> CYATHEACEAE || back

วงศ์ Cyatheaceae กูดต้น Tree Fern


Tree Ferns at Khao Luang
Nakorn Sri Thammarat
Pictures with courstey by Nai Takieng Paa @ Yala
เฟินในวงศ์นี้ เป็นเฟินที่มีลำต้นตั้งสู บางต้นสูงระฟ้า มากกว่า 10 เมตรก็มี ซึ่งแตกต่างจากความรู้สึกของหลายๆ คนทั่วไปที่เมื่อนึกถึงถึงเฟิน มักนึกถึงไม้พุ่มเล็กๆ อยู่ตามพื้น ตามซอกหิน เกาะอยู่ตามกิ่งไม้ หรือปลูกในกระถางเล็กๆ ในสวนสวยๆ
เฟินที่มีลำต้นเป็นแท่งตั้งสูงพวกนี้ ในป่าธรรมชาติ เราสามารถพบเห็นได้ในป่าดงดิบ ที่ยังอุดมสมบูรณ์ ในหลายพื้นของบ้านเรา
สภาพป่าที่สมบูรณ์ของ เขาหลวง กูดต้นสูงเสียดฟ้า มีจำนวนมากมาย
[ Image : นายตะเกียงป่า@ยะลา ]

[ Image : นายตะเกียงป่า@ยะลา ]
ภาพกูดต้นจากป่าธรรมชาติอันดุดมสมบูรณ์ ที่น้ำตกพรหมโลก เขาหลวง นครศรีธรรมราช เหล่านี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อจากสมาชิก ที่พวกเราภูมิใจ คือ นายตะเกียงป่า จ. ยะลา

วงศ์ CYATEACEAE สกุลที่สำคัญสำหรับบ้านเรา คือ สกุล Cyathea (อ่าน Ci-ya-Thea) แต่สำหรับประเทศอื่น อาจนำเอาเฟินในสกุลอื่นที่มีลักษณะเป็น Tree Fern มารวมอยู่ในวงศ์นี้ด้วย

[ Image : นายตะเกียงป่า@ยะลา ]

สกุล Cyathea J.E. Smith
กูดต้น Tree Fern


[ Image : นายตะเกียงป่า@ยะลา ]

เฟินในสกุล Cyathea นี้เป็นเฟินดิน ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ กระจายอยู่ตามเขตภูเขาในป่าเขตร้อนทั่วโลก และมีบ้างที่อาศัยอยู่ในเขตหนาว เฟินในสกุลนี้ ในธรรมชาติ มักพบได้ในป่าดิบ ที่มีความชุ่มชื้นสูง และสภาพอากาศไม่ร้อนมาก
มีรายงาน พบเฟินในสกุลนี้มากถึง 700 ชนิด ที่พบในบ้านเราค้นพบแล้ว 8 ชนิด ส่วนในมาเลเซียมีถึง 17 ชนิด ในฟิลิปปินส์มีถึง 37 ชนิด

เฟินสกุลนี้มีความซับซ้อนมากในการจำแนกชนิด
สกุลนี้แบ่งเป็นกลุ่มย่อย 2 กลุ่ม (Sub gen.)
Alsophylla หรือ Cyathea
และอีกกลุ่ม Spheropteris

Alsophylla กลุ่มนี้ ปลูกเลี้ยงยากและมักมีปัญหาเมื่อย้ายที่ปลูก กลุ่มนี้เช่น มหาสดำในบ้านเรา แบ่งย่อยลงไปอีกเป็น 2 กลุ่ม (Sect.) คือ Cyathea และ Gymnosphaera

Spheropteris กลุ่มนี้มีก้านใบอ่อนนุ่มและอวบอ้วน
เป็นชนิดที่ปลูกเลี้ยงง่าย โตเร็ว เช่น ทรีเฟินออสเตเรีย

การแบ่งเป็นกลุ่มย่อยอาศัยจากลักษณะของ ใบ เกล็ดและอับสปอร์


กูดต้นที่สวนพฤษศาสตร์เฟิน โครงการหลวง ดอยอินทนนท์
[ Image : หนุ่ม@สกลนคร ]

ลักษณะทั่วไป เป็นเฟินต้น มีลำต้นเหง้าเป็นแท่งตั้งสูงได้มากกว่า 10 ม. มองดูคล้ายไม้ยืนต้น แท่งเหง้าแข็งแรง สามารถแบกรับน้ำหนักของพุ่มเรือนยอด ที่มีใบดกหนาแน่น ตลอดลำต้นปกคลุมด้วยรากมากมาย ที่ส่วนยอดของเหง้า ปกคลุมไปด้วยเกล็ดหนาแน่น และมียอดใบอ่อนอัดแน่น


กูดต้นที่ โครงการหลวง ดอยปุย
[ Image : Bank ]


ยอดเหง้าอัดแน่นด้วยใบอ่อน
[ Image : Bank ]

ก้านใบ มีทั้งชนิดก้านยาวและก้านสั้น อวบ แข็ง ออกพุ่มอยู่ปลายยอด
ใบ
มีขนาดใหญ่ เป็นใบประกอบขนนก 2-3 ชั้น ท่อลำเลียงในก้านจัดเรียงอิสระ
อับสปอร์
เป็นรูปถ้วยกลม เกิดระหว่างขอบใบกับเส้นกลางใบย่อย
บางชนิดมีเยื่ออินดูเซีย แต่บางชนิดไม่มี มีเยื่อรัดรอบกลุ่มอับสปอร์ การจำแนกชนิดของเฟินสกุลนี้ ทำได้ยากลำบาก


ตัวอย่างเฟินในสกุล Cyathea ที่พบในบ้านเราและจาก ตปท.


Cyathea borneensis (2002)

Cyathea borneensis Copel.
Sect. : Cyathea
ชื่ออื่น : กูดต้น มหาสดำ มหาสิงคำ

กูดต้นชนิดนี้ มีเหง้าเป็นแท่งสูงได้มากกว่า 2 เมตร มีรากสีดำปกคลุมทั่ว ที่ข้างลำต้นมักเห็นรอยที่เกิดจากก้านใบแก่ที่หลุดร่วงไป

ลักษณะใบ เป็นใบประกอบขนนก 2 ชั้น ก้านใบยาว มีขนหรือเกล็ดสีน้ำตาล หรือสีม่วงเข้ม เป็นเงามัน ขอบสีน้ำตาลแดง ใบย่อยมีก้านสั้นหรืออาจไม่มีก้าน อยู่ติดกับก้านใบย่อย ขอบใบย่อยหยักลึก เกือบถึงเส้นกลางใบย่อย ปลายใบมน

อับสปอร์ รูปกลม อยู่เรียงเป็นแถวตามแกนใบย่อย มีเยื่ออินดูเซียมบางและแบน ปิดอับสปอร์


Cyathea borneensis
[ Image : Duang]
กูดต้นมหาสดำชนิดนี้ พบอยู่ในในป่าบริเวณที่มีร่มเงา ใกล้ริมลำธาร ในป่าดิบชื้นตลอดปี ที่ระดับความสูง 400-1800 ม. MSL. หรือในป่าบนภูเขาสูง 1000 - 1600 ม. MSL.

กระจายพันธุ์ อยู่ในไทย พม่า มาเลเซียแบะบอร์เนียว ในบ้านเรา มีรายงานพบที่ บ่อไร่ จ. บุรีรัมย์, เขาใหญ่ จ. นครนายก, เขาทอง ท่าสาร จ. ชุมพร, จ. สุราษฎร์ธานี, เขาหลวง จ. นครศรีธรรมราช, จ. สตูล


Cyathea chinensis
Sect : Cyathea
ชื่ออื่น : กูดดอยอ่างขาง

กูดดอยอ่างข่าง ลำต้นสูงได้ถึง 5 ม. หรือมากกว่า ก้านใบยาวถึง 50 ซ.ม. ใกล้โคนสีม่วงเข้ม ด้านบนสีน้ำตาล มีปุ่มหนามค่อนข้างแน่น ผิวตะปุมตะป่ำ เกล็ดเป็นเส้น แข็ง ยาว 3.5 ซ.ม. กว้าง 1.5 มม. สีน้ำตาลเข้มเป็นเงามัน มีขอบแคบๆ สีอ่อนกว่าเป็นสีน้ำตาลส้ม แกนใบหลักเรียบ ผิวเกลี้ยง สีน้ำตาลอ่อน ลักษณะใบ เป็นใบประกอบขนนก 2 ชั้น ด้านบนสีเขียว ด้านล่างเขียวซีด ใบย่อยชั้นแรก ใบที่มีขนาดใหญ่สุด ยาว 50 ซ.ม. กว้าง 13 ซ.ม. รูปขอบขนาน ใบย่อยใกล้ดคนลดขนาด แกนใบย่อย ด้านใต้สีซีด มีขนสีขาว ใบย่อยสุด มีได้ถึง 30 คู่ แผ่กางออก ใบรูปหอก ปลายแหลม โคนมน หรือกึ่งตัด ขอบใบหยักเป็นซี่ฟัน มีขนาดยาว 8 ซ.ม. กว้าง 1.3-1.5 ซ.ม. หยักที่ขอบ เป็นรูปขอบขนาน โค้งเคียวหรือเบี้ยว ปลายมนกลมหรือสอบแหลม ขอบหยัก มีขนบริเวณเส้นกลางรอยหยักด้านใต้ใบ อับสปอร์ อยู่ใกล้แกนกลางของขอบหยัก มีเยื่ออินดูเซียม เมื่อสปอร์แก่เ เปิดออกเป็นแผ่นให้สปอร์กระจายออกไป

ในธรรมชาติพบเฟินชนิดนี้อยู่ตามลาดเชิงเขา ในป่าระดับต่ำ ถึงระดับ 1200 ม. กระจายพันธุ์อยู่ในเทือกเขาหิมาลัยด้านตะวันออก จรยตอยใต้ มณพลยูนาน และคาบสมุทรอินโดจีน ในบ้านเราพบที่ ดอยผาชู จ. เชียงราย



Behind Mr. Moo is C. contaminans at Doi pui, Chieng Mai Province [ Image : Bank - 2545 ]

Cyathea contaminans (Wall. ex Hook.) Copel.
Sub.genun : Spheropteris
ชื่ออื่น : Sphaeropteris glauca
ชื่ออื่น : กูดหัวอ้ายเป็ด

เฟินหัวอ้ายเป็ด เป็นเฟินภูเขา ที่มักพบอยู่ตามภูเขาสูงระดับ 800-1,700 ม. MSL ในป่าดิบชื้น ใกล้บริเวณลำธาร มีอากาศเย็นชื้น และฝนตกชุกและสม่ำเสมอ

ลักษณะทั่วไป ลำต้นเหง้าสูงได้มากกว่า 10 ม. ก้านใบยาวได้มากกว่า 60 ซ.ม. อวบอ้วน แข็งแรง ผิวก้านสีม่วง มีปุ่มหนาม มีขน หรือเกล็ด บริเวณโคนก้าน
ลักษณะเกล็ด สีน้ำตาลอ่อนถึงซีด ยาวถึง 4 ซ.ม. กว้าง 3 ม.ม. แผ่นบาง ขอบเป็นขนสั้นสีเข้มกว่า
แกนใบหลัก มีนวลขาวหรือน้ำตาล ผิวเกลี้ยง
ใบย่อยชั้นแรก ยาวได้ถึง 80 ซ.ม. กว้าง 30 ซ.ม. ใบย่อยใกล้โคนลดรูปมีขนาดเล็ก แกนใบย่อย สีน้ำตาลอ่อนหรือซีด มีปุ่มหนามด้านใต้ ด้านหน้าเกลี้ยง หรือมีขนปกคลุม


Purplish and thorny stripes
C. contaminans at Doi pui, Chieng Mai Province
[ Image : Bank - 2545 ]

ใบย่อยสุด แผ่กางออกจากแกน ใบเกือบตรง รูปหอก โคนตัด ปลายแหลม ยาว 1.5 ซ.ม. กว้าง 2.5 ซ.ม. ขอบหยัก ถึงเส้นกลางใบ ส่วนหยักรูปขอบขยาน โค้งเคียว ปลายมนหรือแหลมปานกลาง แผ่นใบเรียบ หรือมีขนประปราย

อับสปอร์ รูปถ้วยกลม นูน อยู่ใกล้เส้นแกนของหยักมากกว่าขอบ ไม่มีเยื่ออินดูเซียหุ้ม

ในป่าธรรมชาติพบอยู่ตามลาดเขา น้ำธารหรือแอ่งน้ำ ในป่าดิบทึบช่มชื้นตลอด หรือในพื้นที่เปิดโล่งที่ระดับความสูงไม่มากนัก กระจายพันธุ์อยู่ใน อินเดียตอนเหนือ ไทย มาเลเซีย ในบ้านเราพบ เชียงใหม่, เกาะกะตะ เกาะกวม จ. พังงา, เขาหลวง จ. นครศรีธรรมราช, เขาช่อง จ. ตรัง, สตูล, นราธิวาส


Cyathea gigantea (Wall. ex Hook.) Holttum
Sect. : Gymnosphaera
ชื่ออื่น : มหาสะแดง มหาสะดำ กูดโง่ง กูดโย่ง กูดหางนกยูง เนระพูสี กูดดำ ดีงูหว้า

มหาสะแดง กูดต้นชนิดนี้ เหง้าลำต้นเป็นแท่งสูงได้มากกว่า 2 เมตร ข้างลำต้นปกคลุมด้วยรากเส้นแข็งมีสีดำ ที่บริเวณยอดเหง้า มีขนหรือเกล็ดหยาบปกคลุมหนาแน่น มีรอยที่เกิดจากใบแก่หลุดร่วงไป ลักษณะใบมีก้านยาว ได้มากกว่า 50 ซ.ม. ก้านใบมีร่องตามความยาวก้าน โคนก้านมีขนหรือเกล็ดสีน้ำตาลดำ สีของก้านเป็นสีน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้มเกือบดำ เป็นเงามัน ผิวแข็ง ด้านนอกเรียบ ไม่มีปุ่มหนาม ลักษณะใบ เป็นใบประกอบขนนก 2 ชั้น แกนหลักของใบสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ มีขนเล็กน้อย ใบย่อย ชั้นแรก ยาวได้ถึง 70 ซ.ม. กว้าง 25 ซ.ม. ปลายแหลม เป็นแผ่นบาง รูปขอบขนานแกมรูปหอก ปลายสอบเรียวแหลม โคนใบมนเว้าเข้าเป็นรูปหัวใจ ใบย่อยสุด ขอบใบหยัก 1/3 จากขอบใบเข้าหาแกนใบย่อย ที่แกนกลางใบย่อยด้านบนมีขน ใบย่อยแผ่กางออกหรืออ่อนโค้งลง ค่อนข้างตรง หรือโค้งรูปเคียว
อับสปอร์เป็นเม็ดกลม ไม่มีเยื่อหุ้มอินดูเซียม จัดเรียงตัวอยู่ใกล้แกนกลางของหยัก

ในป่าธรรมชาติ พบอยู่ตามลาดเขา ในป่าดิบทึบ ชุ่มชื้นตลอดปี ที่ระดับไม่สูงมากถึงบนภูเขาที่ระดับความสูง 1300 ม. MSL กระจายพันธุ์อยู่ใน ตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย อินเดียใต้ ลังกาตอนใต้ของจีน พม่า ลาว ไทยมาเลเซีย สุมาตรา ชวาตะวันตก ในบ้านเรา พบทั่วไปทุกภาคในหลายๆ จังหวัด ได้แก่ ดอยตุง เชียงราย, ดอยสุเทพ ดอยอินทนนท์ ฝาง จ. เชียงใหม่, กอยมูเซอ จ. ตาก, ภูหลวง จ. เลย, เขาสอยดาว เขาสระบาป จ. จันทบุรี, เกาะช้าง เกาะกูด จ. ตราด, วังกา จ. กาญจนบุรี, เมืองแหลม เขานมสาว จ. ระนอง,

สกุลนี้ มักสับสนกับ C. glabra ที่พบในมาเลเซีย ซึ่งมีหยักลึกกว่า หรือขอบแฉกลึกอย่างเห็นได้ชัด และขอบเกล็ดไม่หยักเป็นซี่ฟัน ในไทยไม่มีชนิดนี้



Tree Fern Seeking Team
at Doi Suthep Hill
2 guys of 5
[ Image : Noom ]

Cyathea latebrosa (Wall.) Copel.
Sect : Cyathea
ชื่ออื่น : กูดพร้าว กูดดอยสุเทพ มหาสดำ

ภาพชุดนี้ ถ่ายไว้เมื่อคราวที่พวกเราไปตามล่ามหาสดำในป่าธรรมชาติ ที่เชียงใหม ่ ต.ค. 2545 และพบกูดดอยสุเทพนี้ ในป่าข้างทาง ระหว่างทางขับรถขึ้นดอยสุเทพ ถึงแม้ต้นที่พบนี้ ความสูงยังไม่มากนัก แต่เป็นกูดต้นชนิดแรกที่พวกเราพบในสภาพป่าธรรมชาติเป็นครั้งแรก บริเวณที่พบ เป็นร่องลำธารน้ำเล็กๆ มีน้ำไหลริน และมีความชุ่มชื้นทั่วไปบริเวณ กูดดอยสเทพ จำนวนมาก อยู่ใต้ร่มของต้นไม้สูงใหญ่ ได้แสงรำไรที่ลอดผ่านลงมา และมีเศษซากใบไม้กิ่งไม้ทับถมอยู่บริเวณโคนต้นเป็นจำนวนมาก

ลักษณะทั่วไปของกูดต้นดอยสุเทพ ลำต้น มีความสูงได้มากกว่า 5 เมตร ก้านใบยาว 30-40 ซ.ม. ก้านใบด้านนอกมีปุ่มหนาม ก้านสีน้ำตาลเข้มถึงดำ บริเวณโคนก้านใบมีเกล็ด เป็นเส้น ยาว 2 ซ.ม. กว้าง .2 มม. สีดำ เป็นเงา แข็ง ขอบสีซีด
ลักษณะใบ เป็นใบประกอบขนนก 2 ชั้น มีขนหรือเกล็ดอยู่กระจายห่างๆ ใบย่อยคู่ล่างลดขนาดลง ยาวราว 10 ซ.ม. มีรูปร่างไม่แน่นอน เกิดห่างกัน ใบย่อยที่ใหญ่กว่า ยาวถึง 40 ซ.ม. กว้าง 14 ซ.ม. รูปขอบขนาน ปลายสอบแหลมและมีติ่งที่ปลาย ใบย่อยชั้นที่สอง มีใบย่อยได้มากกว่า 25 คู่ ด้านบนมีขนหรือเกล็ดประปราย รูปหอกแกมขอบขนาน ปลายสอบแหลม โคนตัด แผ่นใบบาง ไม่มีก้านใบย่อย


and more 2 guys of 5
[ Image : Noom ]

Large bipinate frond
[ Image : Noom ]

ใบย่อยสุด ขอบหยักรูปขอบขนาน ลึกเกือบถึงแกนกลางใบ หยักเบี้ยว ปลายมน ขอบของหยักเป็นซี่ฟัน หรือเรียบ เส้นแกนหยักมีขนด้านบน แผ่นใบบาง เขียวเข้ม ด้านใต้สีซีด เส้นใยใบแตกเป็นแฉก


ฺBrown to dark at near base, bearing stiff and linear sclaes
อับสปอร์มีขนาดเล็ก จัดเรียงตัวข้างแกนกลางของหยัก มีเยื่อหุ้มอินดูเซียขนาดเล็ก มีเกล็ดที่ขอบ เห็นได้เมื่อสปอร์ยังไม่แก่

กูดดอยสุเทพ ในสภาพธรรมชาติ พบในป่าดิบชื้น บนภูเขาที่ระดับต่ำกว่า 1,000 ม. MSL กระจายพันธุ์อยู่ในอินเดียตอนเหนือและตอนใต้ ไทย เขมร เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ สุมาตรา บอณเนียว ในบ้านเราพบที่เชียงใหม่ นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง นราธิวาส ยะลา


Cyathea podophyll (Hook.) Copel.
Sect. Gymnosphaera
ชื่อพ้อง : Alsophylla podophylla Hk.
ชื่ออื่น : มหาสะดำ

ลำต้นสูง 1 ม. ก้านใบยาวได้มากว่า 50 ซ.ม. สีม่วงเข้ม เป็นเงามัน มีปุ่มปมเป็นหนามสั้นๆ บริเวณใกล้โคนมีเกล็ด ลักษณะเกล็ด แข็ง ยาว 3 ซ.ม. กว้าง 2.5 มม. สีน้ำตาล ขอบสีน้ำตาลแดง โคนก้านมีแถบรูปหายใจ เรียงแถวเดี่ยว อยู่ห่างกัน ที่แกนใบหลัก สีน้ำตาลอมแดง มีเกล็ดประปราย ใบย่อยคู่ล่าง ไม่ลดรูป ใบย่อยชั้นแรก ยาวได้ถึง 60 ซ.ม. กว้าง 25 ซ.ม. แกนใบย่อย ด้านบนมีขน ด้านใต้มีเกล็ดประปราย ใบย่อย มีได้ถึง 25 คู่ ขอบหยักตื้น มีก้านสั้น กางออกหรืออ่อนโค้งเล็กน้อย รูปหอก โค้งรูปเคียวเล็กน้อย สอบแหลมเข้าหาปลาย โคนมน ขอบสีน้ำตาลแดง แผ่นใบบาง สีเขียว เส้นใบแตกสาขาแบบขนนก ปลายเดี่ยว กระจายอิสระ
อับสปอร์ อยู่ใกล้เส้นใยใบหลัก อับสปอร์เปลือย ไม่มีเยื่อยหุ้ม
พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และใต้ และในจีนตอนใต้


Cyathea spinulosa Wall. ex. Hook.
Sect. Cyathea
ชื่อพ้อง : Alsophila spinulosa, A. spinulosa
ชื่ออื่น : กูดดอยปุย

กูดดอยปุย ลำต้นเหง้าเป็นแท่งสูง ได้ถึง 3 ม. หรือมากกว่า ก้านใบยาว ผิวด้านนอก สีม่วงเข้ม บริเวณโคนเป็นปุ่มหนามหนาแน่น ผิวด้านในสีเขียว มีเกล็ดแข็ง สีน้ำตาลเข้มเป็นเงามัน ที่โคนของเกล็ดเป็นหนาม ลักษณะใบ เป็นใบประกอบขนนก 2 ชั้น ใบย่อยคู่ล่างลดขนาด แกนใบย่อย มีเกล็ด ใบย่อยสุด รูปหอก ปลายสอบแหลม ขอบใบหยักเกือบถึงแกนใบย่อย ใบย่อยปลายสุด ขอบหยักเห็นได้ชัด ใต้แกนกลางใบย่อยมีเกล็ด สีน้ำตาลซีด อับสปอร์ อยู่ชิดแกนกลางของหยัก มีเยื่ออินดูเซียรูปถ้วยกลม เปลือยด้านบน
กูดดอยปุย ในธรรมชาติ อยู่ในบริเวณที่ชุ่มชื้นสูง มีร่มเงา ในป่าเขาระดับไม่สูงมาก ที่ 700 ม. หากป่าถูกทำลาย กูดดอยปุยจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ในสภาพที่อากาศแห้งแหล้ง
กูดดอยปุย กระจายพันธุ์ทั่วไปในอินเดีย พม่า ไทย ไต้หวัน และตอนใต้ของญี่ปุ่น ในบ้านเราพบในป่าทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้


Cyathea obscura (Scort.) Copel.
ชื่ออื่น : กูดต้น
พบใน มาเลเซีย และที่เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย


Cyathea submembranacea
ชื่อพ้อง : Pleocnemia submemvranacea (Hayata) Tagawa et. K. Iwats.
ชื่ออื่น : มหาสดำเขา  กูดดำ  มหาสดำ

สูง 1.5-2.5 ม. ลำต้นตั้งตรง มีเกล็ดสีน้ำตาลที่ปลาย ใบประกอบแบบขนนก ยาวมากกว่า 1 ม. กลุ่มอับสปอร์เรียงตัวเป็น 1-2 แถว แต่ไม่เป็นระเบียบ




Cyathea cooperi :
Lacy Tree Fern กูดต้นออสเตเลีย
Cyathea cooperi (F. Muell.) Domin.
ชื่อพ้อง : Spaeropteris cooperi, Alsophila australis, Alsophila cooperi
ชื่อสามัญ : Lacy Tree Fern
เฟินชนิดนี้ จัดอยู่ในกลุ่ม Spheropteris มีกระจายพันธุ์ทั่วไปในออสเตเรีย พบได้ ทั้งในป่าฝนและป่าดิบแล้ง แม้แต่ในเขตที่มีหิมะทางตอนใต้ใน Queensland
มีความสูงได้ถึง 5 เมตร โคนก้านใบปกคลุมด้วย ขนหรือเกล็ด ขนาดค่อนข้างใหญ่และหนาแน่น เกล็ดสีน้ำตาลอ่อน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น ขอบใบย่อยเว้าไม่ถึงเส้นกลางใบ
เป็นเฟินที่ปรับตัวเข้ากับสภาพดินและอากาศได้กว้างขวาง การปลูกจึงดูแลง่าย
ในบ้านเรา มีผู้สั่งนำเข้าเฟินชนิดนี้จากต่างประเทศ เข้ามาจำหน่ายกันเป็นจำนวนมาก

บทความพิเศษ คัดย่อจาก อนุสาร อสท ฉบับเดือนมิถุนายน 2541

มหาสดำพันธุ์ใหม่ เฟิร์นต้น (Tree Fern) หรือ มหาสดำ ชนิด Cyathea moluccana ซึ่งพบเป็นรายงานใหม่สำหรับประเทศไทย ดูต่างจากเฟินต้นชนิดอื่นๆ ตรงที่มีลำต้นเป็นเหง้าสั้นๆ และมีใบย่อยแบบขนนกชั้นเดียว ในไทยมีรายงานพบเฉพาะที่ป่าฮาลา-บาลาเท่านั้น
เป็นเฟินมหาสดำชนิดใหม่ของไทย แม้แต่ใน Flora of Thailand หรือ พรรณพฤกษาชาติประเทศไทย ในเล่มที่เกี่ยวกับเฟิน ก็ยังไม่มีรายงานมาก่อน แต่จากข้อมูลที่ได้รับ จากคุณธีร์ หะวานนท์ ซึ่งทำวิจัยเรื่องเฟินมหาสดำของไทย ทำให้ทราบว่า เคยมีผู้เก็บตัวอย่างเฟินชนิดนี้ได้ในป่าฮาลา-บาลา เมื่อเกือบ 20 ปีก่อนมาแล้ว จากนั้นก็ไม่มีใครพบเห็นมันอีกเลย



Cyathea sp. ขนสีแดง
[ Image : Keith@South Australia]

สิ่งที่ต้องระวัง!!!!

อย่าให้ขนหรือเกล็ดของเฟินชนิดน
ี้เข้าตาเป็นอันขาด โดยเฉพาะในระหว่างการขนย้าย การตัดแต่งใบ หรือการเปลี่ยนกระถาง หากขนของเฟินนี้เข้าตา ไม่ควรขยี้ตาเป็นอันขาด
ให้รีบไปพบจักษุแพทย์ทันที ไม่ควรปล่อยไว้หรือรักษาเอง เนื่องจากขนหรือเกล็ดของเฟินชนิดนี้ เป็นหนามย่อยๆ ที่สามารถฝังเข้าไปในผิวเยื่อบุตา ยากต่อการขจัดออก และอาจทำให้ผิวเยื่อบุตาขรุขระ ทำให้การมองเห็นปกติเหมือนเดิมได้ยาก

นอกจากนี้ บางคนอาจมีอาการแพ้ขนของเฟินชนิดนี้ จะมีอาการคันตามผิวหนังเมื่อสัมผัส หรือจามหากเข้าขมูก

ใน New Guinea ชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในเขตภูเขา นำเอายอดอ่อนของเฟินสกุลนี้มาลวกกินเป็นผัก และยังมีสกัดเอาแป้งจากยอดของเฟินในสกุลนี้ มาใช้เป็นอาหารในช่วงฤดูแล้งที่ไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก ส่วนแท่งเหง้า เนื่องจากแกนกลางเป็นเนื้อไม้ที่แข็งแรงทนทาน จึงนิยมนำมาปักเป็นเสารั้วล้อมรอบสวน นำมาแกะสลักเป็นงานปฏิมากรรม นิยมใช้ทำกระดึงแขวนคอวัว แบบกระดึงไม้แขวนคอวัวควายในบ้านเรา และนำมาใช้เป็นเสาสร้างกระท่อมที่พักอาศัยด้วย

คุณป้าท่านหนึ่ง เป็นคนจังหวัดน่าน บอกว่า "ที่บ้านป้า จะเก็บยอดอ่อนของพวกกูดต้นมากิน และขนมันไม่แข็งมาก และไม่คันเหมือนกับกูดต้นของออสเตเลียที่ป้าขาย เวลาโดนขนมันทีไร ป้าต้องไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ ไม่งั้นจะคันไปทั้งวัน"

> CYATHEACEAE || back