุดเอามานั้น เมื่อขุดตอนแรกขุดออกมามันยังเป็นโคลน ผ่านจากโคลนมันก็พอจะ
ปั้นได้ นั่นแสดงว่าธาตุน้ำลดลงไป เมื่อตากให้แห้งแล้วมันก็เป็นก้อนแข็ง ถ้าดินนั้นผสมกับน้ำ นำไปเผาไฟ มันก็กลายเป็นก้อน
อิฐ ขอให้พวกเราทั้งหลายได้เข้าใจว่าความจริงนั้นน้ำมันยังมีอยู่ แต่มันมีอยู่น้อยพอเพียงแต่ทำการเกาะกุมอย่างแข็งแรงเท่านั้น
เพราะสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้วว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง รูปซึ่งเรียกว่า อวินิพโภครูป นั้น อย่างน้อยมันจะต้องเป็น
รูปที่รวมกันไม่แยกออกจากกัน เพราะเหตุไร เพราะว่ารูปมันมีลักษณะที่จะรวมตัวกันอยู่ ตามปกตินั้นไม่แยกออกจากกัน อยาก
จะใคร่แนะนำให้ท่านรู้ลักษณะของอวินิพโภครูป หมายถึงรูปที่แยกกันไม่ออก มันรวมตัวกันอยู่ นั่นคือ มีรูปอยู่ ๘ รูปที่มันรวม
ตัวอยู่โดยไม่แยก คือ ๑. ปฐวีหรือดิน ๒. อาโปหรือน้ำ ๓. เตโชหรือไฟ ๔. วาโยหรือลม ๕. วัณณรูปหรือสี ๖. คันธรูปหรือ
กลิ่น ๗. รสรูปหรือรส ๘. อาหารรูป นี่ ทั้ง ๘ ตัวนี้มันจะไปไหนกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน แม้แต่เม็ดทรายเม็ดเดียวถ้าเรามาแยกแยะ
ออกแล้ว เราจะพบรูปทั้ง ๘ นี้ นี่เป็นการที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้พบในสมัย ๒๕00 กว่าปีมาแล้ว นี่ ฉะนั้นเราจงทำ
ความเข้าใจ กันเสียใหม่ไม่ใช่ว่าสิ่งใดแห้งๆ แล้วบอกว่าเอะอะโวยวายบอกว่าไม่มีน้ำ ไม่ใช่ ถ้าไม่มีน้ำมันอยู่ไม่ได้มันเกาะอยู่ไม่
ได้ทุกอย่าง นอกจากนั้นแล้ว อาโปธาตุเมื่อถูกความร้อน ซึ่งเรียกว่า ปัคฆรณลักขณะ หรือ ทรวภาวะความปรากฏตามความ
จริงก็คือทำให้ไหล แต่ถ้าอาโปธาตุถูกความเย็น อาพันธนลักขณะก็ปรากฏคือการเกาะกุม ตอนนี้พวกเราส่วนใหญ่ถ้าไม่ได้เห็น
เขาหล่อพระไม่เป็นไร เพราะเขาเอาโลหะนี่มาหลอมให้ละลายเมื่อมันถูกความร้อน มันมีธาตุน้ำอยู่มันก็ต้องเหลว พอถูกความ
เย็นเข้าพับมันก็แข็ง หรือถ้าพวกเราที่เดินเล่นย่ำต็อกกันข้างๆ ถนน พวกร้านหลอมตะกั่วที่เขาทำกาทำอะไรนี่หรือร้านบัดกรี
อะไร เราจะเห็นเขาเอาตะกั่วใส่ไปในกะทะ ทำไมมันหลอมได้ นั่น เพราะเหตุว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ๒๕00 กว่าปีแล้วว่าวัตถุที่มีธาตุน้ำอยู่นั้น โดนความร้อนเข้ามันก็มีลักษณะการไหล ถ้าอาโปธาตุถูกความเย็นเข้ามันก็เกาะกุม มันก็แข็ง อย่างเก่า โลหะ สังเกตดูซิ เช่นเหล็กหรือขี้ผึ้งถูกความร้อนก็เหลวจนไหลได้ เมื่อถูกความเย็นก็แข็งตัวตามเดิม หรือน้ำแข็งเมื่อ ถูกความร้อนก็ละลาย เมื่อถูกความเย็นจัดก็จับตัวเป็นก้อนแข็งอีก เห็นไหมนี่ลักษณะธาตุน้ำ เมื่อมันเป็นเช่นนี้ เราจะต้องทำ การศึกษาลักษณะของธาตุน้ำต่อไปอีก ว่าความพิสดารของมันนั้นมีอะไรบ้าง เราทำการศึกษารูปทั้ง๔ คือ มหาภูตรูปนี้ให้ละเอียดละออแล้ว มันก็เป็นการง่ายที่เราจะประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมต่อไปในภายหลัง เพราะธรรมขั้นสูงของ
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ไม่ได้สอนอะไรพิสดารเลย แต่สอนให้รู้จักธรรมชาติอันแท้จริงเท่านั้นว่า มันเป็นอย่างไร
ดังนั้น เราจึงหยิบยกเอาอาโปธาตุหรือธาตุน้ำนี้มาพิจารณา อาโปธาตุหรือธาตุน้ำนี้แบ่งออกเป็น ๔ ประเภทใหญ่ๆ คือ

         ก. ลักขณอาโป หรือ ปรมัตถอาโป คือลักษณะที่ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ คือไหลและเกาะกุม อันมีอยู่ทั้งในสิ่ง
ที่มีวิญญาณและไม่มีวิญญาณครอง อย่าลืมนะ ไหลและเกาะกุมเท่านั้นนะลักษณะของธาตุน้ำ

         ข. สสัมภารอาโป คือสัมภาระของธาตุน้ำ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ประเภทที่ ๑ เรียกว่าน้ำภายในหรือเรียกตาม ภาษาธรรมะว่าอัชฌัตติกอาโป คือน้ำภายใน หมายถึงธาตุน้ำที่เป็นส่วนประกอบที่มีอยุ่ในสรรพางค์กายที่มีวิญญาณ ได้แก่
อะไร คือ ดี เสมหะ หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ น้ำมูตร เห็นไหม นี่ เป็นลักษณะหรือ
ประเภทของธาตุน้ำภายใน คำว่าภายใน ในที่นี้หมายถึงภายในตัวเรานั่นเอง

         นอกจากนี้แล้วประการที่ ๒ คือธาตุน้ำภายนอกซึ่งเรียกตามภาษาธรรมะว่า พาหิรอาโป หมายถึงธาตุน้ำอันเป็นส่วน ประกอบที่ไม่มีวิญญาณครอง คือน้ำจากรากหรือเหง้าต้นไม้ น้ำจากลำต้นของต้นไม้ น้ำจากเปลือกไม้ น้ำจากใบไม้ น้ำจาก ดอกไม้ หรือน้ำจากผลไม้ นี่เป็นธาตุน้ำภายนอก

         ค. กสิณอาโป หรือ อารัมณอาโป คือน้ำที่เป็นนิมิตรทั้งปวงในกสิณคือ อาโปกสิณนั่นเอง เราจะต้องใช้น้ำเป็น
อารมณ์ในการทำสมาธินั้น โดยใช้เป็นบริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต เป็นต้น

         ง. ปกติอาโป หรือ สัมมติอาโป คือน้ำตามปกติที่สมมุติเรียกกันว่าน้ำ ได้แก่น้ำที่ใช้ดื่ม ที่ใช้อาบ น้ำในบ่อ น้ำใน
คลอง เป็นต้น

         อาโปหรือธาตุน้ำนี้เป็นรูปธาตุ เป็นเครื่องสมาน เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวรูปทั้งหลายที่เกิดร่วมด้วยตนนั้นให้รวมกันอยู่ได้ ไม่ให้กระจัดกระจายไป เหมือนดังน้ำผึ้งผสมยาผงเพื่อประสานให้ปั้นติดกันเป็นก้อน เป็นรูปยาลูกกลอนตามที่พวกเราได้เคยเห็น

         จากหลักการที่ผมกล่าวในเรื่องธาตุดินกับธาตุน้ำทั้งสองนี้ ถ้าพวกเราที่ใช้ปัญญาสักหน่อยเราก็จะเห็นได้ว่าเราเอาน้ำกับ ดินมาคิดค้นขึ้นแล้ว เราจะรู้ได้ว่ากระดูกนั้นมันเป็นดินมีน้ำผสมอยู่ด้วย ฉะนั้นในการหักหรือการเดาะของกระดูกนั้น ถ้าเราจะ ประสานให้มันดีขึ้นเหมือนอย่างเดิม ก็หมายความว่าเอาน้ำกับดินเข้าไปป้ายมันนั่นเอง นี่ในหลักการของธรรมะ ถ้าในหลักการ
ของโลกปัจจุบัน เขาใช้การเข้าเฝือกให้ธาตุดิน คือ แคลเซียม และธาตุน้ำในร่างกายนั้นมัน ไหลประสานติดต่อกันเป็น
ธรรมชาติของมัน ฉะนั้นการรักษาโรคกระดูกหัก เราจะเห็นได้ว่าสามารถทำได้เป็นสองวิธี คือวิธีการ ทางวิทยาศาสตร์หรือ
แพทย์ปัจจุบันก็คือการเข้าเฝือก ทิ้งไว้เป็นระยะเวลาประมาณเดือนหนึ่งหรือเดือนกว่าเพื่อให้กระดูกประสานกัน แต่ถ้าภาษา
ธรรมะ ผู้ใดที่มีสมาธิอันเกิดจากปฐวีและสมาธิอาโปผสมกัน และมีพลังอันแก่กล้า มันก็ประสานกระดูก อันนั้นให้ติดต่อกันได้ ดังเราจะเห็นว่าเกจิอาจารย์บางคนที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่ประสานกระดูกน่ะเขาประสานโดยเข้าไม่รู้ตัวว่าเขาได้นำเอาธาตุทั้งสอง
นี้เข้าไปร่วมกัน อย่างเช่นที่มีบางแห่งใช้ถากไม้แล้วก็บริกรรมภาวนาทำให้กระดูกติดกัน ทำอย่างนี้กี่วัน ไม่รู้ ผมไม่รู้ สัก ๖-๗ วันหรือไง ทำอย่างนี้อะไร ไม้นี่คืออะไร ไม้นี่คือดินและมีน้ำประกอบอยู่ด้วย ก็เมื่อเขาบริกรรมภาวนา เท่ากับทำสมาธินั่นเอง
แหละ มันก็เข้าไปนะซิ ถ้าเรามีสมาธิที่ทำจากดินหรือจากน้ำโดยตรง มิต้องถากไม้ใช้เวลาให้มันมากมาย ถึงแค่นั้นมิดีกว่ารึ นี่ แต่ทีนี้แล้วแต่พลังของผู้มีสมาธินั่นน่ะจะแก่กล้าแค่ไหน นี่ ผมบอกเคล็ดลับให้ แต่อย่าไปตั้งตัวเป็นผู้วิเศษเสียล่ะประเดี๋ยวจะยุ่ง
กันทีหลัง

๓. เตโช

         นอกจากธาตุน้ำซึ่งเป็นมหาภูตรูปที่เราได้พูดกันมาสองตัวแล้วคือ ปฐวีและอาโป ต่อไปนี้เราควรจะได้ทำความรู้จักกัน กับธาตุตัวที่ ๓ ต่อไปนี้เรียกว่า เตโชธาตุ หรือ ธาตุไฟ นั่นเอง

         ลักษณะของธาตุไฟในที่นี้ ตามที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งทรงตรัสไว้ในรูป ๒๘ ลักษณะของธาตุไฟก็คือมีการ ร้อนเป็นลักษณะ ร้อนนะถึงจะเป็นไฟ มีการสุกงอมเป็นกิจ คือทำหน้าที่ให้มันสุกงอมได้ เราจะเห็นเขาบ่มผลไม้ เอาไปอบในที่ ร้อนๆ อาจจะจุดธูปก็ได้ เดี๋ยวนี้สมัยใหม่เขาใช้แก็ส ผิวข้างนอกสุกดีแต่ข้างในกินไม่เป็นรส สู้ทำอ้ายชนิดที่ไม่มีความเร่งรัดใช้
ธูป แต่ก่อนนี้เขาใช้ธูปหรือไม่ก็ใช้ผ้าคลุมให้มันอบอุ่นให้มันร้อนคือ ร้อนแต่พอควร อ้ายอย่างนี้สุกแล้วกินอร่อยกว่า มีการร้อน
เป็นลักษณะ มีการสุกงอมเป็นหน้าที่ มีการทำให้อ่อนนิ่มเป็นผล เห็นไหม ท่านตรัสไว้แล้วเมื่อ ๒๕00 กว่าปีนี้ และเดี๋ยวนี้เรา
ยังนำมาใช้ได้ผลเช่นเดียวกัน และมีธาตุที่เหลืออยู่อีก ๓ ธาตุอันได้แก่ ธาตุดินคือปฐวี ธาตุน้ำได้แก่อาโป และธาตุลมได้แก่
วาโย เป็นเหตุใกล้ จากหลักการดังกล่าวนี้ เราจะเห็นได้ว่าธรรมชาติใดที่ทรงภาวะสุกงอมก็ดี ความอบอุ่นก็ดี ที่มีอยู่ในกาย
นั้นเรียกว่า เตโชธาตุ ที่ว่าเตโชธาตุมีการร้อนเป็นลักษณะนั้น ผมหมายถึงความเย็นด้วยนะเพราะความเย็นนั้นคือร้อนน้อยนั่น
เอง นี่ผมเอา อุณหภูมิตามองศาตามหลักวิทยาศาสตร์มาพูด ซึ่งตรงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับหลักพระธรรม ท่านจึงใช้ว่า
อุณหเตโช หมายถึงความร้อน และสีตเตโชหมายถึงความเย็น ซึ่งเป็นลักษณะธาตุไฟด้วยกันทั้งคู่ เราจำไว้ก็แล้วกัน ร้อนมันก็
ต้องมีเย็น แต่ความจริงอ้ายเย็นนั้นมันคือร้อนน้อยนั่นเอง อย่างที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ทุกข์นั่นเป็นอริยสัจจะ บางคน
บอกว่าฉัน สุขนี่ พระพุทธเจ้าบอกว่าไม่ใช่ นั่นคือทุกข์น้อยนั่นเองเหมือนกัน ทีนี้ถ้าเราแยกแยะประเภทของธาตุไฟหรือ
เตโชธาตุให้ละเอียดลออออกไปแล้ว เราจะเห็นได้ว่าเตโชธาตุนั้นแบ่งออกเป็น ๔ ประเภทด้วยกัน ดังนี้คือ

         ก. ลักขณเตโช หรือ ปรมัตถเตโช อันได้แก่ลักษณะของธาตุไฟคือ อุณหเตโช คือลักษณะร้อน และสีตเตโช คือลักษณะเย็น หรือร้อนน้อยนั่นเอง นี่ ลักษณะ ๒ อันนี่เราจะต้องจำให้แม่นเพราะเราจะต้องนำมาใช้พิจารณาในภายหลัง เมื่อ สติมันสะกิดให้เรารู้ว่าความจริงอะไรได้เกิดขึ้นแล้ว เราจะต้องรู้ทันที

         ข. สสัมภารเตโช ก็ได้แก่สัมภาระหรือหน้าที่ของธาตุไฟหรือไฟนั่นเอง ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทที่
๑ เรียกว่า อัชฌัตติกเตโช
คือธาตุไฟภายใน หมายถึงธาตุไฟอันเป็นส่วนประกอบ ที่มีอยู่ในสรรพางค์กายที่มีวิญญาณครอง คำว่า มีวิญญาณครองนี้มนุษย์ก็เหมือนกันนะ อ้ายหมาที่เห่าโฮ้งๆ ก็เหมือนกันนา มีธาตุไฟเหมือนกันนะ ประเดี๋ยวจะบอกมีแต่มนุษย์ หมาไม่มีไม่ใช่ ปลาก็มีเหมือนกัน ธาตุไฟภายในนี่มีอยู่ ๔ ประเภท ดังนี้คือ

         อุสมาเตโช หมายถึงไฟที่ทำให้ร่างกายมีความอบอุ่นพอสบาย ไฟชนิดนี้มันจะทำให้ร่างกายมีความอบอุ่น ที่เราอยู่กัน ได้ทุกวันนี้เพราะว่า อุสมาเตโช นั่นเองที่มีอยู่ประจำทั่วร่างกาย นี่อันหนึ่งนะ

         ปาจกเตโช คือไฟที่ใช้ในการย่อยอาหารที่เราเรียกกันทั่วๆ ไปว่า ธาตุไฟนั่นเอง มันเป็นอุณหเตโช คือมีความร้อน มีเป็นประจำและมีอยู่ที่ลิ้นจนถึงทวารหนัก ที่ลิ้นก็หมายความว่าน้ำย่อยอาหารนั่นเอง เมื่อเรากินเข้าไปจนถึงอุจจาระที่ถ่ายออก มามีธาตุไฟทั้งนั้น ไฟในการย่อย

         ชิรณเตโช คือไฟที่บ่มให้ร่างกายทรุดโทรมเหี่ยวแห้ง เป็นทั้งอุณหเตโชและสีตเตโชที่มีเป็นประจำในร่างกาย ไม่ว่าคน หรือสัตว์ อันนี้แหละ ผู้ใดอยากเป็นหนุ่มเป็นสาวให้อยู่ตลอดไปไม่แก่ไม่เฒ่า ก็ต้องตัดชิรณเตโชออกไปเสีย แต่พระพุทธเจ้าไม่ เคยสอนให้เรื่องนี้ ฉะนั้นพวกคุณทุกคนก็คงต้องแก่ไปตามวัยตามอายุ แต่ถ้าคิดค้นได้อาจจะเป็นสาวอยู่ได้นะ นี่ ชิรณเตโชตัวนี้

         สันตาปนเตโช คือไฟที่ทำให้ร้อนเย็นเป็นไข้ได้ป่วย ตัวนี้เป็นอุณหเตโชคือความร้อนที่จรมาเป็นครั้งคราวเท่านั้น ตัวนี้ แหละเป็นตัวสำคัญที่พวกเราบางคนรวมทั้งผมด้วย อยู่ดีๆ ประเดี๋ยวห่มผ้าสั่นงั่กๆ ต้องกินยาเข้าไปแล้ว การเป็นไข้นั่นเอง เป็นด้วย ซึ่งท่านบอกว่าเป็นด้วยอุณหภูมิ ที่เราเคยพูดไว้แล้ว สาเหตุของอาการป่วยน่ะ อุณหภูมินี่ตัวนี้แหละ ถ้าผู้ใดเจริญ สมาธิแล้วด้วยมหาภูตรูป ๔ เป็นอารมณ์จนแก่กล้าแล้ว ก็สามารถที่จะปรับปรุงตัวของตัวเองให้หายจากการป่วยไข้ได้โดยไม่ ยากนัก นี่เป็นลักษณะของหน้าที่ของธาตุไฟภายในนะ

         ทีนี้หน้าที่ของธาตุไฟภายนอกซึ่งเป็น สัมภารเตโช ประเภทที่ ๒ เรียกว่า พาหิรเตโช คือธาตุไฟภายนอก หมายถึง ธาตุไฟอันเป็นส่วนประกอบที่ไม่มีสิ่งที่มีวิญญาณครอง คือธาตุไฟที่ไม่มีวิญญาณ ได้แก่ ไฟฟืน ไฟหญ้า ไฟแกลบ ไฟขยะ อะไรเหล่านี้ เป็นต้น นี่สมัยนี้นะ ท่านไม่ได้บอกว่าเตาไฟฟ้า เพราะเตาไฟฟ้าสมัยโน้นไม่มี ท่านถึงยังไม่ได้พูดเอาไว้ นี่เป็น ลักษณะของธาตุไฟภายนอก หรือท่านยังบอก ขอโทษนะ อุจจาระของพวกเราที่ถ่ายออกมาใหม่ๆ ลองเหยียบแป๊บเข้าซี อุ่น นี่ ไฟตัวนี้แหละ พาหิรเตโชล่ะมันถ่ายออกมาแล้วนี่ เป็นคูถ มีธาตุไฟปนด้วย

         ค. กสิณเตโช หรือ อรัมณเตโช คือไฟที่เป็นนิมิต ในการทำสมาธิ ไม่ว่าบริกรรมนิมิต ไม่ว่าอุคคหนิมิต หรือปฏิภาค นิมิต นี่เป็นกสิณเตโชทั้งสิ้น

         ง. ปกติเตโช หรือ สัมมติเตโช คือไฟตามธรรมดาที่ใช้ในการหุงต้มนั่นเอง เมื่อกี้นี้ผมพูดผิดไปนะว่าเตาไฟฟ้าไม่มี ฉะนั้นไฟในการหุงต้มนี่ เตาไฟฟ้าก็เข้าไปเกี่ยวด้วย พระพุทธเจ้าพูดคลุมไว้หมดแล้ว เตโชนี้แม้จะเป็นรูปธาตุซึ่งต้องอาศัย ความสัมพันธ์ของธาตุอื่นๆ ก็ตาม แต่ว่าพูดถึงประสิทธิภาพแล้วน่ะ เตโชนี่เหนือธาตุอื่นๆ ตรงที่ว่าสัตว์ทั้งหลายอายุจะยืนหรือ ไม่นี่ขึ้นอยู่กับเตโชตัวนี้แหละ อะไรถึงเป็นเช่นนั้น อุสมาเตโช เห็นไหม ในการทำความอบอุ่นให้ร่างกาย ถ้าทำความอบอุ่นให้
ร่างกายไม่พอ เพราะอุสมาเตโช นี่ประการหนึ่ง และตัวปาจกเตโชคือการทำย่อยอาหารไม่พอหนึ่ง สัตว์นั้นมันก็มีชีวิตต่อไปไม่
ได้ เราจะเห็นว่าคนที่ตายสักชั่วโมงหรือสองชั่วโมงเย็นเจี๊ยบไปแล้ว นี่ ธาตุไฟหนีไปหมดแล้ว อัชฌัตติกเตโชคือธาตุไฟภายในนี้ ถ้าเราจะพิจารณาให้ ละเอียดลงไปอีกแล้ว มันก็แสดงลักษณะต่างๆ ดังต่อไปนี้คือ

         ๑. อุสมาเตโช หน้าที่ก็คือทำความอบอุ่น ลักษณะก็คืออุณหะมีทั่วไฟในกายตัวเรา
         ๒. ปาจกเตโช หน้าที่ทำการย่อยอาหาร ลักษณะก็คืออุณหะฐานที่ตั้งก็คือจากลิ้นถึงทวารหนัก
         ๓. ชิรณเตโช คือการบ่ม กิจนะหน้าที่การบ่ม ลักษณะอุณหะและสีตะ มีไปทั่วร่างกายเรา
         ๔. สันตาปนเตโช หน้าที่ร้อน ลักษณะอุณหะ ฐานที่ตั้งอาคันตุกะ หมายความว่ามาเป็นครั้งคราว ที่ทำให้เราเจ็บ
ป่วย เวลาวิทยุประกาศอุณหภูมิจะเปลี่ยนแปลง นี่แหละตัวนี้เรียกว่า อาคันตุกะ ฐานที่ตั้งมาเป็นครั้งคราว
         ๕. ทาหนเตโช หน้าที่ทำให้กระวนกระวาย ลักษณะก็อุณหะและสีตะนั่นเองอีกนั่นแหละพื้นฐานที่มาคืออาคันตุกะ มาเป็นครั้งคราว เราจะเห็นได้ว่าเตโชธาตุนี้มันเป็นเรื่องที่สำคัญ สำคัญอย่างไรในฐานะที่เราเป็นปุถุชน เราก็ไม่อยากเจ็บไข้ได้ ป่วย แต่ตัวนี้แหละเป็นตัวหนึ่งที่ทำให้มีการเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เสมอๆ ประเดี๋ยวปวดหัวบ้าง ประเดี๋ยวตัวร้อนบ้าง ประเดี๋ยวเป็น ไข้สะบัดร้อนสะบัดหนาวบ้าง กระวนกระวายบ้าง เหล่านี้เป็นเรื่องของเตโชทั้งสิ้น แต่เตโชที่ผมต้องการให้พวกเราทุกคนได้ จดจำไว้ไม่ให้ลืมนั้นก็คือ ความร้อนและความเย็นเท่านั้น เมื่อเราพูดกันในเรื่องมหาภูตรูป ๔ มาถึง ๓ ตัวแล้ว เราก็ทำความรู้ จักกันต่อไป

๔. วาโย

         ตัวที่ ๔ คือ วาโย หรือ ลม วาโยหรือลมนี้ มีการเคร่งตึงเป็นลักษณะ มีการไหวเป็นกิจ มีการโน้มไปเป็นผล มี
ธาตุทั้ง ๓ ที่เหลือคือดิน น้ำ ไฟ เป็นเหตุใกล้ จากการหลักการดังกล่าวข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าวาโยธาตุนั้นเป็นธรรมชาติซึ่ง
ทรงภาวะ ความเคร่งตึงก็ดี การไหวก็ดี ที่มีอยู่ในกายนั้นเรียกว่า วาโยธาตุทั้งสิ้น วาโยธาตุหรือธาตุลม นั้นแบ่งเป็น ๔
ประเภทดังนี้คือ

         ก. ลักขณวาโย หรือ ปรมัตถวาโย ซึ่งเราจะต้องจดจำไว้ให้แน่นอน นั่นคือ เคร่ง ตึง และไหว โคลง นี่เป็นลักษณะ
ของวาโยทั้งสิ้น จำไว้ ธรรมะในขั้นสูงเราจะต้องเข้าใจคำนี้ให้ลึกซึ้ง มิฉะนั้นเราจะไม่สามารถผ่านความรู้ในทางธรรมขั้นสูงไปได้

         ข. สสัมภารวาโย หรือสัมภาระของลม คือหน้าที่ของลมนี่แบ่งเป็น ๒ ประเภท ประเภทที่ ๑ เรียกว่า
อัชฌัตติกวาโย
หมายถึง ธาตุลมภายใน มีอยู่ ๖ ชนิด ดังนี้คือ
         อุทธังคมวาโย คือลมพัดขึ้นเบื้องบน เช่น การเรอที่เอิ้กๆ นี่ การหาว การไอ การจาม นี่เรียกว่าอุทธังคมวาโยคือ
ลมพัดขึ้นเบื้องบน
         อโธคมวาโย คือ ลมพัดลงสู่เบื้องต่ำ ได้แก่ การผายลม การเบ่งเวลาเราจะอึเราก็เบ่ง เราจะฉี่เราก็เบ่ง นี่เป็นลมพัด ลงเบื้องต่ำ จากข้อนี้เราจะเห็นในมหาสติปัฏฐานสูตรในสัมปชัญญบรรพะ ท่านตรัสไว้ว่า จะถ่ายอุจจาระถ่ายปัสสาวะก็ต้องให้
รู้ รู้ตัวนี้ คือรู้ธาตุลมนั่นเอง
          กุจฉิสยวาโย หรือ กุจฉิฏฐวาโย คือลมในช่องท้อง อ้ายลมในช่องท้องนี่แหละทำให้พวกเราหน้านิ่วคิ้วขมวด
ก็ได้แก่ การปวดท้อง เสียดท้อง ดังนี้เป็นต้น เรื่องลมนี้ขอให้พวกเราจำให้ดีนะ แล้วจะได้เป็นประโยชน์ในภายหลัง
          โกฏฐาสยาวาโย คือ ลมในลำไส้ เช่นท้องลั่น ท้องร้อง เป็นต้น
          อังคมังาคนุสาริวาโย คือ ลมที่พัดอยู่ทั่วร่างกาย ทำให้ร่างกายไหวได้ เห็นไหมเราเขียนหนังสือจิ๊กๆ อยู่ ลมนะ ถ้าเราไม่มีลม เขียนหนังสือไม่เป็นตัว ต้องรู้
          อัสสาสปัสสาสวาโย คือ ลมหายใจเข้าหายใจออก

         ทั้ง ๖ ประเภทเป็นลมภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลมภายใน คือ ลมในช่องท้องที่ทำให้ปวดให้เสียดท้องนั้น ถ้าเราศึกษา ให้ดีแล้ว เรามีสมธิอยู่ในมหาภูตรูป ๔ อย่างแก่กล้าแล้ว การแก้ไขเล็กนิดเดียว

         สสัมมภารวาโย ประเภทที่๒ เรียกว่า พาหิรวาโย หมายถึงลมภายนอก หมายถึงธาตุลมอันเป็นส่วนประกอบที่มี
อยู่ในสิ่งที่ไม่มีวิญญาณ เช่น ลมทิศตะวันออก ลมทิศตะวันตก ลมทิศเหนือ ลมในทิศใต้ ลมร้อน ลมเย็น อ้ายนี่ ลมในสิ่งทีไม่มี
วิญญาณ

         ค. กสิณวาโย หรือ อารัมณวาโย คือ ลมที่เป็นกสิณทั้งปวงหรือพูดกันอย่างง่ายๆ ลมที่เอามาทำอารมณ์เป็นสมาธิ กัมมัฏฐานนั่นเอง ในเรื่องนี้ไม่ว่าจะบริกรรมนิมิต ไม่ว่าจะเป็นอุคคหนิมิต หรือปฏิภาคนิมิต ถือว่าเป็นกสิณวาโยทั้งสิ้น

         ง. ปกติวาโย หรือ สัมมติวาโย คือ ลมธรรดาที่พัดผ่านไปมานี่แหละ เราเรียกว่าปกติวาโยหรือสัมมติวาโย

         จากวาโยธาตุนี้ยังไม่หมด แต่เทปจะหมดม้วนแล้ว ผมก็ขอยุติในเรื่องทำความรู้จักกับรูปธรรมไว้เพียงแค่นี้ก่อน
วันหลัง เราจะได้พูดกันต่อไป ธาตุไฟที่ท่านสงสัยนะ ท่านจำไว้เท่านี้มีความร้อนเป็นลักษณะ มีการสุกงอมเป็นกิจ มีการทำ
ให้อ่อนนุ่มเป็นผล นี่เป็นลักษณะที่สำคัญ แต่มันจะเป็นเรื่องไฟภายใน ไฟภายนอก ผมว่าปล่อย ไม่จำเป็นต้องนั่นหรอก เพราะว่าสิ่งที่จะนำ มาใช้ในการเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ สำคัญอยู่ที่ลักษณะของไฟเท่านั้น พอจะเข้าใจไหม ต้องเข้าใจนะ ลักษณะของไฟนี่มันมีความร้อน เช่นเดียวกับลักษณะทุกข์ ที่พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นสัจจะ คือความทุกข์ ทีนี้พอคนเรามีสุข บอกว่าสุข ความจริงไม่ใช่ มันทุกข์น้อย แต่เวลาเย็น ลักษณะของธาตุไฟก็เหมือนกัน ถ้ามีความเย็นเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าความเย็น แต่มันเป็นความร้อนน้อย เราเรียกว่าเย็นนั่นเอง จะเรียกว่าเย็นก็ได้ ตามความรู้สึกของเรา แต่หลักของธรรมะไม่เรียกว่าเย็น เรียกว่าร้อนน้อย พอจะเข้าใจไหม

จบเรื่องทำความรู้จักกับรูปธรรม ตอนที่ ๒