บุคคลที่หาได้ยาก ๒ อย่าง

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

รูปัง ชีระติ มัจจานัง นามะโคตตัง นะ ชีระติ
ร่างกายของสัตว์ย่อยยับได้ แต่ชื่อและสกุลไม่ย่อยยับ

พุทธภาษิตดังกล่าว หมายถึง ร่างกายของคนเราทั้งหลายนั้น ย่อมถึงแก่กาลเวลาที่จะต้องแตกดับหรือตายไปได้
ตามธรรมชาติ แต่ชื่อเสียงของคนเรานั้น มิได้ตายไปตามร่างกายที่แตกดับไป ซึ่งหมายถึง คนเรานั้นแม้จะตายไปแล้ว แต่ความดีหรือความชั่วที่ผู้นั้นได้ทำไว้ มิได้แตกดับไปพร้อมกับร่างกายแต่ประการใด ดังนั้นคนเราทุกคน เมื่อเกิดมาแล้ว
ในชาตินี้ เขาผู้นั้นย่อมจะได้ทำบุญกุศลผลบุญมาแต่ในอดีตชาติ ชนกกรรมจึงเป็นตัวทำหน้าที่ทำให้เขาได้เกิดมาเป็น
มนุษย์ เพราะเหตุนี้แหละที่มนุษย์ที่เกิดมานั้นในอดีตเขาจะต้องทำกรรมดีมาแล้ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เกิดมาเป็น
มนุษย์นี้ โอกาสอันดียิ่งจะปรากฏแก่เขา ทั้งนี้เพราะมนุษย์นั้นเป็นภพภูมิที่สามารถที่จะสร้างได้ทั้งความดีและความชั่ว
ถ้าเรายังรักชื่อและสกุลของเราอยู่ เราก็ควรจะตั้งหน้าทำกรรมดีให้เกิดขึ้น และเว้นกรรมชั่ว อย่าได้ประพฤติปฏิบัติแต่
อย่างใด จึงจะได้ชื่อว่า เราได้เข้าถึงพระพุทธศาสนาโดยชอบแล้ว

วันนี้เป็นวันสำคัญวันหนึ่ง เนื่องจากเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเราที่เป็นชาวพุทธ
ศาสนานี้ คงจะได้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณกันบ้าง เราอยู่กันด้วยความสุขความสบายนี้ ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของ
พระองค์ท่าน หากมิฉะนั้นแล้ว ประเทศเราอาจจะเปลี่ยนลัทธิใดลัทธิหนึ่ง ซึ่งทำความยุ่งยากให้เกิดขึ้นก็ได้ เหตุนี้แหละ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงประดุจบิดาของชาวไทยทั้ง ๔๓ ล้านคน ในฐานะที่พวกเราเป็นคนไทยและนับถือ
พระพุทธศาสนา ฐานะของเราก็เปรียบจะเป็นบุตรของพระองค์ท่าน เราควรจะต้องประพฤติปฏิบัติอย่างไร จึงจะได้ชื่อว่า
พวกเราทุกคนได้ดำเนินตามรอยพระบาทไปแล้วด้วยดี ซึ่งหมายความว่า เราจะต้องทำหน้าที่ของเราประการใด
จึงจะเป็นการถูกต้องและจำเริญรอยตามพระยุคลบาท ที่ได้มีบุญคุณเหนือชนชาวไทยทั้ง ๔๓ ล้านคนนั้น โดยเฉพาะ
ความเห็นของผม รู้สึกว่าการประพฤติปฏิบัติตนตามรอยพระยุคลบาทนั้น เมื่อเช้านี้ผมออกไปข้างนอก ก็ได้เห็นประชาชน
เข้าใจว่าคงจะเป็นพวกลูกเสือชาวบ้าน ได้ร่วมกันทำความสะอาดถนนรนแคม ต่าง ๆ ซึ่งเห็นแล้วก็น่าปลื้มใจ แต่พวกเรา
ไม่มีโอกาสจะทำกับเขาเช่นนั้น และการทำเช่นนั้นมันก็เป็นการทำชั่วขณะ เราน่าจะทำสิ่งที่มีราคายิ่งกว่านั้นอีก
เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมในอนาคต และเพื่อประโยชน์ของส่วนตัวในปัจจุบัน เราจะต้องทำอย่างไร จึงจะเป็นบุคคล
ที่มีค่าและหาได้ยากที่สุด และมีราคาสูงสุด อันสมควรที่จะเดินตามรอยพระยุคลบาท

ในเรื่องนี้ ตามพระพุทธศาสนา ในอังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ตติยปัญณณาสก์ ข้อที่ ๓๖๔ สมเด็จพระสัมมาสัม
พุทธเจ้า ได้ทรงตรัสไว้ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๒ จำพวกนี้หาได้ยากในโลก ๒ จำพวกนี้เป็นไฉน คือ บุพพการีบุคคล ๑
กตัญญูกตเวทีบุคคล ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๒ จำพวกนี้แล หาได้ยากในโลก"

คำว่า "บุพพการี" นี้แปลตามศัพท์ ก็หมายถึง ผู้ให้อุปการะก่อน ส่วน "กตัญญูกตเวทีบุคคล" นั้น หมายถึง ผู้รู้จักคุณที่ท่านอุปการะ ผู้ที่รู้จักคุณที่ท่านอุปการะ แล้วสนองตอบคุณท่าน นี่ ถ้าเราพูดมาเพียงแค่นี้ ท่านทั้งหลายอาจ
จะเข้าใจว่า คงเป็นพ่อ เป็นแม่ และลูกละกระมัง แต่ความจริง บุพพการี และกตัญญูกตเวทีนี้ เป็นข้อความที่กว้างขวาง
พ่อแม่บางคนอาจจะเป็นบุพพการีก็ได้ และไม่เป็นบุพพการีก็ได้ ทำไมถึงจะเป็นเช่นนั้น ในสมัยโบราณ ในชีวิตของ
พวกเรารุ่นผู้ใหญ่หน่อย ผมเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนเป็นบุพพการี แต่ในสังคมปัจจุบันนี้ผมยังสงสัยอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
พวกเราชาวพุทธนี้ ส่วนใหญ่บิดามารดาหรือพ่อแม่นั้น ส่วนใหญ่เป็นบุพพการี แต่ลัทธิตรงกันข้ามซึ่งเราเรียกกันว่า
สังคมนิยมนั้น คำว่า บุพพการี หรือ กตัญญูกตเวที นี้ไม่มีความหมาย

ดังนั้นขอให้พวกเราเข้าใจให้ดีว่า คำว่า บุพพการี หรือ กตัญญูกตเวที นั้น ไม่ใช่อยู่ในขอบเขตจำกัดของพ่อแม่
เท่านั้น บุคคลผู้ใดที่เขาให้อุปการะโดยไม่มีหวังผลตอบแทน และประกอบด้วยคุณธรรมแล้ว คนเช่นนั้นเราเรียกว่า
บุพพการี และบุคคลใดที่เป็นผู้รู้จักบุญคุณที่เขาอุปการะ และสนองตอบคุณท่านนั้น เรียกว่า กตัญญูกตเวที

ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า บุคคล 2 ประเภทนี้ หาได้ยากความรู้สึกของพวกเรา
อาจจะค้านกับพุทธพจน์เช่นนั้น เพราะอะไร เพราะพวกเรานี่ ทุกคนอยู่ในพุทธศาสนาด้วยศรัทธาโดยความเคร่งครัด
ซึ่งไม่เหมือนกับคนอื่นเขา ประเทศเรายุ่งยากเกิดขึ้นทุกวันนี้ เพราะปัญหาเรื่องบุพพาการีบุคคลและกตัญญูกตเวทีบุคคล
มันหาได้ยากน่ะซิ ปัญหาความยุ่งยากมันถึงได้เกิดขึ้น

เรามาดูกันในเรื่องของเสือ ซึ่งเป็นสัตว์เดรัจฉานกินเนื้อ แต่เสือไม่กินเนื้อลูกของมัน ไม่เคยทำลายลูกของมัน
มันปกป้อง เลี้ยงลูกมาจนเติบโต แต่มนุษย์บางคนซิ ลูกในไส้ของตัวเองแท้ ๆ บางคนก็มีใจโหดร้าย ทำร้ายลูกของตนเอง
โดยไม่มีความรู้สึกตัว สำหรับการทำร้ายที่แสดงออกในทางกายนั้น เป็นเรื่องของกฎหมาย ที่จะให้ความคุ้มครองเด็กคนนั้น
แต่ในสังคมปัจจุบันนี้ เขาทำลายกันโดยไม่รู้สึกตัว นั่นเพราะอะไร เพราะว่าเขาเลี้ยงลูกให้โตขึ้นด้วยอาหาร ไม่ได้เลี้ยงลูก
ให้โตด้วยปัญญา ฉะนั้นเราจะเห็นได้ในสังคมปัจจุบันนี้ ไม่ว่าทางวิทยุก็ดี หรือทางหนังสือพิมพ์ก็ดี ปัญหาสังคมเวลานี้
ส่วนใหญ่เกิดจากวัยรุ่น วัยรุ่นประเภทไหนที่ทำความ ยุ่งยากให้มากที่สุด ก็คือวัยรุ่นที่พ่อแม่ร่ำรวย เพราะว่าพ่อแม่ตาม
ใจลูก โดยอาศัยฐานะของตน ลูกจะทำอะไรไม่เคยว่าไม่เคยกล่าว เงินทองมีใช้อย่างเหลือเฟือจนเด็กนั้นลืมตัวไป
แต่พ่อแม่นึกบ้างหรือเปล่าว่า ไม่สามารถจะเลี้ยงลูกให้ได้อยู่ถึงตลอดชีวิต เมื่อเขามีอันเป็นไปอย่างไร ลูกนั้นจะทำอย่างไร
ก็กลายเป็นมารของสังคมไป เราจะเห็นได้ว่าพ่อแม่บางคน ลูกนั้นขาดความเคารพยำเกรง อย่างในสังคมของเราปัจจุบันนี้
มีครั้งหนึ่งซึ่งเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ได้นำลัทธินี้มาโฆษณาเผยแพร่และประพฤติปฏิบัติกันจนลามปามไป นี่แหละ
พฤติการณ์ที่เป็นเช่นนี้ ความแตกแยกของคนในชาติ ระหว่างสังคมปัจจุบันกับพวกเราคนหัวโบราณ พุทธศาสนา
คนพวกนี้เห็นว่าไร้สาระไม่มีประโยชน์ เมื่อพฤติการณ์เป็นเช่นนี้แล้ว เราลองมาพิจารณาดู คนกับสัตว์มันมีความรู้สึก
ใกล้เคียงกันเข้าไปทุกที เพราะเหตุไร เพราะว่าความรู้สึกป่าเถื่อนมันยิ่งลามปามเข้ามาทุกทีแล้วในสังคมของเรานี้
พวกเรานี้คงจะอยู่ไปอีกไม่นานนัก ก็คงจะหนีลัทธิหรือความคิดความเห็นเหล่านี้ได้

เมื่อมาพูดการเปรียบเทียบระหว่างคนกับสัตว์แล้ว คนก็มีชีวิต สัตว์ก็มีชีวิต ผมอยากจะนำเอาหลักธรรมในการ
เปรียบเทียบระหว่างคนกับสัตว์นั้น มีความเหมือนกันอย่างไร มีความแตกต่างกันอย่างไร

ความเหมือนกันระหว่างคนกับสัตว์ ก็คือ

๑ ในเรื่องการกิน สัตว์ก็ดี มนุษย์ก็ดี จำเป็นจะต้องกินอาหาร บริโภคอาหาร เพื่อความยังชีวิตให้เป็นอยู่ต่อไปได้
ไม่ว่าคนไม่ว่าสัตว์ถ้าขาดอาหารเสียแล้ว ก็ไม่สามารถยังชีวิตให้อยู่ต่อไปได้

๒ ความเหมือนกัน ระหว่างคนกับสัตว์ ประการที่ ๒ ก็คือ คนและสัตว์นั้นต่างก็มีความรักชีวิตของตน เราสังเกต
ดูเถอะ จะเป็นสัตว์ใหญ่แค่ไหนหรือเล็กประการใดก็ดี ต่างก็รักชีวิตกันทั้งนั้น ไม่มีสัตว์ไหนที่ไม่เสียดายชีวิต แม้แต่มด
ตัวเล็ก ๆ เราลองดูซิ มันก็มีความรักชีวิต คือความกลัว ก็เช่นเดียวกันกับบุคคล เมื่อเกิดมาแล้วไม่มีใครอยากจะตาย
อยากจะอยู่ให้นานที่สุดที่จะแสนนานได้ แม้แต่ชีวิตเขานั้นจะตกทุกข์ได้ยากลำบากประการใด เขาก็ขอให้มีชีวิตอยู่เถอะ
ในเรื่องปัญหาเช่นนี้ ลองไปซิ ถ้าพวกเราบางคนมีโอกาสได้ไปคุยกับนักโทษ แม้เขาจะติดคุกติดตะรางนานสักเท่าไหร่ก็ดี
เขาทนได้ แต่ถ้าเขารู้ว่าเขาจะถูกนำเอาไปประหารชีวิต มันอ่อนเปลี้ยเพลียแรงไปหมด เมื่อครั้งสมัยจอมพลสฤษฎ์ยังอยู่
เขาถ่ายทอดทีวีมาให้ดู เดินไม่ได้ เขาต้องใส่รถเข็น เข็นเอาไป เพื่อที่จะยิงเป้า นี่ แสดงว่า ไม่ว่าคนว่าสัตว์มีความกลัว
ทั้งนั้น เรื่องนี้ธรรมะได้บอกเอาไว้แล้วตั้ง ๒๕๐๐ กว่าปี ก็ยังใช้กันได้จนในปัจจุบันนี้

๓ ความเหมือนกันประการที่ ๓ ระหว่างคนกับสัตว์ ก็คือ การสืบพันธุ์ ทั้งนี้เพราะอะไร

ประการแรก เพราะว่าคนและสัตว์นั้น ก็ต่างก็ยังข้องอยู่ในกามกิเลสด้วยกันทั้งสิ้น เพราะในวัฏฏะที่เวียนว่ายตายเกิด
กันมาใน ๓๑ ภพภูมินั้น อย่าเข้าใจนะในอดีตนั้น เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์มาทุก ๆ ชาติ ไม่ใช่ เราอาจจะเป็นสัตว์นรกก็ได้
เราอาจจะเป็นเปรตก็ได้ อาจจะเป็นอสุรกายก็ได้ อาจจะเป็นเดรัจฉานก็ได้ อาจจะเป็นมนุษย์ก็ได้ เป็นเทวดาก็ได้ เป็น
พรหมก็ได้ ในวัฎฎะ ๓๑ ภพภูมินี่ มันผลัดเปลี่ยนเวียนวนกันไป แล้วแต่ว่ากุศลตัวไหน ถ้าเราสร้างกุศลไว้ อันไหนรุนแรง
ก็เป็นตัวชนกกรรม ทำให้เราเกิดในภพภูมิดี ๆ ถ้าเวลาใดจังหวะกรรมชั่ว หรือเรียกว่าอกุศลวิบาก มันปรากฏขึ้น
กรรมนั้นก็ทำให้ชนกกรรมนำเราไปสู่ภพภูมิที่ไม่ดี เช่นนี้ เราจะเวียนว่ายตายเกิดกันเช่นนี้ ไม่มีที่สิ้นสุด นอกจากนี้แล้ว

ประการที่ ๒ คนและสัตว์ ที่มีการผสมพันธุ์กันนั้น ก็เพราะว่าตกอยู่ในอำนาจของกามและกิเลส จึงทำการ
สืบพันธุ์กันตามที่กิเลสมีความต้องการ

นี่เป็นความเหมือนกัน ๓ ประเภท ระหว่างคนกับสัตว์ ฉะนั้นเมื่อเรามาพิจารณาดู ตัวเราว่า มีขันธ์ ๕ ครบถ้วนไหม
เรามีรูป มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ ในเทวดามีไหม ขันธ์ ๕ มีเช่นเดียวกัน มีรูปขันธ์ มีเวทนาขันธ์
มีสัญญาขันธ์ มีสังขารขันธ์ และมีวิญญาณขันธ์ และในสัตว์เดรัจฉานมีไหม ก็มีเหมือนกัน เพราะเหตุนี้แหละ ศีลข้อที่ ๑
คำว่า "ปาณาติบาต" ที่ห้ามมิให้ทำลายสัตว์ที่มีชีวิตนั้น ก็หมายความว่า ทำให้วิญญาณกับรูปขันธ์ของสัตว์นั้นแตกดับ
ออกจากกันนั่นเอง ซึ่งเป็นการผิดศีลข้อที่ ๑ นี่ ฉะนั้นเราอย่าเพิ่งทะนงตนของเราไปว่า เราไม่มีโอกาสที่จะเป็นเช่นนั้น อย่า
เพราะเรายังอยู่ในวัฏฏะนี้ เราไม่แน่ จนกว่าเราจะได้บรรลุมรรคบรรลุผลเสียก่อนแล้ว นั่นแหละ ถึงจะเป็นการแน่นอนว่า
เราจะไม่ไปเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิทั้ง ๓๑ ภูมิอีกต่อไป

นอกจากเรามาเห็นความเหมือนกันของสัตว์แล้ว ทีนี้ เราก็มาดู ความต่างระหว่างคนกับสัตว์ นั้น ต่างกันอย่างไง

ความแตกต่างระหว่างคนกับสัตว์ ประการที่ ๑ ก็คือสัตว์นั้นไม่มีคุณธรรมแต่มนุษย์นั้นมีคุณธรรมสูงกว่าสัตว์
ประการที่ ๑

ประการที่ ๒ คุณธรรมของมนุษย์นั้นจะมีมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความหนาหรือความบางของกิเลสที่สะสมในวัฏฏะ
นี่ เห็นไหม แม้แต่เราจะเกิดมาเป็นคนแล้ว ก็ยังเป็นคนที่ไม่เหมือนกันอีก เห็นไหม เราจะเห็นได้ว่าคนเราทุกคน เป็นคน
เหมือนกัน แต่เป็นคนไม่เหมือนกัน ผมพูดอย่างนี้พวกเราบางคนอาจจะข้องใจในเรื่องนี้ ที่ว่าเป็นคนเหมือนกัน
แต่เป็นคนไม่เหมือนกันนั้นประการใด หมายความว่า รูปร่างนี้ ทุกคนเป็นคนเหมือนกันหมด ไม่ว่าเพศหญิง หรือเพศชาย
มี ๒ เพศ เพศหญิงและเพศชาย แต่ทำไม เป็นคนไม่เหมือนกันนั้น จะเหมือนกันได้อย่างไร เพราะจิตของคนเรานั้น
มีตั้ง ๘๙ ดวง คิดดูซิ จะเหมือนกันได้อย่างไร จะเหมือนหรือไม่เหมือน มันอยู่ที่ความหนาความบางของกิเลส พวกเรานี่
ผมเชื่อว่าถ้าเขาจะชวนไปให้ทำผิดกฎหมาย ทำทารุณกรรมใด ๆ ให้เกิดขึ้น ผมว่าพวกเราไม่เอาหรอก แต่ตรงกันข้าม
ถ้าชักชวนพวกเรานี้ให้สร้างบุญสร้างกุศลสร้างทำความดีพวกเราทุกคนเอากันทั้งนั้น แต่เราไปชวนคนอีกประเภทหนึ่งซิ
บอกให้มาสร้างความดี เขาบอกว่าสร้างไปทำไมไม่เห็นได้ประโยชน์อะไร แต่ถ้าชักชวนไปฉกชิงวิ่งราว ไปตีหัวหมา
ด่าแม่เจ๊ก พวกนี้ปร๋อเลย เอาเลย นี่แหละ ความเป็นคนที่เหมือนกัน แต่เป็นคนไม่เหมือนกัน

ทีนี้เมื่อเราได้รู้ความแตกต่างระหว่างคนกับสัตว์ ความหนาความบางของคนและสัตว์แล้ว ผมก็อยากจะพูดถึงเรื่อง
ของบุพพการี ซึ่งหมายถึงผู้ให้การอุปการคุณก่อนนั้น หมายถึงอะไร ในขั้นต้นหมายถึงบิดามารดาก็ได้ ถ้าบิดามารดา
นั้นเขามีคุณธรรมพร้อม และถ้าผู้อื่นให้ความ อุปการคุณด้วยคุณธรรม เขาก็เป็นบุพพการีเหมือนกัน ฉะนั้นคำว่าบุพพการี
ในพระพุทธศาสนานั้นจึงมีความหมายได้กว้างขวาง ไม่ใช่เฉพาะพ่อแม่เท่านั้น อย่างหนังสือพิมพ์ลงและวิทยุออกเมื่อวานนี้
นั่นฆ่าลูกของตัวเอง ลูกในไส้ของตัวเอง ฆ่าเพราะว่าความหิวกระหายเฮโรอีนน่ะมันเกิดขึ้น อย่างนี้ไม่เรียกว่าบุพพการีแน่
แล้วก็ยังจะมีราคาที่ยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉานเสียอีก เพราะเหตุไร เพราะเสือมันยังไม่กินลูกของมันนี่ ทำไมเป็นมนุษย์แท้ ๆ
ยังฆ่าลูกของตัวได้ นี่ เพราะอำนาจกิเลสและตัณหาเท่านั้นเอง

ที่นี้เมื่อเราพูดถึงในเรื่องนี้แล้ว ผมก็อยากจะนำเอาธรรมะที่กล่าวถึง หน้าที่ของบุพพการี มาพูดให้พวกเราฟัง
หน้าที่อันนี้อยู่ใน ทิศ ๖ ซึ่งอยู่ในพระสูตร

(๑) หน้าที่ของบุพพการีประการที่ ๑ มีหน้าที่ คือ ห้ามมิให้ผู้รับอุปการะนี่ กระทำความชั่ว ปัญหาเรื่องนี้
ผู้ใดที่จะตั้งตนเป็นบุพพการีหรือเป็นพ่อเป็นแม่ของคน จำเอาไว้

อันแรก ห้ามมิให้บุตรกระทำความชั่ว คำว่า "ความชั่ว" อันนี้หมายถึงอย่างไร หมายถึง การทำผิดกฎหมายก็ได้
เพราะประเทศที่เจริญแล้วนั้น เราต้องอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องที่จะกำหนดในการบริหารประเทศชาติ เพื่อความสุข
ความสงบ

นอกจากกฎหมายแล้ว เบากว่ากฎหมายนั้น ก็คือ การทำผิดระเบียบแบบแผน เรื่องนี้ เราไม่จำเป็นจะต้องมา
เอารายละเอียดของกฎหมายมาพูดกัน หรือรายละเอียดของแบบแผนมาพูดกัน เพราะว่ากฎหมายนั้นเป็นการลงโทษ
ถ้าผิดระเบียบแล้ว ก็อาจจะเป็นการปรับหรือว่ากล่าว จับใส่คุกใส่ตะรางไม่ได้ เพราะว่ากฎหมายเท่านั้นที่จะเอาคนเข้า
คุกเข้าตะรางได้ เราต้องเข้าใจกันอย่างนี้

เบากว่าระเบียบแบบแผน ก็คือ ขนบประเพณีมีอย่างไรในคนกลุ่มนั้น จะต้องประพฤติปฏิบัติ และห้ามมิให้ผู้ที่อยู่
ในอุปการะ ไม่ว่าลูกหรือคนอื่น ห้ามมิให้เขาทำผิดศีล ไม่ให้ผิดธรรม

นี่ เป็นความหมายของการที่บุพพการีจะต้องทำหน้าที่เช่นนี้ ข้อที่ ๑ ซึ่งห้ามมิให้ผู้ที่อยู่ในอุปการะของตน
กระทำความชั่ว

(๒) หน้าที่อันที่ ๒ มีหน้าที่จะสั่งสอนอบรมบุตรของตัวก็ดี หรือผู้ที่อยู่ในอุปการะก็ได้ ให้ตั้งอยู่ในความดี คำว่า
"ตั้งอยู่ในความดี" นี้ หมายถึงอะไร หมายถึง

๑ เป็นผู้มีศีล อย่างน้อย ๆ ก็เบญจศีล

๒ เป็นผู้มีธรรม คำว่า "ธรรม" ในที่นี้ อย่างน้อยก็สอนให้เขารู้จักมี หิริโอตตัปปะ ซึ่งเราจะเห็นในสังคมปัจจุบันนี้
หาได้ยากเหลือเกิน

๓ นอกจากนั้นแล้ว ต้องสั่งสอนให้เขารู้จักคบคน ต้องสั่งสอนให้เขาคบคน ซึ่งเป็นมงคลชีวิตในมงคลสูตร ๓๘
เราจะสังเกตว่า คนเราที่เสียคนกันได้ทุกวันนี้ ก็ผลเนื่องจากการคบคนไม่ถูกนั่นเอง นี่ ผู้เป็นพ่อแม่หรือบุพพการีนั้น
ต้องสั่งสอนเช่นนั้น เราอย่าเป็นพ่อแม่ เฉย ๆ เอาตำแหน่งบุพพการีเข้ามาไว้ด้วย

๔ นอกจากนี้แล้ว ต้องสั่งสอนให้เขามีปรารภความเพียร สอนให้เขาเพราะคนเราสมัยนี้ เศรษฐกิจเป็นเช่นนี้
ถ้าเราไม่มีความเพียร เราจะต่อสู้กับชีวิตอย่างไร สู้กันไม่ได้

๕ ประการสำคัญที่สุด ก็คือ อบรมสั่งสอนให้เขามีสัปปุริสธรรม ๗ คำว่า "สัปปุริสธรรม ๗" นี้ ผมเคยพูดไปแล้ว
แต่อาจจะมีบางคนที่ในพวกเรานี่อาจจะไม่เข้าใจก็ได้ ฉะนั้นผมจะชี้ให้เห็นว่า มีอะไรบ้าง

๕.๑ คือ เป็นผู้รู้จักเหตุ หมายความว่า ถ้าเขาจะทำเหตุนั้น ๆ ขึ้น ผลมันจะเกิดขึ้นอย่างไร อันนี้ต้องรู้ ส่วนใหญ่
คนเราทุกวันนี้ ทำแล้วถึงได้คิด พังลงไป แล้วซิ ถึงได้คิดว่า อ๋อ อย่างนี้ เหตุมันไม่ถูกนะ นี่ เพราะเหตุไร เพราะเขา
ไม่มีสัปปุริสธรรม

๕.๒ ตัวที่ ๒ สอนให้เขารู้จักผล ผลอย่างไร ผลดีหรือผลชั่วเช่นนั้นมาจากเหตุอะไร สอนให้เขารู้ เพราะหลักใน
ศาสนาพุทธนั้น ท่านสอนให้ทำเหตุ ถ้าทำเหตุดีแล้ว ท่านถือว่า ผลก็จะออกมาดีเอง เราทำจิตให้สงบ ความสงบก็เกิดขึ้น
บุญกุศลก็เกิดขึ้น นี่ เพราะเราเป็นผู้ทำเหตุ ผลที่ได้รับก็คือความสงบ

๕.๓ นอกจากการรู้จักเหตุ และรู้จักผลแล้ว ยังต้องรู้จักตนอีกว่า ตนอยู่ในฐานะอะไร อฐานะอะไร ทำเช่นนั้นถูก
หรือไม่ถูกประการใด ปัญหาในเรื่องการรู้จักตนเดี๋ยวนี้ ในปัจจุบันนี้ ผมรับรองได้ว่า คนน้อยนักที่จะรู้ฐานะและอฐานะ
ของตน ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร อย่างนี้ถึงได้เกิดความไม่สงบกันขึ้นภายในบ้านเมือง ไม่ว่าวงเล็กวงใหญ่วงกว้าง
ขวางแค่ไหน ปัญหาในเรื่องการไม่รู้จักตนของตนนั่นเอง เป็นเหตุ

๕.๔ ประการต่อไป ก็คือ รู้จักประมาณ ที่รู้จักประมาณนี่ ต้องรู้จักว่าฐานะของตนเป็นประการใด เราจะทำอะไร
แค่ไหน ให้รู้จักประมาณ ไม่ใช่คนบางคนมีเงินเดือน ยังไม่ทัน หัวเดือนท้ายเดือนบรรจบกันเลย พอถึงวันต้นเดือนเงิน
เดือนออก ไปอยู่ตามคลับบ้าง ตามเหลาบ้าง อันนี้เรียกว่าไม่รู้จักประมาณ

๕.๕ ประการต่อไป ก็คือ รู้จักกาละ คือรู้จักเวลาว่า เวลาไหน กาลไหน ควรจะทำอย่างไร อย่างข้าราชการประจำ
๒ โมงครึ่ง ต้องถึงออฟฟิศ ๔ โมงครึ่งเลิกจากงาน นี่ เป็นผู้รู้จักกาล แต่ถ้าไปทำงานเอาเที่ยงหรือบ่ายโมง อย่างนี้
ก็เรียกว่าไม่รู้จักกาละ

๕.๖ นอกจากนั้น ตัวที่ ๖ ก็คือ รู้จักเลือกบุคคล การรู้จักเลือกบุคคลนี่เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เราจะเห็น
ได้ว่าการบริหารประเทศที่แล้วๆ มาเพราะเหตุไม่รู้จักการเลือกบุคคล ถึงได้พังกันมานับไม่ถ้วน

๕.๗ ตัวสุดท้าย ก็คือ สอนให้เขาได้รู้จักสังคม หรือหมู่คณะ หมู่ที่อยู่ในศีลในธรรม เขาก็เข้าได้ หมู่ที่เป็นไปใน
ทางโลก เขาก็เข้าได้ ทำตัวให้เข้ากับสังคมได้นั่นเอง

๖ นอกจากนั้นแล้ว บุพพการียังจะต้องมี สอนให้เขามีความสุขและความสงบทางจิต เรื่องความสุขความสงบนี้
ไม่มีอะไรจะดลบันดาลได้ นอกจากตัวของเขาเอง ฉะนั้นผู้ที่เป็น บุพพการี อย่าเป็นพ่อแม่เฉย ๆ เราเป็นพ่อแม่แล้ว
ต้องเอาตำแหน่งบุพพการีที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายกย่องเอาไว้ด้วย ความสงบนั้นเป็นของสำคัญยิ่งในชีวิตของ
คนเรา ฉะนั้นเราจะต้องให้ความรู้เขาสั่งสอนเขา นี่ เป็นในหัวข้อว่า สอนให้เขาตั้งอยู่ในความดี

(๓) ทีนี้ หน้าที่อันที่ ๓ ของบุพพการี ที่จะให้แก่ผู้อยู่ในอุปการคุณนั้น ก็คือให้ศึกษาศิลปวิทยา การให้การศึกษา
ศิลปวิทยานี้ เพื่ออะไร เพื่อให้เขาได้มีพื้นฐานในการดำรงชีวิตตามอัตภาพและฐานะ และเพื่อให้เขาได้มีความสุขความ
เจริญโดยชอบ ผมใช้คำว่า "โดยชอบ" นะ ไม่ใช่เราเลี้ยงหรือให้อุปการะเขาเพียงแต่ให้เขาโตไป เสร็จแล้วให้เขาไปล้วง
กระเป๋าบ้าง ให้เขาไปค้ายาเสพติดบ้าง ไม่ใช่เช่นนั้น เราต้องให้วิทยาการให้การศึกษาเขา ในแขนงที่เขาพอจะเลี้ยงตัว
ของเขาได้ ตามฐานะของเราที่เราจะให้เขาได้ดีที่สุด นี่ เป็นหน้าที่ของบุพพการี

(๔) หน้าที่ของบุพพการี ประการที่ 4 ก็คือ เมื่อผู้ถูกอุปการะซึ่งอยู่ในความปกครองของเรานั้น ไม่ว่าจะเป็นลูก หรือ
เป็นอะไรก็ดี เมื่อเขาถึงกาลและวัยอันควร ที่สมควรเขาจะมี คู่ครองได้แล้ว เราก็มีหน้าที่ที่จะจัดให้เขาตามความต้องการ
ของเขา นี่ เพราะว่าคนเรานั้น คล้าย ๆ กะว่า เมื่อมีชีวิตครอบครัวออกไปแล้ว ก็เท่ากับออกจากอกของเราไป
ได้อยู่เป็นอิสระเป็นชีวิตของเขา เขาจะได้รับผิดชอบของเขาเองต่อไป นี่ พระพุทธเจ้าสอนแค่นี้

(๕) และข้อที่ ๕ นั้น พระองค์ท่านบอกไว้ว่า มอบสมบัติให้ตามสมัย คำว่า "ตามสมัย" นี้ ผมเข้าใจว่า
เมื่อเรานี่ตายไปแล้วก็อย่าให้คนที่อยู่ข้างหลังต้องยุ่งยาก ต้องเป็นถ้อยเป็นความกัน ต้องเป็นศัตรูหักล้างกัน ยังไง ๆ
เราก็จัดเสียให้เรียบร้อยก่อนที่เราจะตาย ทำให้เขาเป็นฝั่งเป็นฝาเป็นหลักเป็นฐานเสีย นี่ เป็นหน้าที่ของบุพพการี
ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า บุพพการีนั้นเป็นคนหาได้ยาก แต่การเป็นพ่อเป็นแม่คน หาได้ง่าย ฉะนั้นผู้ใด
ที่เป็นพ่อเป็นแม่คนนั้น โปรดนำเอาตำแหน่งบุพพการีเข้าไปไว้ด้วย

นอกจากนั้นแล้ว คุณธรรมหรือคุณสมบัติของบุพพการี จะต้องประกอบไปด้วย

(๑) พรหมวิหาร ๔ นั่นคืออะไร คือ ประการที่ ๑ เมตตา หมายถึง ปรารถนาให้ผู้ที่อยู่ในอุปการะนั้น ได้มีความสุข
ความเจริญ

ประการที่ ๒ กรุณา คือ ปรารถนาที่ให้ผู้ที่อยู่ในอุปการะนั้น หรือลูกของเรานั้น ได้พ้นจากทุกข์ เราเห็นแล้วนี่ว่า
เขาประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นอาจจะทุกข์ เราต้องให้ความกรุณาเขาที่จะดึงให้เขาพ้นเสียจากทุกข์

ประการที่ ๓ คือ มุทิตา หมายความว่า ถ้าเขาทำความดีความงาม เราก็พลอยชื่นชมยินดีกับเขาด้วย

ประการที่ ๔ เมื่อเมตตาก็ให้ไม่ได้ กรุณาก็ให้ไม่ได้ มุทิตาก็ให้ไม่ได้แล้ว ฐานะบุพพการีทำยังไง ก็ต้องวางตนเป็น
อุเบกขา (๒) คุณธรรม ประการที่ ๒ ในการทำหน้าที่ของบุพพการีนั้น ก็คือ จะต้องปราศจาก อคติ ๔ อคติ ๔ นี้
หมายความอย่างไร หมายความว่า เราจะให้การอบรมสั่งสอนก็ดี เราจะให้ผลประโยชน์รายได้อะไรก็ดี เราจะลงโทษ
ลงทัณฑ์อะไรก็ดี ต้องปราศจากอคติ ๔ หมายถึง

ฉันทาคติ คือความลำเอียงเพราะความรักใคร่

โทสาคติ ความลำเอียงเกิดเพราะความโกรธ

โมหาคติ ความลำเอียงเกิดเพราะความหลง

ภยาคติ ความลำเอียงเกิดเพราะความกลัว

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวงบริหารราชการทุกวันนี้ ผมรับรองได้ว่า อคติ ๔ เต็มไปหมด การบริหารงานส่วนใหญ่
มันถึงไม่มีประสิทธิภาพ เพราะคนทุกคนต่างก็มีจิตมีใจเหมือนกัน การที่มีอคติอยู่นี้ทำให้ประสิทธิภาพในการบริหาร
เสียหมด

(๓) คุณธรรม ข้อที่ ๓ ก็คือ บุพพการีนั้น เราจะอบรมสั่งสอน จะดึงเขาให้พ้นจากความชั่ว จะดันให้เขาเข้าสู่
ความดีนั้น ไม่ใช่ทำกันเล่น ๆ จะต้องประกอบด้วยความเพียร ความเพียรในที่นี้ผมหมายความเพียร ๔ ประการ คือ
เพียรตัวที่ ๑ เพียรป้องกันมิให้ความชั่วเกิดขึ้นแก่เขา เราต้องเพียร

เพียรตัวที่ ๒ เพียรเมื่อเห็นเขามีความชั่ว เพียรพยายามดึงความชั่วออกจากเขาเสียให้หมด อย่าให้เขาติดเอาไว้

เพียรตัวที่ ๓ เพียรให้เขาสร้างสม สะสมความดีเอาไว้ ทำให้มันเกิดขึ้น

เพียรตัวที่ ๔ เพียรพยายามสั่งสอนอบรมให้เขารักษาความดีที่เขาได้ทำเอาไว้ ให้มีความมากมายยิ่ง ๆ ขึ้น

ผู้ใดที่ทำหน้าที่ทั้ง ๕ ประการ และมีคุณธรรมทั้ง ๓ ประการนี้ จึงจะได้ชื่อว่า เป็นบุพพการี ฉะนั้นพวกเราทุกคน
ที่มีลูกมีเต้า อย่าเอาแต่ชื่อว่าเป็นพ่อเป็นแม่เขาอย่างเดียว เอาตำแหน่งบุพพการีเข้ามาไว้ด้วย

ที่นี้ เมื่อเราได้พูดกันถึงบุพพการีแล้ว เราก็หันมาดูถึงหน้าที่ และคุณธรรมของกตัญญูกตเวทีบุคคลบ้าง ว่าเป็น
อย่างไร กตัญญูกตเวทีบุคคลนั้น ก็หมายถึง ผู้ที่รู้คุณท่าน และสนองตอบนั้น หน้าที่ของกตัญญูกตเวทีบุคคล นั้น

หน้าที่ประการที่ ๑ ท่านตรัสไว้ว่า เลี้ยงท่านตอบ การเลี้ยงเลี้ยงอย่างไร เลี้ยงไม่ให้อดตาย หรือเลี้ยงยังไง
เลี้ยงในที่นี้หมายความว่า เลี้ยงให้ดีที่สุดตามฐานะ ด้วยความเสียสละ ไม่ใช่เรานั่งกินข้าวอาหารดี ๆ เฮ้อ บุพพการีเอาข้าวคลุกปลาทูโยนไปให้กิน อย่างนี้มันก็ไม่ไหว แต่ข้อเท็จจริง ผมรับรองได้ มี สังคมมีครับผู้ใหญ่บางคน
เอาพ่อเอาแม่ไปไว้โน่น บางแค ทำไมผมกล้าพูดเช่นนี้ เพราะแต่ก่อนนี้ ผมมีหน้าที่ตรวจกระทรวงมหาดไทย ผมรู้ว่า
ของใครบ้าง อย่าทำเช่นนั้น

หน้าที่ประการที่ ๒ ทำกิจกรรมของท่าน กิจการของท่านนั้นจะเป็นกิจการอะไร เมื่อเรารับมาทำแล้วเราจะต้องทำ
กิจการนั้นๆ ให้ดีที่สุด ไม่ใช่ปัดสวะให้พ้นหน้าข้าไปเท่านั้น และทำให้ถูกต้องเต็มตามความสามารถที่เรามีอยู่ นี่
เราต้องทำอย่างนี้เพื่อเป็นการสนองตอบ ต้องสนองตอบ ด้วยแรงใจ และแรงงานที่เรามีอยู่

หน้าที่ประการที่ ๓ กตัญญูกตเวทีบุคคลนั้น จะต้องทำตนเป็นผู้ดำรงวงศ์ตระกูลให้ได้ ทำยังไง ก็มีการเทิดทูนและ
รักษาไว้ซึ่งสกุลให้คงอยู่และดีขึ้น ไม่มีการประพฤติหรือการปฏิบัติใด ๆ อันจะเป็นการเสื่อมเสียถึงวงศ์ตระกูลนั้น ๆ
และให้การคุ้มครองป้องกันความเสื่อมเสียของวงศ์ตระกูลให้ดีที่สุด ไม่ใช่ว่าเราเป็นลูกผู้มีตระกูลที่มีศักดิ์มีศรี แทนที่เรา
จะรักษาเอาไว้ เรากลับไปตั้งซ่องโจรกันมั่ง ค้าเฮโรอีนบ้าง ขายชาติกันบ้าง อย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ทำลายวงศ์ตระกูล ฉะนั้น
ถ้าตัวเราเป็นบุตร เราก็ต้องเป็นผู้อยู่ดำรงวงศ์ตระกูลนั้นไว้

หน้าที่ประการที่ ๔ ของกตัญญูกตเวทีบุคคล ก็คือ ประพฤติตนให้ควรแก่การรับมรดก คือ เป็นทายาทนั่นเอง
การประพฤติตนให้ควรแก่การรับมรดกหรือการเป็นทายาทนั้น มีในธรรมะ ท่านบอกอย่างนี้

๑ รู้จักรักษาทรัพย์นั้น และแสวงหาทรัพย์นั้นเมื่อสูญหาย ไม่ใช่โยนทิ้งโยนขว้าง หายไป ซื้อมาใหม่ อย่างคนบางคน
ซึ่งไม่รู้ค่าของเงิน ซึ่งพ่อแม่หรือบุพพการี ทำมาหาได้ด้วยหยาดเหงื่อแรงงาน แต่มาถึงสมัยลูกไม่เท่าไหร่ฉิบหายหมด นี่
เป็นอย่างนี้ เพราะเขาไม่มีคุณธรรมและไม่มีคุณสมบัติในการที่จะรักษาทรัพย์สมบัติเช่นนั้น

๒ รู้จักซ่อมแซมทรัพย์สิน ของที่เก่าที่เสื่อมให้คงสภาพเท่าที่จะทำได้

๓ รู้จักประมาณ ในการจับจ่ายใช้สอยทรัพย์สมบัตินั้นๆ ตามพอควรแก่ฐานะ ไม่ใช่ทำให้เกินฐานะ บางคนชักหน้ายัง
ไม่ทันถึงหลัง หน้าฉันใหญ่ ๆ ตูมเดียวหมดไปเลย นี่ เป็นอย่างนี้

๔ ก็คือ ตั้งสตรีหรือบุรุษที่มีศีลมีธรรมให้เป็นพ่อบ้านแม่เรือนนั่นเอง หมายความว่า ให้ผู้ที่เป็นคู่ครองของตนนั้น
เป็นผู้ที่มีศีลมีธรรมเถอะ อย่าให้เป็นผู้ที่ปราศจากศีลปราศจากธรรมเลย นี่แหละถึงจะเรียกว่า ตั้งตนไว้ให้สมควรแก่การ
เป็นผู้รับมรดก

หน้าที่ประการที่ ๕ เมื่อท่านตายไปแล้ว เมื่อบุพพการีตายไปแล้ว ผู้กตัญญูกตเวทีบุคคลก็ต้องทำบุญอุทิศไปให้ท่าน
แต่ทีนี้ ทำบุญอุทิศกุศลไปให้ท่าน ทำอย่างไร ในที่นี้ ผมจะขอพูดในขอบเขตของเรา พวกเราชาวพุทธศาสนาก็คือ

ประการที่ ๑ การสร้างกุสลในขอบเขตบุญของพระพุทธศาสนา ซึ่งเรียกกันว่าบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อันได้แก่

ทาน

ศีล

ภาวนา

ประพฤติถ่อมตนต่อผู้ใหญ่

ช่วยขวนขวายให้กิจที่ชอบ

ให้ส่วนบุญ

อนุโมทนาส่วนบุญ

แสดงธรรม ฟังธรรม และ

ทำความเห็นให้ตรง ในบุญกิริยาวัตถุนั้น ๆ

ประการที่ ๒ คือ การทำจิตให้บริสุทธิ์ สงบ เพื่ออะไร เพื่อเราจะได้มีพลังที่เรา จะได้ส่งกุศลไปให้ถึงบุพพการี
หรือพ่อหรือแม่ของเราได้ ซึ่งอยู่ที่ไหนเราก็ไม่รู้ ถ้าเราไม่มีพลังเช่นนั้น เราก็ไม่มีโอกาส

ประการที่ ๓ ก็คือ ทำให้มีสติระลึกรู้ในสติปัฎฐาน ๔ คือ ระลึกรู้ในเรื่องของความจริงของกาย เวทนา จิต ธรรม
เพื่ออะไร เพื่อเป็นการกำไร เป็นการหารายได้ที่จะส่งให้แก่บุพพการีของเราอย่างเพียงพอ

นอกจากหน้าที่ดังกล่าวทั้ง ๕ ข้อแล้ว กตัญญูกตเวทีบุคคลนั้น จะต้องมีคุณธรรมประกอบ ดังต่อไปนี้ คือ

๑ มี หิริและโอตตัปปะ ซึ่งหมายถึง ความละอายและความเกรงกลัวต่อความชั่วหรืออกุศลนั่นเอง หิริและโอตตัปปะ
ในที่นี้ ในสังคมปัจจุบันหาได้ยาก

๒ เป็นผู้ที่มี ขันติ คือ ความอดทน เราจะเห็นได้ว่า บุพพการีของคนบางคน หรือพ่อแม่คนบางคนนี่ หลง ๆ ลืม ๆ
ก็ชอบด่าชอบว่าลูก ลูกที่ดีหรือกตัญญูกตเวทีบุคคลนี่ ต้องอดทน ต้องอดทนที่จะทำกิจการประกอบการใด ๆ ที่จะสนอง
ตอบคุณท่าน ต้องสนองตอบด้วยความอดทน และ โสรัจจะ คือความ สงบเสงี่ยม นอกจากนั้นแล้ว กตัญญูกตเวทีบุคคลนั้น
จะต้องมี สัปปุริสธรรม ๗ ซึ่งผมบอกไว้แล้วว่า ต้อง

เป็นผู้รู้จักเหตุ

เป็นผู้รักจักผล

เป็นผู้รู้จักตน

เป็นผู้รู้จักประมาณ

เป็นผู้รู้จักกาล

เป็นผู้รู้จักเลือกบุคคล คบคน

เป็นผู้รู้จักสังคม

และประการที่ ๔ คุณธรรมประการที่ ๔ ก็ต้องประพฤติธรรมอันสมควรแก่ธรรม เราถึงจะยืนด้วยขาของเรา
เองได้

ที่ผมพูดมานี้เป็นหน้าที่และคุณธรรมของบุพพการีและกตัญญูกตเวทีบุคคล ทีนี้ในพวกเหล่านี้ เราเป็นอย่างไร
เราจะเป็นบุพพการี หรือเราจะเป็นกตัญญูกตเวทีบุคคล เราก็ต้องทำให้ครบหน้าที่ และมีคุณธรรมให้สมควรแก่การที่จะ
เป็นบุพพการีบุคคล หรือกตัญญูกตเวทีบุคคล ทำไมผมถึงได้พูดเช่นนั้น ถ้าเราจะมาพิจารณาถึงทองคำ ทองคำนั้นเป็น
ของมีค่า มีราคา ยากลำบากต่อการที่จะแสวงหา ไม่เหมือนก้อนกรวดก้อนทรายที่เราจะแลไปที่ไหนก็เจอที่นั่น
จะเหยียบย่ำไปที่ไหนก็เจอที่นั่น ฉะนั้นการที่จะเป็นบุพพการีบุคคลก็ดี กตัญญูกตเวทีบุคคลก็ดี ไม่ใช่เป็นกันได้ง่าย ๆ
ไม่ใช่ ใครมาออก ร้องอุแว้มา ก็บอกว่า ฉันเป็นบุพการีบุคคลแล้ว ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าไม่ได้หมายความอย่างงั้น ถ้าหมาย
ความอย่างงั้น บุพพการีบุคคลเต็มโลกไปหมดแล้ว กตัญญูกตเวทีบุคคลเต็มโลกไปหมดแล้ว ทำไมพระองค์ถึงได้บอกว่า
หาได้ยากเหลือเกิน นี่ นอกจากทองคำแล้ว ก็มีเพชร ซึ่งเป็นของที่มีราคา เพชรนั่นแหละเราคงจะไปเก็บเอา ขุดเอา
มาตามถนนนะคงไม่ได้ ไม่เหมือนก้อนกรวดก้อนหิน ถ้าพวกเราทุกคนทำตัวเป็นทั้งบุพพการีบุคคลและเป็นกตัญญูกต
เวทีบุคคล ให้พร้อมแล้ว เราก็คงจะได้มีเพชรกับทอง มาผสมกันเป็นแหวนที่มีราคาหาค่ามิได้ในทางพุทธศาสนา ดังนั้น
คนที่มีลูกโปรดทำตัวของเราเปรียบประดุจแร่ทองคำ นั่นคือ ทำคุณสมบัติแห่งการเป็นบุพพการีบุคคลให้เต็ม ซึ่งจะต้อง
ทำหน้าที่ของท่านให้ครบถ้วน คือ อบรมสั่งสอนลูกมิให้ทำชั่ว

อบรมสั่งสอนให้ลูกตั้งอยู่ในความดี ให้การศึกษาศิลปะวิทยาแก่ลูก

จัดธุระเรื่องคู่ให้เขาเมื่อถึงวัยอันควร และ

มอบทรัพย์สินให้เขาเมื่อถึงสมัย

และต้องประกอบด้วยคุณธรรม คือ พรหมวิหาร ๔ อันได้แก่ เมตตา

กรุณา

มุทิตา

อุเบกขา

และจะทำการอบรม สั่งสอน ลงโทษลงทัณฑ์ ใด ๆ เราต้อง ปราศจากอคติ ๔

และนอกจากนั้นแล้ว เราจะอบรมสั่งสอนเขาเคี่ยวเข็ญเขา ก็ต้อง ประกอบด้วยความเพียร

นี่ เป็นหน้าที่ของผู้มีลูก ที่จะดึงเอาตำแหน่งบุพพการีบุคคลมาไว้ในมือ

นอกจากนั้น ผู้ที่เป็นลูกของพ่อแม่ ก็โปรดทำตัวของท่าน ดุจเพชรน้ำหนึ่ง คือ เป็นกตัญญูกตเวทีบุคคล
ที่จะต้องทำให้ครบถ้วนนั่นเอง คือ

เลี้ยงท่านตอบ

ทำกิจการงานของท่าน

ดำรงวงศ์ตระกูล

ประพฤติตนให้ควรแก่การรับมรดก

ทำบุญอุทิศให้ท่าน เมื่อตายแล้ว

และประกอบด้วยคุณธรรม คือ หิริ โอตตัปปะ

ขันติ และ โสรัจจะ

สัปปุริสธรรม ๗ และ

ประพฤติธรรมให้สมควรแก่ธรรม

หวังว่า พวกเราทุกคนที่เป็นพ่อแม่คน ก็คงจะทำตัวประดุจทองคำ และผู้ที่เป็นลูก ก็ควรจะได้ทำเป็นลูกที่ดี
ของพ่อแม่ คือ ทำตัวประดุจเพชรที่มีค่า คือ กตัญญูกตเวทีบุคคลนั่นเอง