- สำหรับผู้มีบุญมีอธิการได้สร้างไว้ก่อน
เพียงแต่ได้เห็นอากาสที่ช่องต่างๆ มีช่องฝาเป็นต้น นิมิตก็เกิดขึ้นได้
( ส่วน ) พระโยคาวจรนอกนี้ ( ที่ไม่มีบุญ
) พึงทำช่องขนาดคืบ ๔ นิ้ว เข้าที่ ( ฝา ) โรงที่มุงมิดชิดหรือที่ ( แผ่น )
หนังและเสื่อลำแพนเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ( เพ่งดู ) ช่องอันต่างโดยเป็นช่องฝาเป็นต้นนั้นแล
ภาวนาไปว่า
อากาโส อากาโส ( ว่าง ว่าง ) อุคคหนิมิตในอากาสกสิณนี้ ก็เป็น ( ดวง )
เหมือนกับช่อง พร้อมทั้งสิ่งที่เนื่องด้วย
ช่องมีขอบฝาเป็นต้นนั่นเอง แม้พระโยคาวจรจะ ( นึก ) ขยาย ( ส่วน ) ก็หาขยายไม่
( ส่วน ) ปฏิภาคนิมิตปรากฏ
เป็นดวงอากาศแท้ และพระโยคาวจรจะ ( นึก ) ขยาย ก็ขยายได้ คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยอันกล่าวแล้วใน
ปฐวีกสิณนั้นแล
ปริจฉินนากาสกสิณ จบ
- พระทศพลผู้สรรพธรรมทส ( ทรงเห็นธรรมทั้งปวง
) ได้ตรัสทศกสิณ ( กสิณ ๑0 ) ซึ่งเป็นเหตุ
แห่งจตุกฌานและปัญจกฌานในชั้นรูปาวจร ดังพรรณนามาฉะนี้ บัณฑิตได้ทราบทศกสิณนั้น
และนัยะใน
การเจริญกสิณเหล่านั้นนี่ดังนี้แล้ว พึงทราบปกิณกกถาในกสิณเหล่านั้นแหละต่อไปนี้
ปกิณณกกถา
( คุณวิเศษต่างๆ ที่สำเร็จด้วยอำนาจกสิณ
)
- ก็แลกสิณเหล่านี้
ด้วยอำนาจแห่งปฐวีกสิณ คุณวิเศษทั้งหลายเป็นต้นว่า ความบันดาล ( ทำให้มีให้เป็นขึ้น
)
คือว่าคนเดียวบันดาลเป็นคนมากก็ได้เป็นต้น นิรมิตแผ่นดินขึ้นในอากาศหรือในน้ำแล้วเดินไปได้
หรือสำเร็จ
อิริยาบถมียืนและนั่งเป็นต้นได้
- ด้วยอำนาจแห่งอาโปกสิณ คุณวิเศษทั้งหลายเป็นต้นว่า
ผุดขึ้นและดำลงในแผ่นดินได้ ทำฝนน้ำให้เกิดขึ้นได้ นิรมิตสิ่งขวางกั้นมีแม่น้ำและทะเลเป็นต้นได้
ทำของหนักมีแผ่นดิน ภูเขา และปราสาท เป็นต้นให้ไหวได้ ดังนี้
ย่อมสำเร็จ
- ด้วยอำนาจแห่งเตโชกสิณ คุณวิเศษทั้งหลายเป็นต้นว่า
บังหวนควันได้ บังหวนเพลิงได้ ทำฝนถ่านเพลิงให้เกิด
ขึ้นได้ ล้างไฟด้วยไฟได้ สามารถเผาเฉพาะสิ่งที่ต้องการได้ ทำแสงสว่างขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การเห็นรูปด้วยทิพจักษุได้
ทำสรีระให้ไหม้ไปด้วยเตโชธาตุ ในคราวปรินิพพานได้ อย่างนี้ย่อมสำเร็จ
- ด้วยอำนาจแห่งวาโยกสิณ คุณวิเศษทั้งหลายเป็นต้นว่า
ไปได้ ( เร็ว ) เยี่ยงพายุ ทำฝนลมให้เกิดขึ้นได้ ดังนี้
ย่อมสำเร็จ
- ด้วยอำนาจแห่งนีลกสิณ คุณวิเศษทั้งหลายเป็นต้นว่า
นิรมิตรูปสีเขียวขึ้นได้ ทำให้มืดไปได้ ดังนี้ย่อมสำเร็จ
- ด้วยอำนาจปีตกสิณ คุณวิเศษทั้งหลายเป็นต้นว่า
นิรมิตรูปสีเหลืองได้ น้อมใจลง ( อธิษฐาน ) ว่า ให้เป็น
ทองได้ ดังนี้ย่อมสำเร็จ
- ด้วยอำนาจแห่งโลหิตกสิณ คุณวิเศษทั้งหลายเป็นต้นว่า
นิรมิตสีแดงขึ้นได้ ดังนี้ย่อมสำเร็จ
- ด้วยอำนาจแห่งโอทาตกสิณ คุณวิเศษทั้งหลายเป็นต้นว่านิรมิตรูปสีขาวขึ้นได้
ขับถีนมิทธะ ( ความง่วง ความ
หดหู่ท้อถอย )ได้ ไล่ความมืดได้ ทำแสงสว่างขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การเห็นรูปด้วยทิพจักษุได้
ดังนี้ย่อมสำเร็จ
- ด้วยอำนาจแห่งอาโลกกสิณ คุณวิเศษทั้งหลายเป็นต้นว่า
นิรมิตรูปโปร่งแสงได้ ขับถีนมิทธะได้ เพิกความมืดได้
ทำแสงสว่างขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การเห็นรูปด้วยทิพจักษุได้ ดังนี้ย่อมสำเร็จ
- ด้วยอำนาจแห่งอากาสกสิณ คุณวิเศษทั้งหลายเป็นต้นว่า
ทำสิ่งที่ลี้ลับอยู่ให้เปิดเผยได้ นิรมิตช่องว่างเข้าในที่ทึบ
เช่นภายในแผ่นดินและภายในภูเขาแล้วสำเร็จอิริยาบถอยู่ได้ ผ่านที่ตันมีฝาเป็นต้น
ออกไปข้างนอกได้ไม่ติด ดังนี้ย่อม
สำเร็จ
ความแตกต่างแห่งกสิณ
- กสิณทั้งหมดนั่น มีความแตกต่าง
( ดัง ) นี้ คือ อุทฺธํ ( ขยายขึ้นเบื้องบน ) อโธ ( ขยายลงเบื้องล่าง
) ติริยํ
( ขยายไปโดยขวางรอบตัว ) อทฺวยํ ( ขยายไปไม่เป็น ๒ ) อปฺปมาณํ
( ขยายไปไม่มีประมาณ ) จริงอยู่ ข้อนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า " บุคคลลางคนกำหนดกสิณไปเบื้องบน ลางคนกำหนดกสิณไปเบื้องล่าง
ลางคน
กำหนดกสิณไปโดยขวาง ไม่เป็น ๒ ไม่มีประมาณ " ดังนี้เป็นต้น
- ในคำเหล่านั้น คำว่า อุทฺธํ
คือมุ่งสู่ท้องฟ้าเบื้องบน คำว่า อโธ คือมุ่งสู่พื้นดินเบื้องล่าง
คำว่า ติริยํ คือกำหนด
ไปรอบตัวดุจลาน แท้จริง พระโยคาวจรลางท่าน ขยายกสิณไปเบื้องบนทางเดียว ลางท่านขยายไปเบื้องล่าง
ลางท่าน
ขยายไปโดยรอบตัว หรือแผ่ไปอย่างนั้น ตามเหตุการณ์นั้นๆ ดังผู้ใคร่จะเห็นรูปด้วยทิพจักษุ
ก็แผ่แสงส่วางไปฉะนั้น *
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัส
๓ บทว่า อุทฺธํ อโธ ติริยํ ส่วนคำว่า อทฺวยํ นี่ ตรัสเพื่อ ( แสดง
) ความ
ที่กสิณอันหนึ่งไม่กลายเป็นกสิณอันอื่นไป เปรียบเหมือนเมื่อคนลงน้ำไป ก็มีแต่น้ำไปทุกทิศ
ไม่มีสิ่งอื่นฉันใด ปฐวีกสิณ
ก็ย่อมเป็นแต่ปฐวีกสิณเท่านั้น ความระคนกับกสิณอื่นหามีแก่ปฐวีกสิณนั้นไม่ ฉันนั้น
นัยดังนี้นี่ พึงทราบในกสิณทั้งปวง
คำว่า อปฺปมาณํ นี่ตรัสโดยที่การแผ่ไปแห่งกสิณนั้นหาประมาณไม่ได้ แท้จริง
เมื่อพระโยคาวจรแผ่กสิณนั้นไปด้วยใจ
ย่อมแผ่รวดไปทีเดียว หาได้ ( มัว ) กะประมาณว่า ( แค่ ) นี้เป็นเบื้องต้น ( แค่
) นี้เป็นท่ามกลางของกสิณนั้นไม่
ดังนี้แล
- * มหาฎีกาว่า ถ้าใคร่จะเห็นรูปในเบื้องบนก็แผ่แสงสว่างไปเบื้องบน
ถ้าใคร่จะเห็นรูปในเบื้องล่าง ก็แผ่แสงสว่าง
ไปเบื้องล่าง ถ้าใคร่จะเห็นรูปโดยรอบก็แผ่แสงสว่างไปรอบๆ ตัว
ผู้ที่บำเพ็ญกสิณไม่สำเร็จ
- ก็แลสัตว์เหล่าใด
ที่ท่านกล่าวว่าเป็นผู้กอบด้วยกัมมาวรณ ( เครื่องกั้นคือกรรม ) ก็ดี กอบด้วยกิเลสาวรณ
( เครื่องกั้นคือกิเลส ) ก็ดี กอบด้วยวิปากาวรณ ( เครื่องกันคือวิบาก ) ก็ดี
ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะ ปัญญาทราม
เป็นผู้อภัพที่จะก้าวลงสู่ความแน่นอน ความดำเนินชอบ ในธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล
ความบำเพ็ญในกสิณแม้แต่ข้อเดียว ก็ย่อมไม่สำเร็จ แก่สัตว์เหล่านั้น แม้สักผู้เดียว
- ในคำเหล่านั้น คำว่า กอบด้วยกัมมาวรณ
ได้แก่ประกอบด้วยอนันตริยกรรม คำว่ากอบด้วยกิเลสวรณ ได้แก่
เป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ และเป็นอุภโตพยัญชนก เป็นบัณเฑาะก์ คำว่ากอบด้วยวิปากาวรณ
ได้แก่ปฏิสนธิเป็นอเหตุกะ
และเป็นทวิเหตุกะ คำว่า ไม่มีศรัทธา คือไร้ความเชื่อในพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น
คำว่าไม่มีฉันทะ คือ
ไร้ฉันทะในอปัจจนีกปฏิปทา คำว่า ปัญญาทราม หมายความว่าไร้ความเห็นชอบ
ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ
ข้อว่า เป็นผู้อภัพที่จะก้าวลงสู่ความแน่นอน ความดำเนินชอบในธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลนั้น
ความว่าเป็นผู้
ไม่อาจก้าวลงสู่อริยมรรคที่นับว่าเป็นความแน่นอน และนับว่าเป็นความดำเนินชอบในธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล
- อนึ่ง มิใช่แต่ในกสิณเท่านั้น
การบำเพ็ญแม้ในกรรมฐานอื่นๆ ก็ไม่สำเร็จแก่สัตว์
เหล่านั้นแม้แต่ผู้เดียว เพราะเหตุนั้น กุลบุตรแม้ว่าปราศจากวิปากาวรณแล้ว
ก็พึงหลีกเว้นกัมมาวรณและ
กิเลสาวรณเสียให้ไกล ยังศรัทธา ฉันทะ และปัญญาให้เจริญด้วยวุฒิธรรม มีสัทธัมมสสวนะ
( ฟังธรรมของสัตบุรุษ )
และสัปปุริสูปัสสยะ ( ความพึ่งพิงสัตบุรุษ ) เป็นต้น ทำความเพียรในอันประกอบเนืองๆ
ในพระกรรมฐาน เทอญ
ปริเฉทที่ ๕ ชื่อเสสกสิณนิเทศ
ในอธิการแห่งสมาธิวัณณนา
ในปกรณ์วิเศษชื่อวิสุทธิมรรค
อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน
ดั่งนี้
อสุภกรรมฐานนิเทศ
รูปภาพอสุภ
( กรุณาตั้งสติก่อนเข้ามาดู แล้วจะหาว่าไม่เตือน ! )
- ก็แลในอสุภที่ไม่มีวิญญาณ
๑0 คือ อุทธุมาตกะ วินีลกะ วิปุพพกะ วิจฉิททกะ วิกขายิตกะ วิกขิตตกะ
หตวิกขิตตกะ โลหิตกะ ปุฬุวกะ อัฏฐิกะ ซึ่งท่านจัดไว้ในลำดับแห่งกสิณ
อุทธุมาตกอสุภ
- อสุภที่ชื่ออุทธุมาตะ เพราะเป็นซากที่พองขึ้น
โดยความที่มันค่อยอืดขึ้นตามลำดับนับแต่สิ้นชีวิตไป ดุจลูก
หนังอันพองด้วยลมอุทธุมาตะนั่นเอง เป็นอุทธุมาตกะ นัยหนึ่ง อุทธุมาตอสุภ จัดว่าเป็นของน่าเกลียด
เพราะเป็น
สิ่งปฏิกูล เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อุทธุมาตกะ ( อุทธุมาตกอสุภอันน่าเกลียด
) คำว่า อุทธุมาตกะ นั่นเป็นคำเรียก
ซากศพที่เป็นอย่างนั้น
วินีลกอสุภ
- อสุภที่มีสีเขียวคล้ำคละด้วยสีต่างๆ
เรียกว่า วินีละ วินีละนั่นเองเป็นวินีลกะ นัยหนึ่ง วินีลอสุภ จัดว่าเป็นของ
น่าเกลียด เพราะเป็นสิ่งปฏิกูล เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า วินีลกะ ( วินีลอสุภอันน่าเกลียด
) คำว่า วินีลกะ นั่น
เป็นคำเรียกซากศพอันมีสีแดงในที่ๆ เนื้อหนามีสีขาวในที่ๆ บ่มหนอง แต่โดยมากมีสีเขียวคล้ำ
ในที่ๆ เขียว
เป็นเหมือนคลุมไว้ด้วยผ้าเขียว
วิปุพพกอสุภ
- อสุภที่มีน้ำเหลืองไหลเยิ้มอยู่ในที่ๆ
แตกปริทั้งหลาย ชื่อวิปุพพะ วิปุพพะนั่นเองเป็นวิปุพพกะ นัยหนึ่ง
วิปุพพอสุภ จัดว่าเป็นของน่าเกลียดเพราะเป็นสิ่งปฏิกูล เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า
วิปุพพกะ ( วิปุพพอสุภอันน่า
เกลียด ) คำว่า วิปุพพกะ นั่นเป็นคำเรียกซากศพที่เป็นอย่างนั้น
วิจฉิททกอสุภ
- อสุภที่แยกออกจากกันโดยขาดเป็น
๒ ท่อน เรียกว่า วิจฉิททะ วิจฉิททะนั่นเอง เป็นวิจฉิททกะ นัยหนึ่ง
วิจฉิททอสุภ จัดว่าเป็นของน่าเกลียด เพราะเป็นสิ่งปฏิกูล เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าวิจฉิททกะ
( วิจฉิททอสุภอันน่า
เกลียด ) คำว่า วิจฉิททกะ นั่นเป็นคำเรียกซากศพที่ถูกตัดกลางตัว
วิกขายิตกอสุภ
- อสุภที่ชื่อว่าวิกขายิตะ
เพราะถูกสัตว์ทั้งหลายมีสุนัขบ้านและสุนัขป่า เป็นต้น กัดกินโดยอาการต่างๆ ตรงนี้บ้าง
ตรงนั้นบ้าง วิกขายิตะ นั่นเองเป็นวิกขายิตกะ นัยหนึ่ง วิกขายิตอสุภจัดว่าเป็นของน่าเกลียด
เพราะเป็นสิ่งปฏิกูล
เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า วิกขายิตกะ คำว่า วิกขายิตกะ นั่นเป็นคำเรียกซากศพที่เป็นอย่างนั้น
วิกขิตตอสุภ
- อสุภที่กระจุยกระจายไปต่างๆ (
เนื่องด้วยสัตว์กัดแทะ ) เรียกว่า วิกขิตตะ วิกขิตตะนั่นเองเป็นวิกขิตตกะ
นัยหนึ่ง วิกขิตตอสุภ จัดว่าเป็นของน่าเกลียด เพราะเป็นสิ่งปฏิกูล เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าวิกขิตตกะ
คำว่า
วิกขิตตกะ นั่นเป็นคำเรียกซากศพที่กระจุยกระจายไปที่นั้นๆ คือมือไปทางหนึ่ง เท้าไปทางหนึ่ง
ศีรษะไปทางหนึ่ง
ดังนี้เป็นต้น
หตวิกขิตตกอสุภ
- อสุภที่ชื่อหตวิกขิตตกะ
เพราะอสุภนั้นถูกประหารด้วย กระจุยกระจายโดยนัยก่อนนั้นด้วย คำว่า หตวิกขิตตกะ
นั่นก็เป็นคำเรียกซากศพอันถูกคนสับฟันที่อวัยวะใหญ่น้อย โดยอาการ ( ยับอย่างกะ
) ตีนกาแล้วเหวี่ยงกระจาย
ไปโดยนัยที่กล่าวแล้วนั้น
โลหิตกอสุภ
- อสุภที่ชื่อโลหิตกะ เพราะมีโลหิตเรี่ยราดไหลออกจากตรงนั้นบ้าง
ตรงนี้บ้าง คำว่า โลหิตกะ นั่นเป็นคำเรียก
ซากศพอันเปื้อนโลหิตที่ไหลออก
ปุฬุวกอสุภ
- หนอนทั้งหลาย เรียกว่า ปุฬุวะ
ปุฬุวะทั้งหลายคลาคล่ำอยู่ในอสุภนั่น เหตุนั้น อสุภนั่นจึงชื่อปุฬุวกะ คำว่า
ปุฬุวกะนั่นเป็นคำเรียกซากศพที่เต็มไปด้วยหนอน
อัฏฐิกอสุภ
- กระดูกนั่นเองชื่ออัฏฐิกะ
นัยหนึ่ง กระดูกจัดว่าเป็นของน่าเกลียด เพราะเป็นสิ่งปฏิกูล เหตุนั้นจึงชื่ออัฏฐิกะ
คำว่าอัฏฐิกะนั่นเป็นคำเรียกร่างกระดูกก็ได้ กระดูกท่อนเดียวก็ได้
- ก็แลคำทั้งหลายมีคำว่าอุทธุมาตกะเป็นต้นเหล่านั้นแล
เป็นชื่อแห่งนิมิตอันอาศัยอสุภมีอุทธุมาตกอสุภเป็นอาทิ
เหล่านี้เกิดขึ้นก็ได้ เป็นชื่อแห่งฌานอันพระโยคาวจรได้ในนิมิตทั้งหลายก็ได้
วิธีเรียนอุทธุมาตกอสุภกรรมฐาน
- ในอสุภ
๑0 นั้น พระโยคีผู้ใคร่จะยังอุทธุมาตกนิมิตในซากที่ขึ้นพองให้เกิด แล้วยังฌานที่ชื่ออุทธุมาตกะให้มีขึ้น
พึงเข้าไปหาอาจารย์มีประการดังกล่าวแล้ว เรียนเอาพระกรรมฐานโดยนัยที่กล่าวแล้วในปฐวีกสิณนั้นแล
อาจารย์
นั้นเมื่อจะบอกกรรมฐานแก่เธอ พึงบอกวิธีทุกอย่าง คือวิธีไปเพื่อ ( ถือเอา ) อสุภนิมิต
การกำหนด ( จำ ) นิมิต
( ต่างๆ ) โดยรอบ การถือเอานิมิตโดยอาการ ๑๑ การพิจารณาทางไปมา ดังนี้จนถึงอัปปนาวิธี
( อัปปนาวิธี หมายเอา
วิธีปฏิบัติตั้งแต่อุคคหนิมิตเกิด ดังกล่าวไว้ในปฐวีกสิณแล้ว ) ฝ่ายพระโยคีนั้นเรียนเอาวิธีทั้งปวงให้ดีแล้ว
พึงเข้าไปสู่เสนาสนะมีประการดังกล่าวมาก่อนแล้วแสวงหาอุทธุมาตกนิมิตอยู่เถิด