- จริยาก็ย่อมจะมีได้มากหลาย เพราะระคนด้วยวัตถุ
๓ ข้างหน้ามีราคะเป็นต้น เข้ากับวัตถุ ๓ ข้างหลัง มีสัทธา
เป็นต้นอีกก็ได้ ๑
เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า โดยสังเขป จริยาก็มี ๖ เท่านั้น
- คำว่า จริยา ปกติ อุสฺสนฺนตา
( ความหนา ) ( ๓ นี้ ) โดยความก็อันเดียวกัน
- เนื่องด้วยจริยา ๖ นั้น บุคคลก็มี
๖ เหมือนกัน คือ คนราคจริต คนโทสจริต คนโมหจริต คนสัทธาจริต
คนพุทธิจริต คนวิตกจริต เพราะเหตุที่ในบุคคล ๖ จำพวกนั้น
- คนราคจริต ในเวลาประพฤติกุศล ย่อมศรัทธากล้า
เพราะศรัทธาเป็นคุณที่บางใกล้ต่อราคะ จริงอยู่ใน
ฝ่ายอกุศล ราคะเป็นโทษที่สดใส ไม่มอซอ ฉันใด ในฝ่ายกุศล ศรัทธาก็เป็นคุณที่แจ่มใส
ไม่มัวซัว ฉันนั้น ราคะย่อม
แส่หาวัตถุกาม ฉันใด ศรัทธาก็แสวงหาสีลาทิคุณฉันนั้น ราคะไม่ทิ้งสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์เกื้อกูล
ฉันใด ศรัทธาก็ไม่สละ
สิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ฉันนั้น เพราะเหตุนั้น คนสัทธาจริตจึงมีส่วนเสมอกันแห่งคนราคจริต
๒
- ๑. มหาฎีกาว่า เช่น ราคสัทธาจริต
( รักก็ง่าย เชื่อก็ง่าย ) โทสสัทธาจริยา ( โกรธก็ง่าย เชื่อก็ง่าย ) ฯลฯ
ท่านว่าระคนกันไประคนกันมาได้ถึง ๓๖ หรือ มากกว่านั้น
- ๒. ที่ว่าสัทธาใกล้ราคะ
นั้น มีได้หมายความว่า ใกล้จะกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะความจริงนั้น
ฝ่ายหนึ่งเป็นกุศล ฝ่ายหนึ่งเป็นอกุศล ไม่มีวันจะเป็นอันเดียวกันได้ มหาฎีกาท่านว่า
คำว่าใกล้นั้น หมายความว่า
เป็นสภาค คือมีส่วนเสมอกัน เสมอกันโดยอะไรบ้าง ? ก็โดยความนุ่มนวล ความแสวงหา
ความไม่ทอดทิ้ง
ที่ท่านไขความไว้นั่นเอง ท่านว่า สิ่งที่มีอะไรเสมอกัน ถึงตรงข้ามกันโดย กุศล
และ อกุศล ก็เหมือนใกล้กัน
- ส่วนว่าคนโทสจริต ในเวลาประพฤติกุศล
ย่อมมีปัญญากล้า เพราะปัญญาเป็นคุณใกล้ต่อโทสะ จริงอยู่ในฝ่ายอกุศล
โทสะเป็นโทษที่ไม่มีเยื่อใย ไม่ติดพันอารมณ์ ฉันใด ในฝ่ายกุศล ปัญญาก็เป็นคุณที่ไม่มีเยื่อยาง
ไม่พัวพันอารมณ์
ฉันนั้น อนึ่ง โทสะส่ายหาแต่โทษ แม้ที่ไม่เป็นจริง ฉันใด ปัญญาก็สอดหาโทษแต่ที่เป็นจริง
ฉันนั้น *
โทสะเป็นไป
โดยอาการไม่เอื้อสัตว์ ( คน ) ฉันใด ปัญญาก็เป็นไปโดยอาการไม่เอื้อสังขาร ( คือ
เบื่อหน่ายในสังขาร คิดเพิกสังขาร )
ฉันนั้น เพราะเหตุนั้น คนพุทธิจริต จึงมีส่วนเสมอกันแห่งคนโทสจริต
- ฝ่ายว่าคนโมหจริต เมื่อพยายามทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นอยู่
วิตกทั้งหลายที่เป็นอันตราย ( ต่อการทำ
กุศล ) มักจะเกิดขึ้น ( ทั้งนี้ ) เพราะวิตกมีลักษณะใกล้ต่อโมหะ จริงอยู่ โมหะไม่ปักลงไปได้
เพราะมัววุ่นวายอยู่
( ไม่แน่ลงไปได้ ) ฉันใด วิตก ก็ไม่หยุดลงได้ เพราะมัวตรึกไปมีประการต่างๆ (
ไม่รู้จบ ) ฉันนั้น อนึ่ง โมหะ
เป็นโทษที่โอนเอน เพราะความไม่ปักใจมั่น ฉันใด วิตกก็เป็นธรรมที่ไหวไปมา เพราะความคิด
( เปลี่ยนเรื่อง ) เร็ว
ฉันนั้น เพราะเหตุนั้น วิตกจริต จึงมีส่วนเสมอกันแห่งโมหจริต แล
- อาจารย์อีกพวก ๑ กล่าวว่า จริยา
๓ อย่างอื่นอีกก็มี โดยเนื่องด้วยตัณหามานะทิฏฐิ ( แต่ว่า ) ใน ๓ อย่างนั้น
ตัณหาก็คือราคะนั่นเอง มานะเล่าก็สัมปยุตต ( ประกอบเข้ากับ ) ราคะนั้น
- * เกิดโทสะแล้วก็เพ่งโทษผู้อื่น
หาความผิดผู้อื่น แม้จะเป็นเรื่องไม่จริงก็ตาม ส่วนปัญญานั้นพิจารณาหาดูโทษ
( ในสังขาร ) ตามที่เป็นอยู่ เพื่อจะปล่อยวาง
- เพราะฉะนั้น ตัณหา มานะ ทั้ง ๒
นั้น ก็ไม่นอกเหนือราคจริยาไป ส่วนทิฏฐิจริยาก็ไปตามโมหจริยานั่นเอง
เพราะทิฏฐิมีโมหะเป็นต้นเหตุ
- ถามว่า ก็จริยาเหล่านี้นั้น มีอะไรเป็นต้นเหตุ
และจะพึงทราบได้อย่างไรว่า บุคคลนี้เป็นราคจริต บุคคลนี้เป็น
จริตอย่างใดอย่างหนึ่ง ในจริตที่เหลือมีโทสจริตเป็นต้น และอะไรเป็นสัปปายะของบุคคลจริตอะไร
?
ต้นเหตุแห่งจริยา
- ในจริยา ๖ นั้น จะแก้จริยา ๓ ข้างต้นก่อน
- ส่วนความต่อไปนี้ เป็นวินิจฉัยตามแนวมติของอรรถกถาจารย์ทั้งหลาย
ในปัญหาว่าจริยาทั้งหลายมีอะไรเป็น
ต้นเหตุนั้น แท้จริงใน อุสฺสทกิตตนะ ( ตอนว่าด้วยความหนาในวิปากกถา )
ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า สัตว์ทั้งหลาย
เหล่านี้ โดยนิยามแห่งเหตุในปางก่อน ย่อมเป็นผู้หนาด้วยโลภะก็มี หนาด้วยโทสะก็มี
หนาด้วยโมหะก็มี มากด้วย
อโลภะก็มี มากด้วยอโทสะก็มี มากด้วยอโมหะก็มี
- จริงอยู่ ในขณะพยายามทำกรรม ผู้ใดมีโลภะกล้า
อโลภะอ่อน ( แต่ว่า ) อโทสะอโมหะกล้า โทสะโมหะเบา
อโลภะอันอ่อนของบุคคลนั้นย่อมไม่อาจข่มโลภะได้ แต่อโทสะอโมหะกล้าย่อมอาจข่มโทสะโมหะได้
เพราะเหตุนั้น
บุคคลนั้น ( เมื่อ ) เกิดมาด้วยอำนาจปฏิสนธิที่กรรมนั้นอำนวย ย่อมเป็นคนโลภ (
แต่ ) เป็นคนใจเย็น ไม่มักโกรธ
ฉลาดหลักแหลมราวกะเพชร
- ส่วนบุคคลใด ในขณะพยายามทำกรรม
มีโลภะและโทสะกล้า อโลภะอโทสะอ่อน แต่อโมหะกล้า โมหะเบา
บุคคลนั้น โดยนัยก่อนนั่นแล ( คือเกิดมาด้วยอำนาจปฏิสนธิที่กรรมนั้นอำนวย ) ย่อมจะเป็นคนโลภด้วย
เป็นคน
ฉุนเฉียวด้วย แต่ว่าเป็นคนฉลาดหลักแหลมราวกะเพชร ดุจพระทัตตาภยเถระ ฉะนั้น
- บุคคลใด ในขณะพยายามทำกรรม มีโลภะและโมหะกล้า
นอกนั้นอ่อน บุคคลนั้น โดยนัยก่อนเหมือนกัน
ย่อมเป็นคนโลภด้วย เป็นคนทึบด้วย แต่เป็นคนใจเย็นไม่มักโกรธ โดยนัยนั้น
- บุคคลใด ในขณะพยายามทำกรรม มีโลภะโทสะโมหะกล้าทั้ง
๓ ฝ่ายกุศลมีอโลภะเป็นต้นอ่อน บุคคลนั้น
โดยนัยก่อนเหมือนกัน ย่อมจะเป็นคนโลภด้วย ฉุนเฉียวด้วย ลุ่มหลงด้วย
- ส่วนผู้ใด ในขณะพยายามทำกรรม มีอโลภะ
และโทสะโมหะกล้า นอกนั้นอ่อน บุคคลนั้น โดยนัยก่อนเหมือนกัน
ย่อมจะเป็นคนไม่โลภและมีกิเลสน้อย เห็นอารมณ์แม้เป็นทิพย์ก็นิ่งเฉยอยู่ได้ แต่เป็นคนฉุนเฉียวและปัญญาทึบ
- บุคคลใด ในขณะพยายามทำกรรม มีอโลภะอโทสะและโมหะกล้า
นอกนั้นอ่อน บุคคลนั้น โดยนัยก่อนเหมือนกัน
ย่อมจะเป็นคนไม่โลภด้วย ใจเย็นด้วย แต่เป็นคนทึบ โดยนัยเดียวกัน
- บุคคลใดในขณะ พยายามทำกรรม มีอโลภะ
โทสะ อโมหะกล้า นอกนั้นอ่อน บุคคลนั้น โดยนัยก่อนเหมือนกัน
ย่อมจะเป็นคนไม่โลภด้วย ฉลาดด้วย แต่เป็นคนฉุนเฉียวมักโกรธ
- ส่วนบุคคลใด ในขณะพยายามทำกรรม
มีฝ่ายกุศลทั้ง ๓ มีอโลภะอโทสะอโมหะกล้า ฝ่ายอกุศลมีโลภะเป็นต้นอ่อน
บุคคลนั้นย่อมจะเป็นคนไม่โลภ ไม่ฉุนเฉียว และฉลาดด้วย ดุจพระมหาสังฆรักขิตเถระ
ฉะนั้น ดังนี้
- ก็แล บุคคลที่เรียกใน อุสฺสทกิตฺตน
ว่า
- คนโลภ นั้น ( พึงทราบว่า ) ได้แก่คนราคจริต
- ส่วนที่เรียกว่า คนฉุนเฉียวและคนทึบ
ได้แก่คนโทสจริต และคนโมหจริต ( ตามลำดับ )
- ที่เรียกว่าคนฉลาด ได้แก่คนพุทธิจริต
- ที่เรียกว่า คนไม่โลภและไม่ฉุนเฉียว
ได้แก่คนสัทธาจริต เพราะคนไม่โลภและไม่ฉุนเฉียวนั้นมีปกติแจ่มใส
- ปฏิสนธิชนกกรรม อันมีบุพเหตุมีโลภะเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเครื่องแวดล้อมกันและกัน
เป็นต้นเหตุแห่ง
จริยาทั้งหลาย โดยนัยดังนี้ คือ
- คนที่เกิดมาด้วยกรรมอันมีอโมหะเป็นเครื่องแวดล้อม
ย่อมเป็นคนพุทธิจริตฉันใด
- คนที่เกิดมาด้วยกรรมอันมีพลวสัทธาเป็นต้นเครื่องแวดล้อม
ย่อมเป็นสัทธสาจริต
- คนที่เกิดมาด้วยกรรมอันมีวิตก
มีกามวิตกเป็นต้นเป็นเครื่องแวดล้อม ย่อมเป็นคนวิตกจริต
- คนที่เกิดมาด้วยกรรมอันมีเครื่องแวดล้อมมีโลภะเป็นต้นเจือกัน
ย่อมเป็นคนโวมิสสจริต ( จริตเจือ ) ฉันนั้นแล
ลักษณะแห่งจริต
- ส่วนข้อใดที่ว่า " และจะพึงทราบได้อย่างไรว่า บุคคลนี้เป็นราคจริต
" ดังนี้เป็นต้น พึงทราบนัยในข้อนั้น
ดังต่อไปนี้
มาติกาแห่งลักษณะ
- บัณฑิตพึงบอกแจ้งจริยาทั้งหลายได้ โดย อิริยาบถ โดยกิจ
โดยการบริโภค โดยอาการ
มีการดูเป็นต้น และโดยธรรมประวัติ ( ความเป็นไปแห่งธรรม ) นั่นแล
ลักษณะโดยอิริยาบถ
- ในข้อว่า " โดยอิริยาบถ " พึงทราบนัยดังนี้
ก็คนราคจริต เมื่อเดินไปโดยปกติ ย่อมเดินโดยอาการน่ารัก
ค่อยวางเท้า วางเท้ายกเท้าสม่ำเสมอ และรอยเท้าของเขาเป็นรอยกระโหย่งกลาง
- คนโทสจริต เดินราวกะขุด ( ดิน ) ด้วยปลายเท้า วางเท้ายกเท้าด้วยอาการผลุบผลับ
และรอยเท้าของเขา
เป็นรอยขยุ้ม
- คนโมหจริต เดินท่าทางเงอะงะ วางเท้ายกเท้าราวกะคนหวาดสะดุ้ง
และรอยเท้าของเขาเป็นรอยเลอะเลือน
- จริงอยู่ ในเรื่องต้น มาคันทิยาสูตร
พราหมณีก็ได้กล่าวคำประพันธ์นี้ไว้ว่า
- ก็รอยเท้าของคนเจ้าราคะ เป็นรอยกระโหย่งกลาง
รอยเท้าของคนเจ้าโทสะ เป็นรอยขยุ้ม
รอยเท้าของคนเจ้าโมหะ เป็นรอยเลอะเลือน ( แต่ ) รอยเท้าเช่นนี้นี่เป็นรอยเท้าของท่านผู้มี
หลังคา ( คือกิเลส ) อันเปิดแล้ว ดังนี้
- แม้การยืนแห่งคนราคจริต ก็มีอาการนุ่มนวลน่าเลื่อมใส
- แห่งคนโทสจริต มีอาการกระด้าง
- แห่งคนโมหจริต มีอาการส่ายไปมา
แม้ในการนั่ง ก็มีนัยดุจนัยนี้
- ส่วน ( การนอน ) คนราคจริตไม่รีบร้อน
ปูที่นอนเรียบร้อยแล้ว ค่อย ( เหยียดกาย ) นอน รวบองคาพยพ
( วาง ) ไว้ดี นอน ( หลับ ) ด้วยอาการน่าเลื่อมใส และเมื่อถูกปลุกให้ลุก ก็ไม่ลุกทันที
( คือค่อยลุก ) ให้คำตอบ
เบาๆ ราวกะคนมีความรังเกียจ
- คนโทสจริต ( จะนอน ) ก็รีบปูที่นอนแต่พอดีพอร้ายแล้วทิ้งตัวลงทำหน้านิ่วหลับไป
และเมื่อถูกปลุกให้ลุก
ก็ลุกเร็ว ให้คำตอบราวกะคนโกรธ
- คนโมหจริต ปูที่นอนไม่เป็นรูป
นอนเก้งก้าง คว่ำหน้าเป็นส่วนมาก และเมื่อถูกปลุกให้ลุก ทำเสียงหือๆ ( อยู่นั่น
)
ลุกขึ้นอืดอาด
- ก็เพราะบุคคล ๓ ข้างปลาย มีคนสัทธาจริต
คนพุทธิจริต คนวิตกจริต มีส่วนเสมอกัน แห่งคน ๓ ข้างต้น
มี คนราคจริต คนโทสจริต คนโมหจริต ตามลำดับ
- เพราะเหตุนั้น อิริยาบถแม้แห่ง
บุคคล ๓ ข้างปลายมีคนสัทธาจริตเป็นต้นนั้น ก็เป็นเช่นเดียวกันนั่นแล
บัณฑิตพึงบอกจริยาด้วยอิริยาบถ ดังกล่าวมานี้ เป็นอันดับแรก
ลักษณะโดยกิจ
- พึงทราบนัยในข้อว่า " โดยกิจ " ต่อไป ก็แลในกิจทั้งหลาย
เช่นว่า การกวาด คนราคจริตจับไม้กวาดพอดี
( ไม่แน่นไม่หลวม ) ไม่รีบเร่ง ไม่ฟาดทราย ( ให้กระจาย ) กวาดสะอาดเรียบราวกะลาดเสือดอกย่างทราย
- คนโทสจริต จับไม้กวาดแน่น เร่งร้อน ( กวาดกด ) ทำให้ทรายนูนออก
๒ ข้าง มีเสียงเกรี้ยวกราด กวาด
สะอาด แต่ไม่เรียบ
- คนโมหจริต จับไม้กวาดหลวม ปัดไปปัดมา กวาด ( ทั้ง ) ไม่สะอาด
( ทั้ง ) ไม่เรียบ
- ก็แล ในการกวาดเป็นฉันใด ในกิจทั้งปวงมีการย้อมและซักจีวรเป็นต้น
ก็เป็นฉันนั้น
- คนราคจริต มักทำละเอียดละออเรียบร้อย และทำโดยความเคารพ
- คนโทสจริต มักทำแน่นหนาแข็งแรง แต่ไม่เรียบร้อย
- คนโมหจริต มักทำไม่ละเอียด ยุ่ง ไม่เรียบร้อย และไม่รู้จักแล้ว
- และการทรงจีวรแห่งคนราคจริตเล่า ก็ไม่รัดนัก ไม่หย่อนนัก
เป็นปริมณฑลน่าเลื่อมใส
- แห่งคนโทสจริต รัดมากและไม่เป็นปริมณฑล
- แห่งคนโมหจริต หย่อนยานรุ่มร่าม
- แม้บุคคล ๓ ที่เหลือ มีคนสัทธาจริตเป็นต้น ก็พึงทราบตามแนวแห่งบุคคล
๓ ที่กล่าวแล้วนั่นเถิด เพราะ
มีส่วนเสมอกันแล บัณฑิตพึงบอกจริยาโดยกิจ ด้วยประการฉะนี้
ลักษณะโดยการบริโภค
- ข้อว่า " โดยการบริโภค " มีนัยดังนี้
- คนราคจริต ชอบของกินที่บรรจงจัด และของหวาน เมื่อบริโภคเล่า
ก็ทำคำข้าวกลมกล่อม ไม่ใหญ่นัก
เป็นคนรู้จักรส ( อาหาร ) บริโภคไม่รีบร้อน ได้ของกินดีนิดหน่อยก็ดีใจ
- คนโทสจริตชอบของกินของที่หยาบๆ ( ง่ายๆ ) และของเปรี้ยว
เมื่อบริโภคเล่าก็ทำคำข้าว ( ใหญ่จน )
เต็มปาก เป็นคนไม่รู้จักรส ( อาหาร ) รีบบริโภค ได้ของกินไม่ดีนิดหน่อยก็เสียใจ
- คนโมหจริต เป็นคนชอบของกินไม่แน่นอน เมื่อบริโภคเล่าก็ทำคำข้าวเล็กๆ
ไม่กลมกล่อม ปล่อยเม็ดข้าว
( ให้ร่วง ) ลงในภาชนะ ( ที่ใส่ข้าว ) ทำปากเลอะ ความคิดฟุ้งซ่าน ตรึกตรองเรื่องนั้นๆ
ไปกินไป
- แม้บุคคล ๓ ที่เหลือมีคนสัทธาจริตเป็นต้น พึงทราบตามแนวแห่งบุคคล
๓ ที่กล่าวแล้วนั้นเถิด เพราะ
มีส่วนเสมอกันแล บัณฑิตพึงบอกจริยาโดยการบริโภค ด้วยประการฉะนี้