เพือนๆ ชาวไทยที่มาอยู่เยอรมันคงชอบเทศกาลโอสแทร์น เพราะว่าถ้าคนไหนได้ทำงานก็จะมีวันหยุดยาว 4 วันติดต่อกันและในปี ค.ศ 2009 ตรงกับวันที่ 10-13 เมษายน 2552
โดยจะไล่ความสำคัญดังนี้ ในวันที่ 1 วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ (Good Friday) หรือชาวเยอรมันเรียก(Karfreitag "คาร์ ไฟร์ ทาก")เป็นวันศุกร์ก่อนวันอีสเตอร์เพื่อระลึกถึงการที่พระเยซูถูกตรึงบนกางเขนจนสิ้นพระชนม์
ผ่านวันที่ 2 วันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ (Holy Saturday) หรือชาวเยอรมันเรียก (Karsamstag "คาร์ สัมส ทาก") เข้าสู่วันที่ 3 วันอาทิตย์ศักดิ์สิทธิ์ (Easter)หรือเยอรมันเรียก(Ostersonntag "โอส แทร์น ส็อน ทาก")
เป็นวันอีสเตอร์เพื่อระลึกถึงการฟื้นคืนพระชนม์ชีพของพระเยซู และ ในวันที่ 4 วันจันทร์ศักดิ์สิทธิ์ (Easter Monday) ภาษาเยอรมัน(Ostermontag "โอสแทร์น โมน ทาก")เป็นวันเฉลิมฉลองของการคืนพระชนม์ชีพ หรือถ้าเป็นครอบครัวที่ไม่ถือศาสนาคริสต์ ก็เป็นช่วงที่คุณสามีพาไปเที่ยวไหนไกลๆ ได้เหมือนช่วงวันหยุดปีใหม่ แต่ถ้าครอบครัวไหน เป็นชาวคริสตจักร ก็จะต้องไปเข้าโบถ์ และทำพิธีทางศาสนา ครอบครัวเบญเองไม่ใช้ชาวคริสตจักร เพราะคุณสามีไม่ต้องการเสียภาษีศาสนา เลยไม่ถือเสียเลย แต่ก็เข้าร่วมกิจกรรมบางอย่างกับเขาด้วยเหมือนกันนะ เช่น ไปชมกองไฟ หรือกินไข่ช็อคโกแลต ไหนๆ มาอยู่เยอรมันแล้ว ไม่รู้ว่าเขาทำอะไร อย่างไร เพื่ออะไรกันก็จะไม่เข้าใจใช้เปล่า เบญเลยไปรวบร่วมเนื้อหาเรื่องที่เกี่ยวกับวันนี้มาให้เพื่อนๆ ได้อ่านพอเก็บไว้ ทำความเข้าใจไง
มีการกล่าวว่าเทศกาลเฉลิมฉลองอีสเตอร์ เป็นการแสดงความระลึกต่อเทพธิดา อีสเทร (Eastre / Ostara)
เทพธิดาแห่งฤดูใบไม้ผลิดของชาวเผ่า แซคซันโบราณ (Saxon / Altsaechsisch) ซึ่งในอดีตอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศเยอรมัน
จนในศตวรรษที่ 2 ได้มีคณะผู้สอนศาสนาคริสต์ เข้ามาในเขตแคว้นแห่งนี้เพื่อจะเผยแผ่คริสต์ศาสนา แต่ถ้าจะเปลี่ยนพิธีกรรม
และความเชื่อดั่งเดิมของชาวเผ่านี้โดยทันทีคงเป็นไปไม่ได้ และคงจะถูกฆ่าตายเสียก่อน เฉพาะฉะนั้นผู้สอนศาสนาเหล่านั้นจึงต้อง
ใช้ความอดทน ความประนีประนอม ความรอบคอบ อย่างเฉลี่ยวฉลาด นำมาผสมผสานกับพิธีฉลองการฟื้นคืนชีพของพระเยซู
คริสต์ ในการชักจูงอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนกว่าพวกเขาจะนับถือ และเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าของคริสต์ศาสนา
โดยที่ยังคงรักษาเทศกาลอีสเตอร์ดั่งเดิมอยู่ แล้วด้วยความพอเหมาะพอเจาะที่วันแห่งการฟื้นคืนชีพของพระเยซู
อยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับเทศกาลอีสเตอร์นั้น จึงเป็นโอกาสให้ผู้สอนศาสนาเหล่านั้นค่อยๆพยายามปรับเปลี่ยน
และรวมความเป็นคริสต์ศาสนาในเทศกาลอีสเตอร์ จนในที่สุดก็เป็นผลสำเร็จ เมื่อชนเผ่าแซคซันอพยมออกไปทั่วยุโรป
ก็นำทั้งศาสนาคริสต์ และเทศกาลอีสเตอร์นี้ เผยแผ่ออกไปด้วย
ข้ออ้างนี้ถูกยืนยันอีกครั้งเมื่อมีนักวิชาการทางด้านศาสนาได้ยอมรับต้นตอที่มาของคำว่าอีสเตอร์ ซึ่งศึกษาโดยนักวิชาการทาง
ด้านศาสนาชาวอังกฤษ ที่เชื่อว่าในศตวรรษที่ 8 มีบาทหลวงชาวแองโกล แซกซอน (คนอังกฤษโบราณ) ผู้เป็นที่ยกย่องของฝูง
ชน เป็นผู้นำเอาชื่อ“Easter” นี้มาใช้เป็นคนแรก ซึ่งเชื่อว่า ชื่อ"Easter" นั้นมาจากภาษาสแกนดิเนเวียนว่า"OSTRA"
และในภาษาทิวโทนิค(ภาษาพื้นเมืองสแกนดิเนวีย)ว่า"Ostern" หรือ "Eastre" เทพธิดา Eostre (เทพเจ้าของพวกAnglo-Saxon)
ซึ่งเป็นชื่อของเทพธิดาแห่งเทพปกรณัมผู้ที่นำฤดูใบไม้ผลิและการเจริญพันธุ์ และยังเป็นผู้ที่ถูกสักการะและเฉลิมฉลองใน
วันที่เรียกว่า Vernal Equinox (วันในฤดูใบไม้ผลิ)
ส่วนเทศกาลปัสกา ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Passover, ภาษาเยอรมัน เรียกว่า Pessach, ภาษาฮีบรู (ภาษาของชาวยิว)
เรียกว่า Paschal หรืออีกชื่อหนึ่งซึ่งชาวยุโรปชอบเรียกกันคือเทศกาล Pasch หรือต้นตอจริงๆ ของคำว่า "ปัสกา" (Pasqual)
เป็นคำมาจากภาษาฮิบรู แปลว่า "การข้าม หรือการก้าวกระโดดผ่านไป" เป็นวันที่ชาวยิวฉลองการกินขนมปังไร้เชื้อเป็นเวลา 7 วัน
โดยเริ่มจากเย็นในวันที่ 14 ของ เดือนนิชาน (Nisan) คือเดือนแรกของปี ของชาวยิว เดิมมี ชื่อว่า อาบีบ (Abib) ก็ราวๆ เดือนมีนาคม
หรือเดือนเมษายน ซึ่งเป็นการฉลองต่อเนื่องเป็นเวลา 7 วัน ทั้งนี้เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ การเดินทางมายัง
ดินแดนแห่งพันธะสัญญา(คานาอัน) พระเป็นเจ้า(โมเสส) ทรงช่วยเหลือบรรพบุรุษของพวกเขาข้ามทะเลแดง
ให้ออกมาจากการเป็นทาสของชาวอียิปต์ และการเป็นอิสระของชนชาติอิสราเอล เมื่อประมาณ 1500 ปีก่อนคริสตกาล
(หนังสืออพยพ บทที่ 12 ในพระธรรมเก่า "ก่อนสมัยพระเยซู" ) ซึ่งคริสเตียนรุ่นหลังๆ ที่มีเชื้อสายยิว
ได้นำเอาประเพณีฮิบรู (ยิว) รวมถึงเทศกาลอีสเตอร์ในฐานะของ เทศกาลปัสกายุคใหม่ ซึ่งเป็นการระลึกถึง
พระเมสไซอาห์(พระเยซู) ซึ่งได้มีผู้เผยพระวจนะได้ทำนายไว้ล่วงหน้า (หาอ่านเพิ่มเติมได้ในเศคาริยาห์ 9:9)
ทรงไถ่บาปของมนุษยชาติ โดยการยอมรับทรมาน สิ้นพระชนม์ และเสด็จกลับคืนชีพ โดยมีเครื่องหมายผ่าน
จากความตาย และกลับคืนชีพเป็นสัญลักษณ์ การ "ข้ามพ้น" จากความทุกข์ มาสู่ความยินดี จากบาปและ
ความตายมาสู่ชีวิตใหม่ เทศกาลปัสกายุคใหม่ของชาวคริสต์นั้น จึงไม่ได้เป็นการฉลองการกินขนมปังไร้เชื้อ
เหมือนชาวยิวแต่เก่าก่อนแล้ว
และในศาสนายิว จะฉลองแค่เรื่องเทศกาลปัสกา "การผ่านข้าม"
เพราะตามความเชื่อของศาสนายิว พระเยซูไม่ใช่บุตรของพระเจ้าอย่างที่ศาสนาคริสต์เชื่อ เทศกาลฉลองของชาวยิว
จึงไม่ได้เรียกว่าอีสเตอร์ แต่เทศกาลปัสกา (Passover) ในคริสเตียนที่มีเชื้อสายยิว รุ่นหลังๆ ก็ใช้เรียกเป็นวันอีสเตอร์ในแถบยุโรปด้วย
ชาวคริสต์ในประเทศไทยส่วนมากจึงเชื่อว่าวันอีสเตอร์นั้น เป็นเทศกาลปัสกา เพราะชาวโปรตุเกสเป็นผู้เข้ามา
เผยแพร่ศาสนาคริสต์ในประเทศไทยยุคสมัยแรกๆ หรือเราจะได้ยินชาวไทยจะเรียกผู้นับถือนิกายนี้ว่า "คริสตัง"
ตามเสียงอ่านภาษาโปรตุเกส
ความสำคัญในศาสนาคริสต์
คือ ชัยชนะเหนือความตายของพระเยซูคริสต์ ถือเป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุด เป็นวันที่พระเยซู กระทำสำเร็จ พระราชกิจแห่งการไถ่บาปมวลมนุษย์อย่างสมบูรณ์ โดยจะเรียกว่า "สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์" ภาษาอังกฤษ( Holy Week) ภาษาเยอรมัน( Karwoche "คาร์ ว๊อฆ เฆะ) คือ สัปดาห์ก่อนเทศกาลอีสเตอร์ เป็นสัปดาห์สุดท้ายแห่งการทำพันธกิจแห่งการช่วยกู้โลกให้รอด จะ เริ่มเหตุการณ์ตั้งแต่
วันปาล์มซันเดย์หรืออาทิตย์ใบลาน (Palm Sunday, Palmsonntag " ปาล์ม ส๊อน ทาก") ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ก่อนอาทิตย์วันอีสเตอร์
พระเยซูประทับนั่งบนหลังลาเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างผู้พิชิต ที่มีชาวเมืองต่างโห่ร้องต้อนรับพระองค์ว่า “โฮซันนา แก่ราชโอรสของดาวิด
ขอให้ท่านผู้ที่เสด็จมาในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าทรงพระเจริญ โฮซันนาในที่สูงสุด” (มัทธิว 21:1-11) ประชาชนก็พากันไปตัดกิ่งปาล์ม
มาโบกต้อนรับ บ้างก็เอาเสื้อคลุมปูลงตามทางที่พระองค์เสด็จ และกิ่งไม้ใบลาน บนทางที่พระเยซูจะผ่าน และชูใบปาล์ม ต้อนรับพระองค์
ด้วยความเคารพชื่นชม ให้เกียรติแก่ผู้ที่เขาเชื่อมั่นว่าพระองค์คือองค์พระเมสิยาห์ เป็นพระผู้ช่วยให้รอด
วันจันทร์ต่อมาพระเยซูทรงชำระพวกพระในวิหาร โดยขับไล่ผู้ซื้อขายในบริเวณพระวิหาร และคว่ำโต๊ะผู้รับแจกเงิน
และคว่ำม้านั่งผู้ขายนกพิราบ (มัทธิว 21:12-17) พวกธรรมาจารย์ ผู้นำศาสนาซึ่งเป็นพวกที่เคร่งครัด
และเป็นพระในมหาวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม ได้รวมตัวกันวางแผนฆ่าพระองค์โดยอาศัยมือของพวกโรมัน
ในวันอังคาร พระเยซูทรงสาปต้นมะเดื่อ ที่สะพรั่งใบ ไม่มีผล ให้เหี่ยวตายไปต่อหน้าต่อตาพวกศิษย์ เป็นการสอน
เรื่อง "ไม่ได้อยู่ในฤดูกาลที่จะมีผล" หรืออุปมาได้กับกรุงเยรูซาเล็มที่ไม่สัตย์ซื่อ ที่มีปัญหา และพระองค์ยังต้องเผชิญกับผู้มีอำนาจคือ
พวกพระคนหน้าซื่อใจคด ภายในเต็มไปด้วยความเท็จเทียมและอธรรมในวิหาร และทรงสอนในพระวิหาร และโต้แย้งกับบรรดาผู้นำ
ทางศาสนา ในเรื่องต่างๆ (มัทธิว 21:18-25:1-40)
วันพุธ พระเยซูทรงเก็บตัวเงียบอยู่ที่บ้านเบธานี หรือบนภูเขามะกอกเทศ เพื่อเตรียมตัวรับการทนทุกข์ทรมานบนไม้กางเขน
(Christian cross) ภาษาเยอรมันเรียก Kreuz เพราะพระองค์ทรงทราบว่าจะต้องทนทุกข์ทรมานจากพวกมหาปุโรหิตและพวกธรรมาจารย์
จนต้องถูกประหารชีวิต แต่ในวันที่สามพระองค์จะทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมาใหม่
ในวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ (Maundy Thursday, Gründonnerstag) เป็นวันต้นเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อ “ปัสกา”ราว ๆ ค.ศ.33
พระองค์ทรงล้างเท้าอัครสาวกหรืออัครทูตสิบสองคน ได้แก่ ซีโมน (ที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า เปโตร), อันดรูว์ (น้องชายของซีโมน), ยากอบบุตรเศเบดี, ยอห์น (น้องชายของยากอบ), ฟีลิป,
บารโธโลมิว, โธมัส, มัทธิว, ยากอบบุตรอัลเฟอัส, เลบเบอัส (ที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า ธัดเดอัส), ซีโมนพรรคชาตินิยม และยูดาสอิสคาริโอท
(ผู้ที่อายัดพระเยซู) (มัทธิว 10:1-4) ได้ตั้งมหาสนิทร่วมรับประทานปัสกาด้วยกัน อาหารในคืนนั้นประกอบด้วยขนมปังและเหล้าองุ่น(ไวน์)
พระองค์ให้กำลังใจสาวก แล้วเสด็จไปอธิษฐานในสวนเกทเสมนี (สวนมะกอกเทศ , Gethsemane, Getsemani) พร้อมกับเหล่าสาวก
(มัทธิว 26:17-46) ซึ่งก็เป็นอาหารมื้อสุดท้าย เพราะหลังจากที่ได้เสวยอาหารแล้ว ยูดาสอิสคาริโอท สาวกคนหนึ่งในสิบสองคนนั้น
ได้ออกจากบ้านไป หาพวกปุโรหิต ฟาริสีและทหารมาจับพระองค์ เพื่อแลกกับสามสิบเหรียญเงิน (ภายหลังยูดาสสำนึกผิดได้และผูกคอตาย)
วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ (Good Friday,Karfreitag) คือวันที่พระเยซูถูกนำตัวไปพิพากษา เพราะพวกธรรมาจารย์และมหาปุโรหิตต่างพยายามหา
พยานเท็จมาปรักปรำพระองค์ แต่ถึงแม้มีพยานเท็จหลายคนให้การก็ไม่สามารถหาหลักฐานได้ ในที่สุดมหาปุโรหิตจึงถามถึงความเป็น
พระคริสต์ของพระองค์ เมื่อพระองค์ยอมรับว่าทรงเป็นพระคริสต์ มหาปุโรหิตจึงยุยงคนทั้งปวงว่า พระเยซูพูดหมิ่นประมาทพระเจ้าเพราะ
ยกตนเองขึ้นเป็นพระคริสต์ คนทั้งปวงจึงต้องการให้ปรับโทษพระเยซูถึงตาย
ปอนติอุส ปิลาตุส(Pontius Pilate) ภาษาเยอรมันเรียก Pontius Pilatus หรือ ปีลาต ซึ่งเป็นผู้ว่าการแคว้นยูเดีย (Judean) ภาษาเยอรมันเรียก Iudaea
เป็นข้าหลวงของโรมันในสมัยจักรพรรดิออกุสตุส ซีซาร์(Augustus Caesar) รู้แน่ชัดว่าพระเยซูคริสต์ไม่ผิด แต่ก็ถูกกดดันจากกลุ่มชาวยิวที่ไม่เชื่อว่า
พระเยซูเป็นบุตรของพระเจ้า ที่มาเรียกร้องในที่ว่าการแคว้นให้ออกหมายสั่งประหารพระเยซู และเพื่อจะเอาใจฝูงชน ก็สั่งประหารพระเยซูแต่
ปีลาตก็เอาน้ำล้างมือต่อหน้าหมู่ชน เพื่อแสดงว่าเขา ไม่มีส่วนรับผิดชอบด้วยกับการประหารพระเยซู
พระเยซูคริสต์ ถูกตรึงด้วยไม้กางเขน จนสิ้นพระชนม์ในตอนบ่าย พวกยิวไม่ต้องการให้ศพค้างอยู่บนไม้กางเขนจนถึงวันอาทิตย์
เพราะวันเสาร์เป็นวันสะบาโต จึงมีฟาริสีสองคน คือ โยเซฟชาวอาริมาเรียและฟิโคเดมัส ได้ไปขอพระศพพระเยซูจากปีลาต เมื่อด้รับอนุญาตทหารจึงทุบขาของผู้ที่ถูกตรึงให้หักเพื่อให้แน่ใจว่าเสียชีวิตแล้ว เพื่อจะได้เอาศพลงจากไม้กางเขน พวกทหารจึงมาทุบขา ของผู้ร้ายทั้งสองคนที่ถูกตรึง อยู่กับพระเยซูจนเสียชีวิต เมื่อมาถึงพระเยซูและเห็นว่าเสียชีวิตแล้ว พวกทหารไม่ได้ทุบขาพระองค์ แต่ใช้ทวนแทงที่สีข้างของพระองค์ จนพระโลหิตไหลออกจากร่างกายของพระองค์ โยเซฟจึงเอาผ้าป่านกับเครื่องหอมพันพระศพของพระองค์
ตามธรรมเนียมชาวยิว แล้วเชิญพระศพไปประดิษฐานไว้ในอุโมงค์ฝังศพใหม่ที่ยังไม่ ได้ฝังศพผู้ใดเลย ซึ่งอยู่ในสวนแห่งหนึ่งซึ่งอยู่เชิงภูเขา
กลโกธา ในตำบลที่พระองค์ถูกตรึงนั้น แล้วกลิ้งก้อนหินขนาดใหญ่ปิดปากอุโมงค์ไว้
ผ่านวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ (Holy Saturday, Karsamstag) พระเยซูคริสต์ยังถูกฝังอยู่ในอุโมงค์ จน ถึง
วันอาทิตย์ศักดิ์สิทธิ์ (Easter, Ostersonntag) ในตอนเช้ามืดพระองค์ทรงเสด็จ กลับฟื้นคืนพระชนม์ชีพหลังจากสามวันที่พระองค์
สวรรคตไปแล้ว เป็นวันที่พระเยซูคริสต์ มีชัยชนะเหนือความตาย
และ วันจันทร์ (Easter Monday, Ostermontag) ซึ่งเป็นวัน ฉลองการกลับมาของ พระเยซู อีกหนึ่งวันเป็นการฉลองการเอาชนะ
ความตายและความมืดมนของฤดูหนาวอันยาวนานกลับคืนมาสู่การมีชีวิตใหม่
เทศกาลของคริสเตียนนี้จริงๆ แล้วได้พัฒนามาจากเทศกาล “ปัสกา” (Passover)ของยิวยุคใหม่ ตามพระคัมภีร์ใหม่ เหตุการณ์ต่างๆ
ในช่วงสุดท้ายใน ของพระเยซูคริสต์อยู่ในช่วงเทศกาลปัสกาดังกล่าว! ดั้งเดิมแล้ววันอีสเตอร์ได้ถือปฏิบัติกันในวันปัสกา(วันที่ 14 เดือน นิสาน)
จนกระทั่งในกลางศตวรรษที่ 2 คริสเตียนบางกลุ่มเริ่มเฉลิมฉลองวันอีสเตอร์นั้น ในวันอาทิตย์ หลังจากวันที่ 14 เดือนนิสาน โดยถือเอาวันศุกร์
ก่อนหน้า เป็นวันที่พระเยซูคริสต์ถูกตรึงสิ้นพระชนม์ สุดท้ายก็เกิดการโต้เถียงในเรื่องวันที่ถูกต้องในการฉลองอีสเตอร์จนกระทั่งในปี ค.ศ.197
วิคเตอร์ แห่งโรมได้บีบ พวกคริสเตียนที่ยังยืนกรานที่จะฉลองอีสเตอร์ในวันที่ 14 เดือนนิสานให้ออกไปจากหมู่คณะ
การถกเถียงยังคงดำเนิน อยู่ต่อไปจนกระทั่งมาถึง คริสตศักราช 325 จักพรรดิคอนสแตนตินพยายามสร้างแบบแผนในการฉลองวันสำคัญทางศาสนาทั้งสองโดยจัดประชุมสภา
ที่เมืองไนเซีย ซึ่งที่ประชุมได้กำหนดให้ฉลองเทศกาลอีสเตอร์ในวันอาทิตย์แรกหลังวันที่ 14 เดือนนิสาน แทนการฉลองในวันที่ 14 เดือนนิสาน เหมือนที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิมด้วยเหตุนี้เอง วันอีสเตอร์จึงได้รับการเฉลิมฉลอง หลังจากพระจันทร์เต็มดวง ของฤดูใบไม้ผลิ หรือหลังจากวันที่ 21 มีนาคม (ซึ่งเป็นวันที่เปลี่ยนจากฤดูหนาว สู่ฤดูใบไม้ผลิ และเป็น“วสันตวิษุสวัต” (Vernal equinox) ที่ กลางวัน และ กลางคืน ยาวเท่ากัน และดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรของโลกมากที่สุด เฉพาะฉะนั้นวันอีสเตอร์จะเป็นวันอาทิตย์วันหนึ่งวันใด ในระหว่างวันที่ 22 มีนาคม กับวันที่ 25 เมษายน ของทุกปี)
"Ostern wird am ersten Sonntag nach dem ersten Vollmond nach Fruehlingsanfang gefeiert."
(จากบัญญัติขององค์ประชุมไนเซีย (Nicaea) ในค.ศ. 325)
ข้อกำหนดดังกล่าวถูกนำมาใช้ปฏิบัติกันจนถึงปัจจุบัน ยกเว้นในศาสนจักรออร์ทอดอกซ์ ซึ่งมีปฏิทินถือปฏิบัติ
แตกต่างออกไป
คำว่า “อีสเตอร์” ไม่มีอยู่ในพระคัมภีร์ แต่มีเรื่องราวความหมายและความสำคัญของเทศกาลในพระคัมภีร์! ว่าเป็น "เทศกาล
การฉลองการกลับคืนชีพของพระเยซู หลังจากสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน " คำว่าอีสเตอร์ ได้มาจากนามของ“ เทวีหรือพระแม่เจ้าแห่งฤดู
ใบไม้ผลิ” ที่ถูกนำมาใช้เรียกอาจเป็นเพราะว่าอยู่ในช่วงเวลาเดี่ยวกันกับกาลเฉลิมฉลองฤดูใบไม้ผลิของชาวยุโรปดังที่อ้างข้างต้น
และมาร่วมเข้ากับเทศกาลปัสกายุคใหม่ ในคริสเตียนที่มีเชื้อสายยิว ก็อาจเป็นไปได้
ความหมายจาก Michael D.Harkavy คือ “เทศกาลหลักประจำปีของคริสตศาสนจักรเพื่อเฉลิมฉลองการฟื้นขึ้นมา
จากความตายขององค์พระเยซูคริสต์ เชื่อมโยงกับฤดูใบไม้ผลิ และเคียงคู่ไปกับเทศกาลปัสกาของชาวยิว อีสเตอร์ได้รับการรับรอง
โดยคริสตศาสนจักรตะวันตก ตั้งแต่การประชุมสภาไนเซีย (ปี ค.ศ.325) และถือปฏิบัติกันในวันอาทิตย์แรกหลังจากคืนวันเพ็ญ
ที่ตามหลังวัน “วสันตวิษุสวัต” (the vernal equinox)1 แต่สำหรับคริสตศาสจักรตะวันออก 2 จะเฉลิมฉลองภายหลังจากนั้น”
ส่วนไข่อีสเตอร์ของกระต่าย (Osterhase) หรือการแต่งแต้มสีบนไข่ แล้วนำไปแลกเปลี่ยน
หรือให้เป็นของขวัญกัน เกิดขึ้นมานานแล้ว ก่อนที่พระเยซูคริสต์กำเนิดเสียอีก ทั้งชาวเปอร์เซีย ชาวอียิปย์
และชาวโรมันโบราณ โดยทำในช่วงงานเฉลิมฉลองเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ เพื่อเป็นสัญลักษณ์การเริ่มต้น การงอกเงย
และความอุดมสมบูรณ์ที่จะมาถึงของธรรมชาติ หลังความหนาวเย็น และแห้งแล้งจากฤดูหนาวและมีผู้รู้กล่าวว่า
ชาวยุโรปเคยใช้ ไข่กลิ้งไปตามท้องทุ่ง เพื่อบนบานให้ทุ่งนาของตนเกิดผลผลิตอย่างบริบูรณ์เมื่อคริสตศาสนาแพร่ไปถึงยุโรป
และยังมี”ตำนาน”เรื่องนี้มีที่มาจากระฆังวัด ในยุคกลาง (Middle Age) ไว้ว่า บรรดาระฆังวัดถูกลงโทษ
ห้ามสั่นเด็ดขาดตั้งแต่วันพฤหัสฯศักดิ์สิทธิ์จนถึงวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อเหล่าระฆังถูกห้ามส่งเสียง พวกมันทุกใบเลยพากันออกเดินทาง
ไปเข้าเฝ้าพระสันตะปาปาที่กรุงโรม เมื่อระฆังทุกๆใบได้แก้บาปและรับพรจากพระสันตะปาปาแล้ว ก็พากันกลับมาลั่นเหง่งหง่างยัง
บ้านเมืองของตนทันวันปัสกาพอดี นอกจากนั้น พวกมันยังนำไข่ไก่กลับมาเป็นของฝากอีกด้วย ไข่ไก่จึงกลายเป็นของขวัญของทุกคน
ในวันปัสกาด้วยเหตุฉะนี้ (ว่าไปนั้น....... จากผู้เขียน)
อีกตำนวนหนึ่งคือ ในระหว่างเทศกาลมหาพรต คริสตชนจะไม่รับประทานเนื้อสัตว์บก
และไม่บริโภคไข่ด้วย แต่ทว่า แม่ไก่ไม่เคยหยุดออกไข่ตลอดสี่สิบวันนี้ แม้จะเป็นเทศกาลมหาพรตก็ตามที ตลอดระยะเวลาสี่สิบ
วันที่คนถือศีล ไข่ไก่ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ไข่ที่ออกมาในช่วงต้นๆ ของเทศกาลมหาพรตจะเน่าเสียไปบ้าง แต่เมื่อถึงปัสกา ก็ยังมีไข่ไก่ดีๆ
เหลืออยู่อีกมากมาย แล้วจะให้เอาไข่ดีๆเหล่านี้ไปไหน ลำพังกินกันในครอบครัวคงไม่หมดแน่ บ้านที่มีเล้าไก่จึงแจกจ่ายไข่ไก่ของตนไป
ทั่วหมู่บ้านในวันปัสกา นี่ไงล่ะ (อันนี้ก็เข้าใจคิดดี....... จากผู้เขียน)
หรืออีกข้อกล่าวอ้างที่ว่า ไข่ปัสกาหรือไข่อีสเตอร์ เป็นเครื่องหมายถึงหินปิดพระคูหา
ที่ฝังพระศพพระเยซู ซึ่งพระองค์ออกจากพระคูหาสู่ชีวิตใหม่แห่งการกลับคืนพระ ชนมชีพ
แม้ว่าจะไม่แน่ชัดว่า การมอบไข่นั้นเข้ามาเกี่ยวข้องกับเทสกาลอีสเตอร์ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ไข่ก็เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตและ
การถือกำเนิดขึ้นอีกครั้งมานานแสนนานแล้ว การระบายสีสันลงบนไข่นั้นเกิดขึ้นย้อนหลังไปถึงสมัยโรมยุคโบราณ คือ ช่วงปี 1200
ราชพงศาวดารของอังกฤษบันทึกว่า กษัตริย์เอดเวิร์ดที่ 1 ทรงใช้เงิน 18 เพนนี เพื่อซื้อไข่ 450 ฟองที่ถูกระบายสีเป็นรูปใบไม้สีทอง
แจกจ่ายให้แก่สมาชิกของราชวงศ์
ประเพณีค่อยๆ เป็นที่นิยมแพร่หลายในเวลาต่อมา อีก 500 ปีให้หลัง กษัตริย์หลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสถึงกับทรงกำหนด ให้อีสเตอร์เป็นประเพณีถือปฏิบัติ โดยทรงขอให้พสกนิกรมอบไข่ใบใหญ่ที่สุดที่ออกมาในช่วงสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์แด่พระองค์ และในวันอีสเตอร์ซันเดย์พระองค์ก็จะทรงแจกไข่ระบายสีทองแก่ประชาชนและข้าราชบริพาร
พิธีการและขนบธรรมเนียมของอีสเตอร์นั้นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ในประเทศ ที่นับถือนิกายออร์ทอดอกซ์ เช่น ในกรีซ จะระบายไข่เป็นสีแดงซึ่งหมายถึงโลหิตของพระเยซู และในช่วงเลาเที่ยงคืนของวันเสาร์ ก็จะพากันตีไข่ให้แตก เท่ากับเป็นการป่าวประกาศการฟื้นคืนชีพของพระเยซู
ในฝรั่งเศส การตีระฆังโบสถ์ในเช้าของวันเสาร์เป็นสัญลักษณ์หมายถึงการกลับจากโรมพร้อมไข่เต็มตะกร้า ทั้งนี้พิธีปฏิบัติดังกล่าวถูกห้ามระหว่างศตวรรษที่ 7 ด้วยเป็นสัญลักษณ์ของการไว้ทุกข์จากวันมอนดีเทอร์สเดย์ (วันพฤหัสบดีก่อนวันอีสเตอร์) ถึงวันอีสเตอร์ซันเดย์ (วันอีสเตอร์)
ระยะเวลาผ่านไปหลายร้อยปี แม้แต่กระต่ายอีสเตอร์ ยังคงความหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ ความเจริญงอกงาม และการแผ่ขยาย เผ่าพันธุ์อย่างรวดเร็ว มาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ
ก็ได้เกิดใหม่เช่นกัน กระต่ายปุกปุยแสนน่ารักที่เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลในปัจจุบันนั้น มีต้นกำเนิดช่วงทศวรรษ 1500 จากเรื่องราวของ ออชเทอร์ ฮาวส์ กระต่ายวิเศษที่เด็กๆ ชาวเยอรมันเชื่อว่าจะออกไข่ทิ้งไว้ให้ตามสวน
ชาวดัตช์และชาวเยอรมันรุ่นแรกที่เดินทางข้ามมหาสมุทรไปตั้งถิ่นฐานใหม่
ได้นำไข่และกระต่ายอีสเตอร์ไปสู่ทวีปอเมริกาด้วย และอีกหลายร้อยปีที่ผ่านมาในปี ค.ศ. 1519 ตอนนั้น นักสำรวจชาวสเปน เฟอร์ดินัน
คอร์เตส ได้นำเอาผงโกโก้มาจากแม็กซิโก ทำให้ชาวยุโรปรู้จักช็อกโกแลต และต่อมามีการทำการค้าช็อกโกแลตที่เติบโตขึ้น
ทำให้ห้างร้านต่างๆ ล้วนแต่มีขนมหวานรูปกระต่ายและไข่วางขายเต็มเพียบในช่วงเทศกาลอีสเตอร์แต่ละปี......
และหลังปี ค.ศ. 1900 เราจะเห็นไข่หรือกระต่ายที่ทำมาจากชอลโกแล็ตแล้วหุ้มห่อด้วยกระดาษสีสันสดใสแทนตามสไตส์
ความสะดวกสบายของคนสมัยใหม่ หรือไข่พลาสติกระบายสีสำเร็จรูป ตกแต่งตามพุ่มไม้ และต้นไม้เล็กๆในสวนหน้าบ้านเสียส่วนใหญ่
เพราะไข่ปัสกาที่ทำด้วยช็อคโกแลต ในประเทศยุโรปที่มีอากาศเย็น ช็อคโกแลตไม่ละลายง่าย และสามารถนำมาแจกผู้มาร่วม
พิธีวันอาทิตย์ปัสกาได้ดี
เทศกาลอีสเตอร์จึงเป็นสัญญลักษณ์ของการเกิดใหม่ การมีชีวิตใหม่ จะมีการตกแต่งด้วยไข่ และ กระต่าย
สำหรับเด็กๆที่นี้ (เยอรมัน และอีกหลายประเทศในยุโรปและอเมริกา)
เทศกาลอีสเตอร์ เป็นเทศกาลที่พวกเขารอคอยไม่แพ้เทศกาลคริสตมาส เพราะจะได้หยุดปิดเทอม 1-2 อาทิตย์ และ
ได้รับขนม และ ของขวัญจากพ่อ แม่ ญาติผู้ใหญ่ หรือคนข้างบ้าน นอกจากนั้นตอนเช้า เด็กๆก็สนุกเพลิดเพลินกับการค้นหา
Osterhase (ไข่ทาสีที่กระต่ายเอาไปซ่อนไว้ ) เป็นไข่สีสันสดใส และชอลโกแล็ตรูปไข่หรือรูปกระต่าย ที่ถูกซุกซ่อนไว้ตามพุ่มไม้
และใต้ต้นไม้ในสวน
กิจกรรมทางศาสนา
ในวันปาล์มซันเดย์หรืออาทิตย์ใบลาน (Palm Sunday, Palmsonntag)
วันอาทิตย์ก่อนอาทิตย์วันอีสเตอร์ เป็นวันระลึกถึงการเสด็จเข้าเมืองเยรูซาเล็มของพระเยซู ในพิธีมิสซาก็จะมีการเสกใบลาน แล้วก็แห่ใบลาน
เป็นการระลึกถึงเหตุการณ์นี้ แล้วก็แจกจ่าย ใบลานให้ศาสนิกชนนำกลับไปบ้าน เพื่อเป็นสิริมงคล ส่วนมากก็จะนำไปพับกันให้สวยงามแล้ว
ก็ตั้งบนหิ้งพระ แล้วก็เอามาให้โบสถ์ ในปีถัดไป เพื่อนำไปเผาสำหรับใช้ในพิธีรับ เถ้าในวันพุทธรับเถ้า
วันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ (Maundy Thursday, Gruendonnerstag)
ระลึกถึงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูกับอัครสาวก และการรำพึงในสวน เกทเซมนี (สวนมะกอก, Gethsemane, Getsemani) ก่อนที่จะถูกนำตัวไป
ตรึงกางเขน ใน พิธีมิสซาจะมีพิธีล้างเท้า โดยพระสงฆ์จะล้างเท้าคนสิบสองคน ตามข้อความในพระวรสารที่กล่าวถึงพระเยซูล้างเท้าอัครสาวกสิบสองคน
เป็นการแสดงถึงความไม่ถือตัวของพระเยซู (ตามที่พระศาสนจักรตีความ)อ่านต่อพิธีกรรม
วันศุกร์ประเสริฐ (Good Friday,Karfreitag)
คือวันที่ พระเยซู สิ้นพระชนม์ เพราะถูกตรึงด้วย ไม้กางเขน ในพิธีมิสซา ชาวคริสต์จะไปเข้าโบถ์ตั้งแต่ 10 นาฬิกาจนถึง 12 นาฬิกา จะมีการเดินรูป
๑๔ ภาค ระลึกถึงเหตุการณ์ ๑๔ เหตุการณ์ ตั้งแต่การพิพากษา จนถึงนำพระศพไปเก็บ แล้วก็มีแห่กางเขนรอบโบสถ์ เพื่อระลึกถึงวันการตรึงพระเยซูคริสต์บนไม้กางเขน และทรงรับความทรมานและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระองค์
โครงสร้างของพิธีกรรมแบ่งออกเป็น 3 ภาค คือ ภาควจนพิธีกรรม ภาคนมัสการกางเขน ภาครับศีลมหาสนิท
พระสงฆ์ใส่กาซูลาสีแดง สีแดงหมายถึง พระโลหิตที่พระเยซูเจ้าจอมกษัตริย์ทรงหลั่งบนไม้กางเขนอันเป็นการแสดงความรักและลบล้างบาปของเรา (สีแดงเป็นสีของมรณสักขี ซึ่งยอมสละชีวิตของตนตามแบบอย่างของพระเยซูเจ้า) พิธีระลึกถึงพระทรมานให้ทำตอนบ่ายราว 3 โมง แต่อาจจะเลื่อนไป ทำในเวลาที่เหมาะกว่า เพื่อให้สัตบุรุษมาร่วมพิธีได้มากที่สุดก็ได้ แต่ต้องไม่ล่าเกิน 3 ทุ่ม
ในวันนี้มีความเชื่อกันมาแต่โบราณว่าวันนี้เหมาะที่จะเพาะดอกไม้ ถ้าใครตัดผมวันนี้เส้นผมจะแข็งแรงและดก ชาวเวสต์ฟาเลนกล่าวว่า ถ้าฝนตกวัน Karfreitag จะมีศิริมงคลไปตลอดทั้งปีอ่านต่อพิธีกรรม
เสาร์ศักดิ์สิทธิ์ (Holy Saturday, Karsamstag)
ในไทยบางทีเรียกว่า วันเสาร์เสกน้ำเสกไฟ ในพิธีมิสซา จะเริ่มประมาณ 20 นาฬิกา บางวัดอาจดึกกว่านี้ ชาวคริสตจักรส่วนใหญ่ จะสวมชุดขาวไปเข้าโบถ์ มาร่วมพิธีกรรม พร้อมกับเทียนปัสกาสีขาวที่เรียกว่า Osterkerzeมีการเสกน้ำเสก แล้วก็เสกไฟที่จะนำไปจุดบนเทียนปัสกา ไม่มีการรับศีลในมิสซา แต่จะมีคนสวดภาวนาข้ามเที่ยงคืนในโบสถ์หลังมิสซาจบ เรียกกิจกรรมนี้ว่าตื่นเฝ้า เพื่อแสดงถึงการรอคอยการกลับคืนชีพ ของพระเยซู เป็นการขอบคุณพระเจ้า” Dank sei Gott” ที่พระเยซูคริสต์ทรงสละชีวิตของพระองค์บนไม้กางเขนเพื่อความผิดบาปของชาวคริสตจักร หลังเที่ยงคืนแล้ว จะอนุญาตให้สัตบุรุษนำน้ำเสกกลับไปบ้าน ใช้พรมบุคคล บ้าน และห้องต่างๆ บางแห่งมีการอวยพรอาหาร หรือสิ่งของบางอย่างเพื่อให้เป็นมงคลชีวิตในวันฉลองนี้ จนถึง 24 นาฬิกา และหลังจากนั้นจะมีพิธี Osterfeuer เริ่มมาประมาณ ค.ศ.1559 เหมือนเป็นสัญญาลักษณ์การฟื้นคืนชีพของพระเจ้าจากการตายอีกครั้ง อ่านต่อพิธีกรรม
ในวันอาทิตย์อีสเตอร์ (Easter, Ostersonntag)
คือวันที่พระเยซู ฟื้นคืนชีพหลังจากสามวันที่พระองค์สวรรคตไปแล้ว เป็นวันระลึกถึงการกลับคืนชีพในรุ่งอรุณของวันอาทิตย์ มีการ
ฉลองใหญ่ประจำปี พอ ๆ กับวันคริสต์มาส บางวัดเริ่มนมัสการพระเจ้าตั้งแต่ 6 นาฬิกา และหลังจากนั้น บางวัดอาจมีประเพณีซ่อนไข่
ที่จัดขึ้นเพื่อความสนุกสนานบรรยากาศจะ ค่อนข้างรื่นเริง โดยนำไข่ที่จัดเตรียมไว้ซึ่งมักจะเป็นไข่ต้มที่ย้อมสีต่างๆ อย่างสวยงาม อาจจะวาดเป็นลวดลาย
หรือประดิษฐ์เป็นงานศิลปแบบต่าง ๆ นำไปซ่อนไว้ตามบริเวณต่างๆ ของคริสตจักร และให้สมาชิกของคริสตจักรหาไข่เหล่านั้น
บางคริสตจักรอาจจะมีรางวัลสำหรับผู้ที่หาไข่ได้มากอีกด้วย บางคนอาจจะพลีกรรมด้วยการไม่กินเนื้อสัตว์บ้าง หรือสวดสายประคำทุกวัน อ่านต่อพิธีกรรม
และ วันจันทร์ (Easter Monday,Ostermontag)
ซึ่งเป็นวันฉลองอีกวัน และถือเป็นวันครอบครัว
กิจกรรมครอบครัวในช่วงเทศกาลนี้
เพื่อต้อนรับเทศกาลอีสเตอร์ ตามบ้านมักจะตกแต่งด้วยของประดับ
อันเป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลอีสเตอร์ อย่างไม้กางเกง ตุ๊กตากระต่าย และ ไข่สีสันสดใส(Osterei) ตามหน้าต่างและภายในห้องเรือน
และนอกจากนั้นก็มีการระบายสีของเปลือกไข่ สำหรับนำมาประดับตบแต่งบริเวณบ้าน และบริเวณสวนด้วย
และยังมีการระบายสีของไข่ต้มเพื่อทำ Osterei สำหรับรับประทานกันเอง ใช้ประดับบ้านและสำหรับการละเล่นต่างๆ เช่น
นำไปวัดในเย็นวันเสาร์ เพื่อร่วมกิจกรรมของทางคริสตจักรในเช้าวันอาทิตย์ หรือทำเล่นกันเองในครอบครัว
ซึ่งจะนำ Osterei ไปซ่อนในค่ำคืนวันเสาร์หรือเช้ามื้อในวันอาทิตย์ก็แล้วแต่สะดวก ซึ่ง Osterei ที่ถูกซ่อนนี้จะเรียกว่า
Osterhase (ไข่กระต่าย) เกมม์นี้ส่วนมากแล้ว จะจัดสำหรับเด็กๆ หรือว่าสมาชิกในครอบครัวที่จะร่วมสนุกกับเด็กๆ
ในการค้นหาในตอนสายๆ ของวันอาทิตย์ เกมส์หา Osterhase บางครั้งระดับการปกครองส่วนท้องถิ่นก็ให้ความสนใจและ
จัดกิจกรรมในส่วนท้องถิ่นก็มี หรืออาจมีการคิดเล่นเกมส์ใหม่ๆ ขึ้นมาทำกิจกรรมในวันหยุดนี้อีกนอกจากการซ่อนไข่ก็ได้เช่น
การวิ่งไข่
จะเล่นเหมือนการ
วิ่งเปรียวบ้านเ
รา และไม่ใช้ผ้าถ
ือที่มือ แต่เป็น
การวางไข่ต้มไว้ที่ช้อน แล้วใช้ปากงับปลายช้อนไว้ระหว่างวิ่ง หากว่าไข่ตก ต้องกลับไปวิ่งที่จุดเริ่มต้นใหม่ และใครถึงเส้นชัยก่อนเป็นอันชนะ
Ostereiertitschen คือการแข่งขันชนไข่ เล่นกันแถวๆ Oesterreich Russland, และกลุ่มคนที่พูดภาษาเยอรมันที่สวิตเซอร์แลนด์
คือจะมี Osterei คนละ 3 ใบ และนำปลายแหลมของไข่มาชนกัน ใครแตกหมด 3 ใบก่อนแพ้
Eierschibbeln เป็นการแข่งขันชนิดหนึ่ง มีอายุมากกว่า 100 ปี คือการใช้ไม้กระดานยาว 3 เมตร แล้วนำ Osterei มาวางด้านบน
ที่ถือยกสูงไว้ แล้วปล่อยให้ไข่ไหลไปตามไม้กระดาษ โดยไข่ลูกแรกจะเป็นสีสะดุดตาก่อน 1 ใบ และผู้เล่นก็จะปล่อยไข่ให้ไหลไปชนไข่ลูกแรก จะเล่นเดี่ยวหรือทีมก็ได้ เอาเป็นว่าไข่ใครใกล้ไข่ลูกแรกมากที่สุดเป็นฝ่ายชนะ
Osterbrunnen คือการประดับตกแต่งบ่อน้ำด้วยไข่ พบได้ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีเริ่มมาประมาณ ค.ศ. 1920
Osterpostkarten บัตรอวยพรวันอีสเตอร์ เป็นการส่งคำอวยพรและแลกเปลี่ยนบัตรอวยพรกัน มีประวัติการเริ่มประมาณเมื่อ ค.ศ. 1898 คำอวยพรในการ์ดสำหรับเทศกาลอีสเตอร์ สำหรับคริสตชน จะอวยพรกันในประโยคที่ว่า " ขอให้พระพรแห่งการฟื้นคืนพระชนม์เป็นของคุณ "
คลิกเพื่อส่งการ์ดให้เพื่อน
----------------------------------------------------------------------
อ้างอิง: ข้อความบางตอนและรูปภาพในบทความ ตัดตอนจาก
http://www.st-elisabeth-ka.de
http://www.thaitexasnews.com
http://de.wikipedia.org
http://en.wikipedia.org
http://lesen.tsn.at
http://www.osterkartenausstellung.at
http://www.catholic.or.th
http://duthaistudents.multiply.com
http://www.catholic.or.th
http://www.yom.in.th/
คู่มือภาวนาธรรม คริสตจักรวัฒนา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ บทความในคอลัมน์ Cover โดย พิมพ์พัดชา กาคำ
|