วัดพระประโทณเจดีย์ วรวิหาร
บทนำ
วัดพระประโทณเจดีย์ วรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 78 หลักกิโลเมตรที่
52 ถ.เพชรเกษม ต.พระประโทน อ. เมืองนครปฐม จ. นครปฐม อาณาเขตของวัดมีพื้นที่รวมทั้งหมด
120 ไร่ 3 งาน 12 ตารางวา โดยแบ่งเป็นพื้นที่วัด 74 ไร่ 3 งาน 44 ตารางวา ที่ธรณีสงฆ์
45 ไร่ 3 งาน 68 ตารางวา วัดพระประโทณเจดีย์ วรวิหาร ได้รับมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า
ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2527 โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งเมื่อวันที่
30 มีนาคม พ.ศ. 2527
ความเป็นมาของวัดพระประโทณเจดีย์ วรวิหาร
วัดพระประโทณเจดีย์ เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยที่อาณาจักรทวารวดีรุ่งเรืองทางด้านศิลปวัตถุและสถาปัตยกรรม
จากการขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณใกล้เคียงองค์พระประโทณเจดีย์ ได้พบรูปกวางหมอบศิลาฝังอยู่ในแผ่นดิน
ทางด้านทิศเหนือของวัด อยู่ห่างประมาณ 5 เส้นเศษ ลึกประมาณเมตรเศษ รวมอยู่กับเจดีย์เก่า
และบริเวณนั้นมีอิฐโบราณอยู่เป็นจำนวนมาก กวงาหมอบศิลานั้นเป็นศิลปะแบบทวารวดี
ที่ทำตามแบบในอินเดีย ครั้งสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เพราะในสมัยพระเจ้าอโศกนี้ ยังไม่มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้น
จึงนิยมสร้างศิลปะวัตถุ ที่เกี่ยวกับสังเวชนียสถานเป็นส่วนมาก เช่นรูปกวางหมอบ
เสมาธรรมจักรก็เป็นส่วนที่เกี่ยวกับตอนที่พระพุทธเจ้า แสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก
ที่ป่า อิสิปตนมฤคหทายวัน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่ยืนยัน ความเป็นมาของวัดพระประโทณเจดีย์ ควบคู่กับความเป็นมาของอาณาจักรทวารวดี
คือ ได้พบเหรียญเงิน 2 เหรียญ เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.2 และ 1.5 เซนติเมตร ค้นพบที่บ้านสองตอน
(ปัจจุบัน อยู่ใกล้บ้านหนองบอนงาม) ม. 2 ต. พระประโทน อ. เมืองนครปฐม จ. นครปฐม
เหรียญเงิน 2 เหรียญ ที่พบที่บ้านสองตอน
ซึ่งศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ อ่านศิลาจารึกบนเหรียญดังกล่าว ได้ความว่า "ศรีทวารวดี ศวรบุณยะ" ซึ่งแปลว่า "บุญของพระราชาแห่งศรีทวารวดี" สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวไว้ในเรื่องมูลเหตุการสร้างวัด ซึ่งกรมศาสนาพิมพ์ขึ้นไว้ในหนังสือชื่อใบลานตอนหนึ่งได้ทรงเอ่ยถึงวัดพระประโทณเจดีย์ว่า ชั้นเดิมพระพุทธศาสนาคงจะรุ่งเรืองแต่ในบ้านเมืองแล้วจึงแผ่ออกไปที่อื่นโดยลำดับ ด้วยเหตุนี้วัดในครั้งดึกดำบรรพ์ ซึ่งยังปรากฏอยู่จึงมักอยู่ในท้องถิ่นอันเป็นเมืองเก่า และเป็นเมืองอันเคยเป็นราชธานี โดยเฉพาะห่างออกไปหาใคร่จะมีไม่ จะยกเป็นอุทาหรณ์ดังเช่นเมืองนครปฐม นอกจากพระปฐมเจดีย์ ยังปรากฏวัดซึ่งมีเจดีย์ใหญ่ๆ สร้างไว้อีกหลายแห่ง แต่พอเห็นได้ง่ายในเวลานี้ เช่นวัดพระงาม และวัดพระประโทณเจดีย์ เป็นต้น นอกจากนี้พระองค์ยังได้ทรงสันนิษฐานถึงเหตุแห่งการสร้างวัดไว้อีกว่า การสร้างวัดแต่สมัยดึกดำบรรพ์ มี 2 ประการ คือ สร้างเป็นพุทธเจดีย์ ถือว่าเป็นหลักของพระพุทธศาสนาในที่แห่งนั้นอย่างหนึ่ง สร้างเป็นอนุสาวรีย์เจดีย์ เป็นที่บรรจุอัฐิของท่านผู้ทรงคุณธรรมในศาสนาอินเดียโบราณอย่างหนึ่ง แต่ก็อุทิศให้เป็นเรือนเจดีย์ในพระพุทธศาสนาด้วย
เนื่องจากวัดในสมัยทวารวดีนั้นคงจะมีหลายวัด ที่มีความสำคัญ เช่น วัดพระปฐมเจดีย์ ฯ วัดพระงาม วัดพระประโทณเจดีย์ เป็นต้น แต่หลักฐานที่ยืนยันว่าพระประโทณเจดีย์อยู่กลางเมืองศูนย์กลางความเจริญในสมัยทวารวดี ก็คือ จากการค้นพบโดยการถ่ายภาพถ่ายทางอากาศ ที่หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิสกุล ทรงบรรยายที่พระประโทณเจดีย์และเจดีย์จุลประโทน
เจดีย์จุลประโทน
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 ให้คณะนักโบราณคดีที่มาร่วมในสถานที่นี้ว่า ศิลปะทวารวดีนี้ ปัจจุบันมีการขุดค้นกันมาก โดยเฉพาะที่เมืองนครปฐม คือเราเชื่อกันมานานแล้วว่า เมืองนครปฐมนี้เป็นศูนย์กลางของอาณาจักร และได้ค้นพบศิลปะทวารวดีที่นี่เป็นจำนวนมาก ซึ่งแสดงถึงการได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะ อินเดียแบบคุปตะ และหลังคุปตะ แต่ว่าตัวเมืองยังค้นไม่พบ เมื่อเร็วๆนี้มีการศึกษาจากภาพถ่ายทางอากาศ ทำให้สามารถทราบได้ว่า เมืองโบราณที่นครปฐมนั้น ตั้งอยู่ทิศตะวันออกขององค์พระปฐมเจดีย์ในปัจจุบัน ซึ่งก็คือตั้งอยู่ในบริเวณตำบลพระประโทน มีพระประโทณเจดีย์เป็นศูนย์กลาง การที่กล่าวถึงสถานที่สำคัญเช่น พระปฐมเจดีย์ ว่าตั้งอยู่นอกเมืองโบราณนี้ไม่เป็นของแปลก เพราะว่าในสมัยโบราณเขาทำกันแบบนี้ทั้งสิ้น คือ ศาสนสถานใหญ่ๆ ที่สำคัญ มักตั้งอยู่นอกเมือง อาจเป็นเพราะต้องการความสงบเงียบก็ได้ เพราะฉะนั้น ในตอนนี้ก็ได้ค้นพบแล้วว่า เมืองสมัยวารวดีที่นครปฐมนั้น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของนครปฐมและมีพระประโทณเจดีย์ เป็นจุดศูนย์กลาง ได้ค้นพบร่องรอยมีคูล้อมรอบตัวเมืองคล้ายรูปไข่ซึ่งเป็นสมัยทวารวดีปรากฏอยู่ จากอดีตอันยาวนานไม่ต่ำกว่า 1,500 ปี วัดพระประโทณเจดีย์ได้ผ่านยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด แล้วทรุดโทรมไปตามกาลเวลา และได้พลิกฟื้นเจริญรุ่งเรืองมาอยู่ในระดับวัดแนวหน้า จนได้รับยกย่องเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ได้รับยกย่องเป็นวัดพัฒนาดีเด่น และยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร และได้รับพระราชทานพัด วัดพัฒนาดีเด่น เมื่อปี พ.ศ. 2527 ดังนี้ ก็เพราะความพยายามอย่างยวดยิ่ง ในการปรับปรุงพัฒนาบริเวณภายในวัด ให้สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยเจริญตาเจริญใจแก่ผู้พบเห็น ได้ซ่อมแซมก่อสร้างกุฏิวิหารให้มั่นคงแข็งแรงสวยงาม ของหลวงพ่อเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน คือ พระเดชพระคุณฯ พระราชเจติยาภิบาล
วัดพระประโทณเจดีย์ วรวิหาร ในปัจจุบันเป็นวัดที่มีลักษณะเฉพาะที่สำคัญ 6 ด้านด้วยกัน คือ
1. เป็นวัดที่มีความสะอาดสวยงาม เจริญตาเจริญใจของผู้พบเห็น
2. เป็นวัดที่มีการวางผังอย่างดีเยี่ยม สิ่งปลูกสร้างภายในวัดเป็นระเบียบเรียบร้อย
ทรงไทยทั้งหมด
ความสวยงามสะอาดตาและการวางผังที่ดีเยี่ยมของวัดพระประโทนเจดีย์ วรวิหาร
3. เป็นวัดที่ส่งเสริมสนับสนุน การศึกษาของพระภิกษุสามเณรมาโดยตลอด
พระภิกษุสามเณรของวัด จึงมีแต่รูปที่ฝักใฝ่แต่การศึกษาเกือบทั้งหมด
4. เป็นวัดที่ริเริ่มและดำเนินโครงการข้าวก้นบาตร เพื่อสงเคราะห์นักเรียนโรงเรียนวัดพระประโทณเจดีย์
มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 มาจนถึงปัจจุบัน และมีนักเรียนมารับประทานอาหาร 30-40 คน
ของวันที่ทำการเปิดสอนทุกวัน
5. เป็นที่ประดิษฐานขององค์พระประโทณเจดีย์ ซึ่งเป็นปูชนียสถานสำคัญ เป็นแบบทวารวดี
6. เป็นวัดที่มีการปกครองโดยยึดหลักพระธรรมวินัย ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ และทรงบัญญัติไว้
และตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ กฎระเบียบของมหาเถรสมาคม คำสั่งของผู้บังคับบัญชา เป็นหลักสำคัญ
ในปี พ.ศ.2547 ปีปัจจุบันนี้ วัดพระประโทณเจดีย์
มีภิกษุสามเณร รวมทั้งหมด 69 รูป
แยกเป็นพระภิกษุ 27 รูป สามเณร 42 รูป
สำหรับสถานที่ราชการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัด มีทั้งหมด 4 แห่ง
ด้วยกัน คือ
1. วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม สังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
2. สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาจังหวัดนครปฐม สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ
(สปช)
3. โรงเรียนวัดพระประโทณเจดีย์
4. สำนักงานสุขาภิบาลธรรมศาลา ตำบลธรรมศาลา