บทที่  5
ข้อแนะนำในการปฏิบัติธรรม



         ในการปฏิบัติธรรมนั้น  ใช่ว่ารู้วิธีแล้วก็จะสามารถปฏิบัติให้สำเร็จได้โดยง่าย  ทั้งนี้เพราะอุปสรรค  คือ  กิเลสคอยขัดขวางอยู่ตลอดเวลา  ผู้ปฏิบัติจึงต้องหาเทคนิคต่าง ๆ  มาช่วยแก้ไขเพื่อให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้ตลอดรอดฝั่ง  ต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำที่ผมเห็นว่า  ผู้ปฏิบัติจะสามารถนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้

1.    ควรทำความเห็นให้ถูกต้อง

         ผู้ปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ในปัจจุบัน  มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการปฏิบัติธรรมผิดไปจากความเป็นจริงอย่างมาก  ทั้งนี้เพราะได้ฟังคำสอนที่ผิด ๆ  อยู่เสมอ  จึงขอให้ท่านทั้งหลายได้ตรวจสอบให้ดีว่าการปฏิบัติธรรมของท่านถูกต้องดีแล้วหรือยัง  สิ่งที่ควรศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้เสียก่อนก็ได้แก่เรื่องของชีวิต  นอกจากนี้ยังต้องรู้จักว่าอะไรคือปรมัตถ์  อะไรคือสมมุติ  อะไรคือกิเลส  อะไรคืออวิชชา  อะไรคือปัญญา  ส่วนใดที่ไม่เข้าใจก็ต้องคิดพิจารณา  อ่าทบทวนกลับไปกลับมาหลาย ๆ  ครั้งเป็นการปูพื้นให้แน่น  เมื่อลงมือปฏิบัติจะได้ไม่หลงทางก่อนถึงจุดหมาย
         อันที่จริงการปฏิบัติธรรมเป็นของง่าย  ไม่ใช่ของยาก  ที่ทำกันไม่ได้ผลก็เพราะทำผิดวิธี  และการปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้ใช้เวลานานอย่างที่บางคนเข้าใจ  ถ้าเราศึกษาทฤษฎีถูกต้องดีแล้วและได้ลงมือปฏิบัติ  อย่างช้าภายใน  15  วัน  ก็จะสามารถทำสติสัมปชัญญะให้เกิดขึ้นครั้งแรกในชีวิตได้  ถ้ายังทำไม่ได้ก็แสดงว่าการปฏิบัตินั้นยังไม่ถูกต้อง  ต้องสำรวจตนเองเสียใหม่ว่าทำผิดตรงไหน
         มีหลายคนเห็นการปฏิบัติธรรมเป็นเหมือนเด็กเห็นของเล่น  อยากจะเล่นเพราะเป็นของใหม่  พอเล่นได้ไม่นานก็เบื่อหันไปหาของเล่นอื่นต่อไป  เราควรปฏิบัติธรรมให้เหมือนกับเด็กเรียนหนังสือ  กว่าจะอ่านออกเขียนได้  ใช่ว่าจะใช้เวลาเพียงวันเดียว หรือเดือนเดียว เราต้องใช้เวลาในการเรียนทุกวัน  วันละหลายชั่วโมง  ต้องตั้งใจ  ต้องใช้ความเพียร  บางครั้งไม่อยากเรียน  แต่ก็ต้องทนเรียนเพราะกลัวถูกครูตี  ตอนแรกหัดอ่าน  ก  ข  ค  ง  ต่อมาก็หัดอ่านผสมคำ  หัดอ่านสะกดคำ  ในที่สุดก็สามารถอ่านตำรับตำราต่าง ๆ  ได้โดยง่าย  ในการปฏิบัติธรรม  เราก็ควรทำในลักษณะเดียวกัน  คือต้องให้เวลา  ต้องตั้งใจ  ต้องใช้ความเพียร  จึงจะประสบผลสำเร็จ
         มีหลายคนคิดว่าผู้ที่ได้มรรคผลจะต้องเป็นคนที่มีบุญบารมีสูง  ความจริงแล้ว  เพียงแค่เป็นคนที่สนใจธรรมะ  ปรารถนาจะได้มรรคผลนิพพาน  และได้เริ่มลงมือปฏิบัติธรรมก็ถือว่ามีบุญบารมีเพียงพอที่จะสามารถบรรลุมรรคผลได้แล้ว
         คนร้อยคนหัดว่ายน้ำ  ย่อมว่ายเป็นทั้งร้อยคนฉันใด  คนร้อยคนปฏิบัติธรรม  ย่อมบรรลุมรรคผลทั้งร้อยคนฉันนั้น

2.     ต้องหัดตัดใจ

         ผู้ปฏิบัติธรรมควรฝึกหัดตัดใจในอารมณ์ต่าง ๆ  อยู่เสมอ  ไม่อาลัยอาวรณ์ในเรื่องราวต่าง ๆ  ที่ผ่านมาแล้ว  หรือคิดเพ้อฝันถึงอนาคต  เช่น  อดีตเราเคยทำบาป  มาตอนนี้จะปฏิบัติธรรม  ก็ควรตัดเรื่องเก่าทิ้งไปเสีย  อย่าไปกังวลบ่นเพ้อว่าเราเป็นคนบาปคงปฏิบัติธรรมไม่สำเร็จแน่  ให้เลิกคิดเลิกกังวลเสีย  ควรสนใจแต่ว่าทำอย่างไรจึงจะทำสติสัมปชัญญะให้เกิดขึ้นได้  ถ้ามัวแต่คิดถึงเรื่องเก่า ๆ  ก็มีแต่จะเกิดความกังวล  เกิดความฟุ้งซ่าน  เท่านั้นเอง  ถ้าลองสังเกตดูจะเห็นว่า  บางครั้งเราไปมีเรื่องทะเลาะกับใครมา  เกิดความกลุ้มใจ  แม้เรื่องผ่านไปแล้ว  ความกลุ้มใจก็ยังปรากฏอยู่  บางทีอารมณ์เสียตอนเช้าก็พาลหงุดหงิดไปทั้งวัน  แม้เราพยายามจะให้หายหงุดหงิด  มันก็ไม่ยอมหาย  ทั้งนี้เพราะเราไม่หัดตัดใจ  เราจึงควรฝึกหัดตัดใจอยู่เสมอ  สมมุติว่าตอนเช้าเราไปทะเลาะกับใครมา  ตอนนี้จะปฏิบัติธรรมก็ให้เลิกคิดถึงเรื่องราวในตอนเช้านั้นเสีย  ถ้าใจมันไม่ยอมกลับไปคิดอีก  เมื่อนึกได้ก็ตัดใจเลิกคิดเสีย  มุ่งสนใจอยู่แต่ปัจจุบันเท่านั้น  ถ้าเราฝึกจิตดีแล้ว  เมื่อเกิดความหงุดหงิดหรือความกังวลขึ้น  เราอาจจะดับอารมณ์เหล่านั้นลงได้ในเวลาอันสั้นเพียงไม่กี่วินาที  แทนที่จะปล่อยให้กิเลสกำเริบไปทั้งวัน
         นอกจากนี้เรายังต้องหัดเป็นคนที่จิตใจมั่นคง  เป็นตัวของตัวเอง  ไม่เอาใจไปฝากไว้กับคนอื่น  ต้องไม่ติดในตัวบุคคล  ไม่ติดในสถานที่  ไม่ติดในความสุข  ความทุกข์  ไม่ติดในชื่อเสียง  ลาภยศ  พยายามทำใจให้เป็นอิสระจากเรื่องราวต่าง ๆ  เวลาที่ใจหดหู่อ้างว้างเปล่าเปลี่ยว  ก็หัดให้กำลังใจตนเอง  พยายามทำใจให้เบิกบาน
         มีหลายคนก่อนปฏิบัติธรรมเป็นคนอารมณ์ดี  ใจเย็นแต่พอมาปฏิบัติธรรมแล้วกลับเป็นคนหงุดหงิดง่าย  โกรธง่าย  จนเพื่อน ๆ  บอกว่า  เลิกปฏิบัติเสียจะดีกว่า  ตามปรกติแล้วผู้ที่เริ่มปฏิบัติธรรมใหม่ ๆ  เกือบทุกคนจะโกรธง่าย  หงุดหงิดง่าย  ทั้งนี้เพราะตอนแรกมักจะมีไฟแรง  จึงตั้งใจทำความเพียรมาก  แต่เนื่องจากยังทำไม่เป็น  จึงไม่ได้รับความสุขอันเป็นผลของการปฏิบัติ  อีกทั้งการปฏิบัติธรรมเป็นหารละตัณหา  ไม่ใช่การสนองตัณหา  จึงทำให้เกิดความเครียดขึ้นได้ง่าย  ภายหลังเมื่อปฏิบัติธรรมได้ผลแล้ว  จึงจะได้รับความสุขสบายในการปฏิบัติธรรมมากขึ้น  เขาย่อมมีความสุขมากกว่าผู้ที่ไม่ปฏิบัติธรรมอย่างแน่นอน  เปรียบเสมือนคนหัดว่ายน้ำ  ตอนแรกยังว่ายไม่เป็น  เมื่อลงไปว่ายในคลองก็รู้สึกกลัว  รู้สึกไม่สบายใจ  ต่างกับคนที่ไม่ได้หัดว่ายน้ำ  นั่งเล่นอยู่ริมคลอง  ย่อมไม่รู้สึกกลัว  ไม่รู้สึกเดือดร้อนแต่อย่างใด  ต่อมาคนที่หัดว่ายน้ำ  ว่ายเป็นแล้ว  เมื่อลงน้ำก็ไม่รู้สึกหวาดหวั่น  ว่ายน้ำท่าโน้นท่านี้อย่างสนุกสนาน  มีความสุข  จะไปเที่ยวทางเรือก็ไม่กลัวจมน้ำ  เที่ยวได้อย่างสบายใจ  ต่างกับคนที่ไม่ยอมหัดว่ายน้ำ  ซึ่งไม่อาจหาความสุขในการว่ายน้ำได้เลย  จะไปเที่ยวทางเรือก็กลัวจมน้ำ  ไม่สนุกสนานเท่าที่ควร  ฉะนั้นคนที่เริ่มปฏิบัติธรรมใหม่ ๆ  โกรธง่าย  หงุดหงิดง่าย  ก็อย่าได้กังวลเลย  ถ้าปฏิบัติถูกวิธี  ไม่นานท่านก็จะได้พบกับความสุขที่สูงขึ้นตามลำดับ  แล้วท่านจะเห็นเองว่าคุ้มค่ากับที่ได้ลงทุน

3.     สร้างเหตุ  แต่อย่าหวังผล

         มีสิ่งหนึ่งที่นักปฏิบัติต้องจำให้ขึ้นใจก็คือ  เวลาปฏิบัติธรรมได้ผลดีก็อย่าดีใจ  เวลาปฏิบัติธรรมได้ผลไม่ดีก็อย่าเสียใจ  เพราะถ้าทำได้ผลดีแล้วเราดีใจก็จะทำให้เราติดในผลของการปฏิบัติ  พอตอนหลังปฏิบัติได้ผลไม่ดีเท่าเดิมก็จะเกิดความไม่พอใจ  เกิดความลังเลสงสัยว่าแต่ก่อนเคยทำได้ดี  มาตอนนี้ทำไมจึงทำไม่ได้อีก  เราต้องรู้ในเหตุในผลว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอนบางครั้งสติมีกำลังสมาธิดี เราก็สามารถทำสติสัมปชัญญะให้เกิดขึ้นได้ง่าย  บางครั้งมีความฟุ้งซ่านมาก  กังวลมาก  เราก็ไม่สามารถทำสติสัมปชัญญะให้เกิดขึ้นได้  แม้ตั้งใจทำเท่าไรสติสัมปชัญญะก็ไม่เกิด  บางครั้งเราอาจจะมีความรู้สึกว่าสภาพจิตของเราตกต่ำมาก  เหมือนกับไม่เคยปฏิบัติธรรมมาก่อนเลย  มีแต่ความหงุดหงิด  ฟุ้งซ่านรำคาญใจอยู่ตลอดเวลา  ถ้าเราไม่เข้าใจก็อาจจะเกิดความท้อแท้  น้อยใจ  ทำให้การปฏิบัติธรรมเสื่อมถอยลง  หรืออาจจะถึงกับเลิกราไปเลยก็ได้  ก็ขอให้เราเข้าใจในเหตุในผลว่าเป็นธรรมดาของการปฏิบัติธรรม  ที่ย่อมมีแพ้มีชนะ  ผู้ที่ชนะตลอดก็มีแต่อรหันต์เท่านั้น  แม้แต่โสดาบันก็ยังมีแพ้มีชนะ  หน้าที่ของเราไม่ใช่การคิดมาก  กังวล  ท้อแท้  น้อยใจ  แต่หน้าที่ของเราก็คือการฝึกหัดละอุปาทาน  โดยการทำสติสัมปชัญญะให้เกิดขึ้นเสมอ ๆ  ทำบ่อย ๆ   ทำให้มาก ๆ  เมื่อปฏิบัติได้ผลดีก็อย่าดีใจ  เมื่อปฏิบัติได้ผลไม่ดีก็อย่าเสียใจ  พยายามหาทางแก้ไขด้วยเหตุ  ด้วยผล  เพื่อให้การปฏิบัติธรรมก้าวหน้าต่อไป  ให้เราพยายามสร้างเหตุให้ดีที่สุดแต่ผลลัพธ์ที่ได้จะดีหรือไม่ดีก็ช่างมัน เรียกว่า สร้างเหตุให้มากแต่อย่าหวังผล  ถ้าเราทำได้อย่างนี้ก็เป็นการละความยินดียินร้ายในผลของการปฏิบัติ  ตลอดทางของการปฏิบัติธรรม  เราจะพบความจริงว่า  ตราบใดที่เรามีความยินดียินร้ายในผลของการปฏิบัติ  การปฏิบัติก็จะไม่ก้าวหน้า  ต่อเมื่อเราละความยินดียินร้ายเสียได้  การปฏิบัติธรรมจึงจะก้าวหน้าต่อไป

4.     ควรรู้จักกับกิเลสให้ดี

         เราควรทำความรู้จักกับกิเลสให้ดี  เพราะกิเลส  คืออุปสรรคของการปฏิบัติธรรม  กิเลสที่สำคัญที่สุดก็เห็นจะเป็นอวิชชา  ซึ่งก็ได้กล่าวอย่างละเอียดแล้วในบทที่  4  ส่วนกิเลสอย่างอื่นที่ควรรู้จักควรสนใจก็คือ  มานะ  (ความอวดตัว)  และ  อุทธัจจะ  (ความฟุ้งซ่าน)  เพราะมาเยี่ยมเยือนจิตอยู่เสมอ

         1). มานะ  คือ   ความอวดตัว  ถือตัว  หยิ่ง  เป็นกิเลสที่เกิดขึ้นในขณะที่มีการเปรียบเทียบว่าตนดีกว่าผู้อื่น  เช่น  แข่งกีฬาแล้วชนะก็มีมานะเกิดขึ้น  คนชมว่าเก่งก็มีมานะเกิดขึ้น  มานะจะเกิดขึ้นได้ง่ายกับคนที่ชอบโอ้อวด  เกิดขึ้นได้ยากกับคนที่ชอบถ่อมตน  คนที่มีชื่อเสียง  มีลาภยศ  จะมีมานะได้ง่าย  คนที่เป็นนาย  เป็นหัวหน้า  จะมีมานะได้ง่ายกว่าคนที่เป็นลูกน้อง  คนที่ทำสมาธิจนมีฌานแก่กล้าจะมีมานะได้ง่าย  มานะเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติธรรมอย่างมาก  บางคนปฏิบัติธรรมมาเป็นเวลานาน  เมื่อได้สนทนาธรรมกับผู้อื่น  ผู้อื่นทักท้วงว่าตนทำผิดวิธีก็เกิดมานะขึ้น  อวดตัวว่าตนเองเป็นผู้รู้ธรรมมากแล้ว  จึงถกเถียงไม่สนใจที่จะฟังธรรมที่ถูกต้องจากผู้อื่น  ก็เลยต้องทำผิดวิธีอยู่อย่างนั้นต่อไป  บางคนกำลังปฏิบัติธรรมได้ผลดีก็เกิดมานะขึ้น  อวดตัวว่าตนเองได้พบธรรมอันวิเศษ  ปรารถนาจะสอนผู้อื่นบ้าง  จึงเกิดความฟุ้งซ่าน  คิดมาก  คิดว่าจะสอนคนนั้นว่าอย่างนั้น  จะสอนคนนี้ว่าอย่างนี้  ทำให้การปฏิบัติธรรมเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว  มานะ  คือ  ความอวดตัวนี้สามารถละได้ด้วยการฝึกเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน  มีสัมมาคารวะ  ถือสันโดษ

         2). อุทธัจจะ  คือ  ความฟุ้งซ่าน  เป็นกิเลสที่ทุกคนมีอยู่ตลอดเวลา  เช่นเดียวกับอวิชชา  จนเกิดความเข้าใจผิดไปว่าเป็นสภาพปรกติของชีวิต  ลักษณะของความฟุ้งซ่านก็คือ  การที่จิตไม่ตั้งมั่นในงาน  ความฟุ้งซ่านเป็นธรรมะฝ่ายตรงข้ามกับสมาธิ  ถ้าสมาธิดีก็เรียกว่ามีความฟุ้งซ่านน้อย  ถ้าสมาธิไม่ดีก็เรียกว่ามีความฟุ้งซ่านมาก  ลักษณะที่ถือว่าจิตไม่มีความฟุ้งซ่านก็คือ  ลักษณะที่จิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิถึงขั้นฌาน  เพราะฉะนั้นใครที่ไม่เคยฝึกสมาธิถึงขั้นได้ฌานเลยในชีวิต  ก็เรียกว่ามีความฟุ้งซ่านตลอดชีวิต  เขาจะไม่รู้เลยว่าความสงบของจิต  ความตั้งมั่นของจิตเป็นอย่างไร  เขาจะไม่รู้จักว่าความฟุ้งซ่านเป็นอย่างไร  ในการปฏิบัติธรรมเราควรสอนตนเองอยู่เสมอว่า  ความฟุ้งซ่านของจิตเป็นผิดปรกติของชีวิต  ส่วนความสงบ  ความตั้งมั่นของจิตเป็นปรกติของชีวิต  แล้วพยายามทำจิตให้สงบเป็นสมาธิเท่าที่จะทำได้  ขณะใดที่เรามีความฟุ้งซ่าน  ก็ให้รู้ว่ามีความผิดปรกติเกิดขึ้นแล้ว
         แม้กิเลสอื่น ๆ  ก็เช่นกัน  ความดีใจหรือความเสียใจ  เมื่อเกิดขึ้นในจิตใจก็ให้รู้ว่ามีความผิดปรกติเกิดขึ้นแล้ว  ถ้าเรามีความหงุดหงิด  กังวล  หดหู่  เผลอสติ  ก็ให้รู้ว่ามีความผิดปรกติเกิดขึ้นแล้ว  ถ้ามีสติสัมปชัญญะเกิดขึ้น  ก็ให้รู้ว่านี่คือสภาพปรกติของชีวิต  ควรสอนตนเองในลักษณะนี้อยู่เสมอ  เมื่อทำบ่อย ๆ  ก็จะเกิดความเคยชิน  ภายหลังเมื่อกิเลสเข้าปรุงแต่งจิต  เราจะรู้สึกว่าเป็นความผิดปรกติของจิต  และจะพยายามขับไล่กิเลสเหล่านั้นออกไป
         อย่างไรก็ตามถ้าเราสามารถทำสติสัมปชัญญะให้เกิดขึ้นได้  ขณะนั้นเราย่อมละกิเลสต่าง ๆ  ได้  ไม่ว่าจะเป็นมานะ  อุทธัจจะ อวิชชา  หรือกิเลสอื่น ๆ  ขณะนั้นเราย่อมเป็นผู้รู้ในอารมณ์เฉย ๆ  โดยไม่มีกิเลสเจือปน

5.     ปฏิบัติธรรมแบบไหนดี ?

         มักจะมีคนถามผมอยู่เสมอว่า  ควรจะปฏิบัติธรรมแบบไหนดี  ผมก็มักจะตอบว่า  ปฏิบัติแบบไหนได้ง่าย  ได้เร็ว  ได้ผลดี  ก็ให้ปฏิบัติแบบนั้น  โดยปรกติในการปฏิบัติธรรมเราจะเน้นเรื่องการทำวิปัสสนาเป็นหลัก  เพราะเป็นงานที่เราต้องทำตลอด  ซึ่งการทำวิปัสสนาสามารถทำได้สองวิธีใหญ่ ๆ  คือ  การมีสติอยู่กับปรมัตถ์  และ  การมีสติอยู่กับสมมุติ  แต่ละความยินดียินร้ายในสมมุติ
         ถ้าเปรียบเทียบทั้งสองวิธีแล้ว  การมีสติอยู่กับสมมุติทำได้ยากกว่า  เพราะการที่เรารับรู้ในสมมุติแล้ว  จะไม่ให้จิตใจหวั่นไหว  คล้อยตามสมมุตินั้นทำได้ยาก  เช่นเวลาที่เรามองดูแหวนเพชร  ถ้าเรามีสติอยู่กับสมมุติคือตีความว่าเป็นแหวนเพชรแล้ว  การที่จะให้เราละความชอบในแหวนเพชรนั้นย่อมเป็นไปได้ยาก  แต่ถ้าเรามีสติอยู่กับปรมัตถ์  คือรู้ในรูปทรงสีสันของภาพเฉย ๆ  ไม่ตีความว่าภาพนั้นคือแหวนเพชร  ความรู้สึกชอบ  อยากได้  ก็ไม่เกิดขึ้น  เพราะฉะนั้นการฝึกมีสติอยู่กับปรมัตถ์จึงทำได้ง่ายกว่า  การเห็นธรรมก็ชัดเจนกว่า  การดับกิเลสก็ดับได้สนิทกว่า
         แต่การมีสติอยู่กับปรมัตถ์ ก็มีข้อเสียตรงที่ต้องละสมมุติ ฉะนั้นเวลาที่เราจำเป็นต้องอยู่กับเรื่องราว  ต่าง ๆ  ที่เป็นสมมุติ  เช่น  ขณะที่ใช้ความคิด  พูดคุย  ทำงาน  ดูโทรทัศน์  ฯลฯ  ในขณะที่ทำกิจเหล่านี้  เราไม่สามารถมีสติอยู่กับปรมัตถ์ได้  ต้องทำวิปัสสนาแบบมีสติอยู่กับสมมุติแทน
         ในการปฏิบัติธรรม  แม้ว่าเราจะรู้วิธีที่ถูกต้องแล้วก็ตาม  แต่ถ้าเราเลือกวิธีปฏิบัติไม่เหมาะสม  การปฏิบัติธรรมของเราก็อาจจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า  หรืออาจจะไม่ได้ผลเลยก็ได้  การที่จะให้การปฏิบัติธรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพควรทำดังนี้

         1). ต้องปฏิบัติธรรมทั้งวัน

         มีนักปฏิบัติหลายท่านปฏิบัติธรรมในช่วงเวลาสั้น ๆ  เช่น  วันละครึ่งหรือหนึ่งชั่วโมง  ไม่ได้ทำตลอดทั้งวัน  ถ้าทำอย่างนี้ก็จะไม่ได้ผล เพราะในช่วงที่ฝึกปฏิบัติธรรม เราอาจจะละกิเลสได้  แต่ช่วงเวลาที่เราทำกิจต่าง ๆ  ในชีวิตประจำวัน  กิเลสเข้าปรุงแต่งจิตได้ตลอด  ถ้าเราไม่ฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน  ขณะที่ทำกิจการงานต่าง ๆ  ก็จะเกิดความเครียด  กังวล  ฟุ้งซ่านสูง  เมื่อถึงเวลาปฏิบัติธรรม  การที่จะลดกิเลสเหล่านี้ลงก็ทำได้ยาก  อาจจะใช้เวลานานครึ่งค่อนชั่วโมง  พอเริ่มปฏิบัติได้ดีก็หมดเวลาเสียก่อน  อีกประการหนึ่ง  ถ้าเราไม่ฝึกละกิเลสในชีวิตประจำวัน  เราก็จะไม่ชินกับการละกิเลส  เมื่อถึงเวลาฝึกปฏิบัติ  เราก็จะไม่ชินกับการละกิเลสในขณะที่ฝึกนั้นด้วย  ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมจึงต้องทำทั้งวัน  นึกได้เมื่อไร  ให้ทำเมื่อนั้น  ถ้าเผลอลืมตัวก็แล้วไป  เมื่อนึกได้ก็ให้รีบทำอีก  โดยปรกติเราควรฝึกมีสติอยู่กับปรมัตถ์  เช่น  มีสติอยู่กับการเห็น  หรือมีสติอยู่กับกาย  แต่ถ้าจำเป็นที่จะต้องอยู่กับสมมุติ  เช่น  ขณะพูดคุย  ใช้ความคิด  ดูโทรทัศน์  ฯลฯ  ก็ให้ใช้วิธีมีสติอยู่กับสมมุติ  แต่ละความยินดียินร้ายในสมมุติเหล่านั้น  ถ้าในชีวิตประจำวันเราฝึกมีสติสัมปชัญญะ  ละกิเลสไปเรื่อย ๆ  เราก็จะดำเนินชีวิตไปได้ด้วยความสบายใจ  ไม่เครียด  ไม่กังวล  ไม่ฟุ้งซ่าน  เมื่อถึงเวลาปฏิบัติธรรมจิตก็จะสงบได้เร็ว  ทำสติสัมปชัญญะได้ง่าย  เพราะเราฝึกมาทั้งวันอยู่แล้ว

        2). ต้องฝึกแบบสมาธิแรง

         การปฏิบัติธรรมจะได้ผลเร็วเพียงใดนั้น  นอกจากจะขึ้นอยู่กับเวลาที่ใช้ในการปฏิบัติแล้ว  ยังขึ้นอยู่กับกำลังของสติและสมาธิในขณะที่ทำวิปัสสนานั้นด้วย  ถ้าสติและสมาธิอ่อนกำลัง  สติสัมปชัญญะที่เกิดขึ้นก็อ่อนกำลังด้วย  การปฏิบัติก็จะได้ผลช้า  แต่ถ้าสติและสมาธิมีกำลังแรง  สติสัมปชัญญะที่เกิดขึ้นก็จะมีกำลังแรงด้วย  การปฏิบัติก็จะได้ผลเร็ว  ซึ่งอาจจะเร็วกว่ากันถึงหลายสิบเท่าตัวเลยทีเดียว  ฉะนั้นถ้าเราฝึกโดยที่สติสัมปชัญญะมีกำลังอ่อน เมื่อฝึกไปเรื่อย ๆ ก็จะได้ผลช้า แทนที่จะบรรลุมรรคผลภายใน 2-3  ปี ก็อาจจะกลายเป็น 100-200 ปี  ไปก็ได้  นั่นหมายความว่าเราไม่มีทางที่จะบรรลุมรรคผลในชาตินี้ได้เลย
         การทำวิปัสสนาชนิดที่มีสมาธิแรงสามารถทำได้ทั้งการมีสติอยู่กับปรมัตถ์  และการมีสติอยู่กับสมมุติ
         การฝึกมีสติอยู่กับปรมัตถ์ชนิดที่มีสมาธิแรง  ที่ผมเห็นว่าทำได้ง่าย  มี  2  วิธีคือ  การมีสติอยู่กับการเห็น  และการมีสติอยู่กับกาย
         1).     ในการมีสติอยู่กับการเห็น  ถ้าเรามองภาพโน้นภาพนี้แบบปรมัตถ์ไปเรื่อย ๆ  ในชีวิตประจำวัน  สมาธิจะอ่อน  ถ้าต้องการให้สมาธิแรง  เราก็ต้องเพ่งมองภาพใดภาพหนึ่งแบบปรมัตถ์  โดยจะต้องไม่ทำกิจอื่นเลย  แล้วพยายามให้ใจจดจ่อที่ภาพนั้นให้มากกว่าเดิม  มากขึ้นไปเรื่อย ๆ  สมาธิก็จะแรงขึ้นตามลำดับ
         2).     ในการมีสติอยู่กับกาย  ถ้าเราทำในขณะที่กายเคลื่อนไปในที่ต่าง ๆ  ในชีวิตประจำวัน  สมาธิจะอ่อน  ถ้าอยากให้สมาธิแรง  เราจะต้องไม่ทำกิจอื่นเลย  เอาสติดูกายเพียงอย่างเดียว  แล้วเคลื่อนไหวกายช้า ๆ  พร้อมกับเอาสติดูกายไปตลอด  พยายามให้สติจดจ่อที่กายให้มากกว่าเดิมมากขึ้นไปเรื่อย ๆ  สมาธิก็จะแรงขึ้นตามลำดับ
         ในการใช้คำเรียกชื่อวิธีปฏิบัติธรรมแบบต่าง ๆ  บางคนอาจจะสับสน  ผมขออธิบายเพิ่มเติมดังนี้
         การมีสติอยู่กับปรมัตถ์ทุกวิธีจัดเป็นวิปัสสนา  การมีสติอยู่กับปรมัตถ์ชนิดที่มีสมาธิแรง  บางทีผมเรียกว่า  การทำสมาธิโดยใช้ปรมัตถ์เป็นอารมณ์
         ส่วนการมีสติอยู่กับสมมุติ  ถ้าไม่มีการละอุปาทานหรือละความยินดียินร้ายในสมมุติเหล่านั้น  ก็ไม่จัดเป็นวิปัสสนา  แต่ถ้ามีการละอุปาทานหรือละความยินดียินร้ายด้วย  ก็จัดเป็นวิปัสสนา  ซึ่งบางทีผมใช้คำว่า  การมีสติอยู่กับสมมุติแต่ละความยินดียินร้ายในสมมุติ บางทีก็ใช้คำว่าการทำวิปัสสนาแบบอยู่กับสมมุติ  ก็ขอให้ผู้อ่านเข้าใจว่ามีความหมายเหมือนกัน
         ส่วนการมีสติอยู่กับสมมุติชนิดที่มีสมาธิแรง  ก็ได้แก่  การทำสมาธิทั่วไป  ซึ่งบางทีผมเรียกว่า การทำสมาธิโดยใช้สมมุติเป็นอารมณ์  ไม่จัดเป็นวิปัสสนา  แต่ถ้าการทำสมาธินั้นมีการละความยินดียินร้ายในสมาธิด้วยก็จัดเป็นวิปัสสนาหรือเรียกว่า ทำวิปัสสนาในสมาธิ
         สำหรับคำว่า การทำวิปัสสนา  กับ  การมีสติสัมปชัญญะ  มีความหมายเดียวกัน
         สำหรับคำว่า สมาธิแรง  หมายถึงทั้งสติและสมาธิมีกำลังแรงทั้งคู่
         ในกรณีที่เราต้องฝึกมีสมาธิอยู่กับสมมุติชนิดที่มีสมาธิแรง  เราก็ทำได้โดยการทำสมาธิแบบทั่วไป  แล้วละความยินดียินร้ายในสมาธินั้น  ที่สมาธิแรงก็เพราะขณะที่ทำสมาธิอยู่นั้น  สติจะจดจ่ออยู่กับอารมณ์ที่เรากำหนดตลอดเวลาสมาธิจึงแรง  ส่วนการมีสติอยู่กับเรื่องราวต่าง ๆ  ในชีวิตประจำวัน  สมาธิจะอ่อนเพราะสติย้ายที่บ่อย
         แต่เนื่องจากการทำสมาธิทั่วไปใช้สมมุติเป็นอารมณ์จึงฝึกได้ยาก  เพราะจิตจะหวั่นไหวไปกับสมมุติได้ง่าย  ฉะนั้นวิธีนี้จึงฝึกได้เฉพาะบางคนเท่านั้น  คนที่ทำได้ก็คือคนที่มีพื้นฐานของสมาธิดีอยู่แล้ว  คือฝึกไม่นานก็สามารถทำสมาธิได้ผล  เช่น  เห็นนิมิต  มีปีติ  สุข  เกิดขึ้นได้ง่าย  ผู้ที่ทำได้อย่างนี้จึงจะฝึกสมาธิได้ผล  แต่สำหรับคนที่ฝึกสมาธิมานานเป็นปีแล้วก็ยังไม่เคยเห็นนิมิต  ไม่เคยมีปีติ  สุข  เกิดขึ้นเลย  ผู้ที่มีลักษณะเช่นนี้  ถ้าฝึกสมาธิก็จะไม่ได้ผล  ต้องเปลี่ยนเป็นฝึกมีสติอยู่กับปรมัตถ์ชนิดที่มีสมาธิแรงแทนเพราะทำได้ง่ายกว่า  สามารถทำได้ทุกคนไม่มียกเว้น
         โดยปรกติคนที่นั่งสมาธิไม่ได้ผลคือคนที่นั่งได้ไม่นาน  คนที่มีใจรวนเร  ไม่มั่นคง  คนที่เผลอหลับง่าย  ตัวผมเองเคยฝึกสมาธิมา  8  ปีก็ยังไม่ได้ผล  เพราะเป็นคนที่เผลอหลับง่าย  ภายหลังเปลี่ยนมาปฏิบัติแบบมีสติอยู่กับกายปรากฏว่าได้ผลก้าวหน้าดี  ทำอยู่ประมาณ  4  เดือนก็เริ่มมีปีติ  สุข  เกิดขึ้น  ทั้ง ๆ  ที่ไม่ได้นั่งสมาธิเลย
         แต่สำหรับคนที่มีสมาธิดี  ก็ให้ฝึกนั่งสมาธิจะได้ผลเร็ว  เวลานั่งสมาธิการที่เราจะเอาสติไปกำหนดอยู่ที่ใดนั้นขึ้นอยู่กับความถนัดของเรา  เช่น  ถ้าเราเอาสติไปกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกแล้วทำได้ดี  ก็ให้ทำวิธีนั้น  ถ้าเราเอาสติไปกำหนดที่ท้อง  ดูอาการที่ท้องพอง-ยุบ  แล้วทำได้ดีก็ให้ทำวิธีนั้น  หรือถ้าเราเป็นคนที่นึกถึงภาพเก่ง  หลับตาแล้วนึกถึงภาพโน้นภาพนี้ได้ง่าย  ก็ให้ใช้วิธีนึกภาพ  เช่น  นึกถึงดวงแก้ว  นึกถึงพระพุทธรูป  นึกถึงแสงสว่าง  เราทำวิธีไหนได้ง่ายก็ให้ทำวิธีนั้น
         จะเห็นว่าการทำวิปัสสนาให้สมาธิแรงนั้น  เราจะต้องปฏิบัติธรรมเพียงอย่างเดียว  จะทำกิจอย่างอื่นควบคู่ไปด้วยไม่ได้เลย  เพราะถ้าทำกิจอื่นไปด้วย  สติก็จะย้ายที่บ่อยทำให้สมาธิอ่อน  เพราะฉะนั้นการฝึกวิปัสสนาชนิดที่มีสมาธิแรงนี้ฝึกได้เฉพาะเวลาว่างเท่านั้น  อาจจะทำในตอนเช้า  กลางคืน  หรือช่วงอื่นที่มีเวลาว่างก็ได้  อาจจะทำวันละครึ่งชั่วโมง  หนึ่งชั่วโมง  หรือมากกว่านั้น  ก็แล้วแต่ว่าใครจะมีเวลามากน้อยเพียงใด
          การที่จะตรวจสอบว่าสมาธิที่เกิดขึ้นในการทำวิปัสสนาแรงเพียงใด  ก็ให้สังเกตดูว่า  ขณะปฏิบัติจิตสงบมากน้อยเพียงใด  สติจดจ่ออยู่กับอารมณ์ที่เราสนใจมากน้อยเพียงใดมีปีติ  สุข  เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด  ถ้ามีความรู้สึกเหล่านี้มาก  ก็แสดงว่าสมาธิแรง  แต่ถ้าไม่มีความรู้สึกเหล่านี้เลยก็แสดงว่าสมาธิอ่อน
         กล่าวโดยสรุปก็คือ  การปฏิบัติธรรมต้องทำทั้งวัน  ขณะใดที่จำเป็นต้องรับรู้ในเรื่องราวที่เป็นสมมุติก็ให้ปฏิบัติแบบมีสติอยู่กับสมมุติ  แต่ละความยินดียินร้ายในสมมุติ  ขณะใดที่ไม่จำเป็นต้องอยู่กับสมมุติ  ก็ให้ฝึกมีสติอยู่กับปรมัตถ์  ทำเช่นนี้ตลอดทั้งวัน  และจะต้องมีการฝึกวิปัสสนาชนิดที่สมาธิแรงทุกวัน  ถ้าเป็นคนที่ฝึกสมาธิไม่ได้ผล  ก็ให้ฝึกมีสติอยู่กับปรมัตถ์ชนิดที่มีสมาธิแรง  เช่นฝึกมีสติอยู่กับการเห็น  หรือมีสติอยู่กับกาย  โดยไม่ทำกิจอื่น  ถ้าทำในลักษณะนี้อยู่เสมอ  การปฏิบัติธรรมก็จะได้ผลเร็ว
         สำหรับผู้ที่เริ่มปฏิบัติธรรมใหม่ ๆ  หรือผู้ที่เคยฝึกสมาธิมานานแต่ยังไม่ได้ผล  ผมมักจะแนะนำให้ฝึกแบบมีสติอยู่กับปรมัตถ์  เพราะจะทำได้ผลทุกคน  โดยปรกติผมจะให้ฝึกมีสติอยู่กับการเห็นก่อน  เพราะฝึกได้ง่ายที่สุด  และสามารถฝึกให้สมาธิแรงได้ง่ายกว่าวิธีอื่น  โดยในขั้นต้นจะให้ฝึกมองผ้าลายก่อน  เมื่อรู้หลักของการมองแบบปรมัตถ์แล้วจึงให้ฝึกมองภาพอื่นต่อไป  การฝึกมองแบบปรมัตถ์ให้เป็นนั้นจะใช้เวลาไม่นาน  ถ้าอุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกมองมีความเหมาะสม  และนักปฏิบัติมีสมาธิดีพอสมควร  ก็จะใช้เวลาเพียง  2-3  นาที  เท่านั้น  เวลาที่ผมสอนการปฏิบัติธรรมแบบมีสติอยู่กับการเห็นนี้  ผมจะใช้เวลาอธิบายหลักการให้ฟังประมาณ  15-30  นาที  ซึ่งนักปฏิบัติเกือบทุกคนจะบอกว่าทำยาก  แต่เมื่อให้ลงมือปฏิบัติโดยการเพ่งมองผ้าลาย  ก็มักจะทำได้เกือบทุกคน  คนที่ทำไม่ได้ก็คือคนที่ขณะนั้นมีความฟุ้งซ่านสูง  หรือทำใจไม่ถูก  แต่เมื่อไปฝึกเองอีกไม่กี่วันก็ทำได้  แต่ในขั้นต้นนี้นักปฏิบัติยังไม่มีความชำนาญ  เพราะฉะนั้นการเห็นภาพแบบปรมัตถ์จะทำได้เพียงแวบ ๆ  ก็จะสามารถทำต่อเนื่องได้นานเป็นหลายวินาทีได้
         การมีสติอยู่กับปรมัตถ์ที่ผมมักจะแนะนำให้ทำอีกแบบหนึ่งก็คือ การมีสติอยู่กับกาย  ซึ่งการที่จะทำให้ได้ผลนั้นจะใช้เวลามากกว่าการมีสติอยู่กับการเห็น  เวลาที่ผมสอนการปฏิบัติธรรมแบบมีสติอยู่กับกายนี้  ผมจะใช้เวลาอธิบายหลักการให้ฟังประมาณ  1-2  ชั่วโมง  เมื่อลงมือปฏิบัติบางคนที่สมาธิดีพอสมควร  และทำใจได้ถูกก็สามารถเห็นปรมัตถ์ในกายได้โดยใช้เวลาฝึกเพียงไม่กี่นาที  บางคนที่ทำไม่ได้  ก็จะไปฝึกเองอีกไม่กี่วันก็ทำได้
         จะเห็นว่าการมีสติอยู่กับปรมัตถ์นี้เป็นการปฏิบัติธรรมที่ง่าย  ใช้เวลาไม่นาน  เวลานำไปใช้ในการดับกิเลสก็ทำได้  ง่ายกว่าการมีสติอยู่กับสมมุติ  เช่น  เวลาที่เราโกรธ  ไม่ว่าจะโกรธด้วยสาเหตุร้อยแปดพันประการ  วิธีดับโกรธเราก็ใช้เพียงวิธีเดียวเท่านั้น  เช่น  ถ้าเราฝึกมีสติอยู่กับกายจนชำนาญ  เวลาที่เราโกรธ  เราก็เอาสติมาอยู่ที่กาย  ความโกรธก็ดับไปได้  ไม่ว่าจะเป็นกิเลสชนิดใด  มีสาเหตุมาจากอะไร  เราก็ใช้วิธีเดิม  ไม่ต้องมีการปลง  นึกคิดพิจารณาหาเหตุผลให้ยุ่งยากเหมือนกับการทำวิปัสสนาแบบอยู่กับสมมุติ  และการดับกิเลสก็ดับได้สนิทกว่า  ฉะนั้นผมจึงเน้นให้ฝึกแบบมีสติอยู่กับปรมัตถ์  และวิธีที่ควรฝึกให้มากก็คือ  การมีสติอยู่กับการเห็น  และการมีสติอยู่กับกายเพราะทำได้ง่าย  และฝึกให้มีสมาธิแรงได้ง่ายกว่าวิธีอื่น

6.     การปฏิบัติธรรมในแต่ละวัน

         ตามที่กล่าวมาแล้วว่าการปฏิบัติธรรมที่จะให้ได้ผลนั้น นอกจากจะต้องทำทั้งวันแล้ว  เรายังต้องฝึกวิปัสสนาชนิดที่มีสมาธิแรงด้วย  เนื่องจากนักปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ต้องทำงานหาเงินเลี้ยงชีพด้วย  และปฏิบัติธรรมไปด้วย  ฉะนั้นการที่จะปฏิบัติธรรมทั้งวันได้นั้น  เราจะต้องทำผสมผสานไปกับการทำกิจต่าง ๆ  ในชีวิตประจำวัน  เราต้องเลือกวิธีปฏิบัติเองว่า  ขณะใดควรอยู่กับปรมัตถ์  ขณะใดควรอยู่กับสมมุติ  ขณะใดควรทำสมาธิ  ขณะใดควรพิจารณาธรรม  การจะทำวิปัสสนาวิธีใดก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเราเอง  เพราะการปฏิบัติธรรมไม่ได้กำหนดรูปแบบตายตัว  มีหลักแต่เพียงว่า  ขณะใดทำวิธีใดง่าย  ได้ผลดีก็ให้ทำวิธีนั้น
         ส่วนการทำวิปัสสนาชนิดที่มีสมาธิแรงนั้น  เราจะต้องฝึกโดยที่ไม่ทำกิจอื่น  เพราะฉะนั้นเราจึงต้องหาเวลาว่างสำหรับฝึก  อาจจะเป็นช่วงเช้าก่อนไปทำงาน  ช่วงกลางคืนก่อนนอน  หรือช่วงอื่นที่เรามีเวลาว่าง  ในช่วงเช้าของทุกวันนับเป็นเวลาที่เราควรทำวิปัสสนาชนิดที่มีสมาธิแรงเป็นอย่างยิ่ง  เพราะขณะที่ตื่นนอนใหม่ ๆ  เราจะมีความฟุ้งซ่านสูงมาก  สติและสมาธิอ่อนกำลังมาก  ถ้าเราไม่ทำสมาธิให้แรงในตอนเช้า  เวลาที่เราทำวิปัสสนาในขณะที่ทำกิจต่าง ๆ  ในชีวิตประจำวัน  กำลังของสติสัมปชัญญะก็จะอ่อน  ทำให้การละกิเลสทำได้ยาก  นั่นก็หมายความว่าเราจะมีความฟุ้งซ่านสูง  ทำให้เกิดความเครียด   ความกังวล  ในขณะที่ทำงานต่าง ๆ  ได้ง่าย  เมื่อเราต้องการลดความเครียด  ความกังวลลงก็ทำได้ยากเพราะสมาธิอ่อน  เพราะฉะนั้นเราจะไม่มีความสุขในการทำงาน  ถ้าความเครียดสูงทุกวันก็อาจจะถึงกับเป็นโรคประสาทได้
         แต่ถ้าเราทำสมาธิให้แรงในตอนเช้า  ความฟุ้งซ่านจะน้อย  การละกิเลสในขณะที่ทำงานก็ทำได้ง่าย  เมื่อมีความเครียด  ความกังวลเกิดขึ้น  ก็ละได้ง่ายเพราะสติสัมปชัญญะมีกำลัง  สามารถทำสติสัมปชัญญะให้เกิดต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ได้ง่าย  เราก็จะมีความสุขในการทำงาน  ไม่เครียดเหมือนคนทั่วไป  การปฏิบัติธรรมก็จะได้ผลเร็ว
         รูปที่  1  และรูปที่  2  เป็นกราฟเปรียบเทียบระดับของกิเลส  ระหว่างนักปฏิบัติคนแรกซึ่งไม่ทำสมาธิให้แรงในตอนเช้า  (รูปที่  1)  กับนักปฏิบัติคนที่  2  ที่ทำสมาธิแรงในตอนเช้า
 



 
 



         จุด  ก.  เป็นเวลาที่เริ่มต้นตื่นนอน  ความฟุ้งซ่านจะสูงเท่ากัน
         ก - ข  เป็นช่วงเวลาที่นักปฏิบัติคนที่  2  พยายามทำ วิปัสสนาชนิดที่มีสมาธิแรง  เพื่อลดความฟุ้งซ่านลง  จะเห็นว่าความฟุ้งซ่านลดลงไปจากเดิมมาก  จิตจะผ่อนใส  เบิกบาน ส่วนคนแรงไม่ทำสมาธิให้แรง  ความฟุ้งซ่านจึงลดลงเพียงเล็กน้อย  จิตไม่ผ่องใส
         ข-ค  เป็นช่วงที่นักปฏิบัติทำการงานต่างๆ  โดยไม่ได้ทำสติสัมปชัญญะเลย  ความฟุ้งซ่าน  ความเครียด  ความกังวลก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น
         ค-ง  เป็นช่วงที่นักปฏิบัติพยายามทำสติสัมปชัญญะเพื่อดับกิเลส  กิเลสก็จะลดลง
         ง-จ  เป็นช่วงที่นักปฏิบัติไม่ได้ทำสติสัมปชัญญะ  กิเลสก็เพิ่มขึ้นอีก

         จะเห็นว่าคนแรกมีระดับเฉลี่ยของกิเลสสูงกว่าคนที่  2  มาก  เพราะฉะนั้นการทำให้สมาธิแรงในตอนเช้าจึงมีความสำคัญต่อการปฏิบัติของแต่ละวัน  ถ้าเราลองสังเกตดูจะพบว่า  วันใดที่เราทำให้สมาธิแรงในตอนเช้า  วันนั้นเราจะปฏิบัติธรรมได้ดีเกือบทั้งวัน  แต่ถ้าวันใดที่เราไม่ทำสมาธิตอนเช้า  วันนั้นเราจะปฏิบัติธรรมไม่ค่อยได้ผล  จะโกรธง่าย  หงุดหงิดง่าย  เผลอง่าย  สำหรับผมเองจะใช้  วิธีเพ่งมองภาพแบบปรมัตถ์  โดยการเพ่งมองพุ่มไม้ที่หน้าบ้านทุกเช้าเพื่อให้สมาธิแรง  หลังจากนั้นก็พยายามทำสติสัมปชัญญะให้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ  ในขณะที่อาบน้ำ  แต่งตัว  เพื่อรักษากำลังของสมาธิไม่ให้อ่อนลง  รู้สึกว่าได้ผลดี
         ส่วนการทำวิปัสสนาชนิดที่มีสมาธิแรงในช่วงกลางคืน  ก็ช่วยลดความฟุ้งซ่าน  ความเครียด  ความกังวล  ที่เกิดขึ้นในขณะที่ทำกิจการงานต่าง ๆ มาตลอดทั้งวัน  เป็นการคลายเครียด  และยังช่วยให้นอนหลับง่าย  หลับได้สนิทเมื่อยามตื่นขึ้นในตอนเช้าความฟุ้งซ่านก็จะน้อย
         ในการปฏิบัติธรรมเราควรจะทำให้สม่ำเสมอทุกวันจนเป็นนิสัย  และควนตรวจสอบอยู่เสมอว่าการปฏิบัติก้าวหน้าดีอยู่หรือไม่  ถ้าไม่ก้าวหน้าก็ต้องหาทางแก้ไข  ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของการปฏิบัติในแต่ละวัน  ซึ่งนักปฏิบัติอาจจะใช้เป็นแนวทางในการฝึกก็ได้
         เมื่อเริ่มตื่นนอนก็ให้ความรู้สึกว่านี่ถึงเวลาเริ่มปฏิบัติธรรมแล้ว เมื่อลุกขึ้นไปห้องน้ำก็อาจจะทำวิปัสสนา  โดยให้มีสติอยู่ในกาย  การเคลื่อนไปอย่างไรก็ให้รู้ว่ากายเคลื่อนไปอย่างนั้น  ไม่ใช่เราเคลื่อนไป  เมื่อแปรงฟันก็ให้มีสติอยู่กับการแปรงฟัน  ให้รู้ว่าตอนนี้กำลังแปรงตรงส่วนใด  เมื่อแปรงส่วนนี้เสร็จก็ให้คิดว่าจะแปรงส่วนใดต่อ  แล้วก็แปรงส่วนนั้นต่อไป  ขณะที่แปรงฟันก็ให้ใจอยู่กับการแปรงฟัน  ไม่ให้คิดเรื่องงาน  หรือเรื่องอื่น ๆ  ไม่ให้ใจลอย  เมื่อแปรงฟันเสร็จก็ไปอาบน้ำ  ขณะอาบน้ำเมื่อถูสบู่ตรงส่วนใดของร่างกายก็ให้รู้ว่าจะถูส่วนใดต่อไปก็ให้คิดและทำต่อเนื่องกันไป  ถูเสร็จราดน้ำก็ให้รู้  ให้ใจอยู่กับการอาบน้ำตลอด  อย่าให้ใจอยู่ที่อื่น  เมื่อเผลอไป  นึกได้  ก็ให้เอาสติมาอยู่ที่การอาบน้ำอีก  อย่างนี้เป็นการเจริญสติ  เมื่ออาบน้ำเสร็จ  เช็ดตัวแต่งตัว  ก็ให้มีสติอยู่ตลอด  เราอาจจะทำวิปัสสนาชนิดที่มีสมาธิแรง  ด้วยการเพ่งมองภาพแบบปรมัตถ์  หรือมีสติอยู่กับกาย  หรือใช้วิธีนั่งสมาธิก็ได้  อาจจะใช้เวลา  10  นาที  หรือครึ่งชั่วโมงก็แล้วแต่ความสะดวก
         เวลากินข้าวก็อาจทำวิปัสสนาด้วยการมีสติอยู่กับรสบ้าง  อยู่กับการเห็นบ้าง  อยู่กับการเคี้ยวบ้าง  แล้วแต่สะดวก  เมื่ออกจากบ้านเดินไปรอรถเมล์  ขณะเดินก็ให้มีสติอยู่กับกาย  ทำความรู้สึกว่ากายกำลังเดินบ้าง  มีสติอยู่กับเวทนา  คือ  การเห็นบ้าง  เมื่อนั่งบนรถเมล์ก็อาจจะเอาสติอยู่กับกาย  โดยการหันหน้าไปทางว้ายทางขวาช้า ๆ บ้าง  มีสติอยู่กับท่านั่งของกายบ้าง  หรือมองไปตามริมถนน  แล้วเอาสติอยู่กับการมองเห็นภาพต่างๆ แบบปรมัตถ์บ้าง  เมื่อถึงที่ทำงานขณะทำงานก็เอาสติอยู่กับงาน  คิดเรื่องงานอยู่ก็ให้รู้ว่ากำลังคิดอยู่  อย่าเอาอารมณ์พอใจหรือไม่พอใจเจือปนเข้าไปในความคิดเหล่านั้น  ขณะหยิบปากกาก็ให้รู้สึกตัวว่ากำลังหยิบปากกา  เขียนหนังสือก็ให้รู้ว่ากำลังเขียน  เมื่อพักกลางวัน  เดินไปกินอาหาร ก็เอาสติอยู่กับกาย  ทำความรู้สึกว่ากายเดิน  ไม่ใช่เราเดิน ขณะกินข้าว  ก็เอาสติไปอยู่กับการกิน  เมื่อกลับไปทำงาน  ก็ให้มีสติอยู่กับงานอีก
         กลับมาบ้าน  ดูโทรทัศน์  ก็อาจจะฝึกมีสติอยู่กับปรมัตถ์  เช่น  มีสติอยู่กับการเห็นบ้าง  อยู่กับเสียงบ้าง  หรืออาจจะมีสติอยู่กับจิต  โดยดูอารมณ์ดีใจ  เสียใจที่เกิดจากการดูโทรทัศน์  กรณีที่เรามีสติอยู่กับปรมัตถ์เช่นนี้  เราจะรู้เรื่องราวต่าง ๆ ในโทรทัศน์  ถ้าเราต้องการรู้เรื่องราวของหนังละครในโทรทัศน์  ก็ต้องทำวิปัสสนาแบบอยู่กับสมมุติ  โดยตั้งใจรับรู้เรื่องราวของหนังของละครเฉย  ๆ  ไม่ยินดียินร้ายในเหตุการที่ปรากฏบนจอโทรทัศน์  ตกดึกก่อนนอนก็อาจจะทำวิปัสสนาชนิดที่มีสมาธิแรง  เพื่อเพิ่มกำลังของสติและสมาธิ  อาจจะให้เวลา  10  นาที  ครึ่งชั่วโมงหรือ  1 ชั่วโมงก็ได้แล้วแต่สะดวก  เมื่อเข้านอนก็มีสติอยู่กับการ  กายนอนอยู่ในท่าใด  ก็ให้รู้ว่ากายอยู่ในท่านั้น  จนกระทั่งหลับไป
         ถ้าเราปฏิบัติอย่างนี้เสมอ ๆ  การปฏิบัติก็จะได้ผลเร็ว

7.     ทางสายกลาง

        ในการปฏิบัติธรรมช่วงแรก ๆ ของผมนั้น  มีความเคร่งครัดมาก  ได้ให้เวลากับการปฏิบัติธรรมอย่างมาก  ศีลก็พยายามรักษาให้บริสุทธิ์  ข้าวเย็นก็ไม่กิน  พยายามทนหิวอยากกินโน้นอยากกินนี่  ก็ยามยามห้ามใจ  อยากไปเที่ยวดูหนังดูละคร  ก็พยายามห้ามใจ  ปฏิบัติธรรมอยู่นานหลายเดือน  จนน้ำหนักลดลงไปถึงสิบกิโลกรัมเศษ    ก็ยังไม่เห็นทางที่จะบรรลุมรรคผล  ทั้ง ๆ  ที่ตอนนั้นก็รู้วิธีทำสติสัมปชัญญะให้เกิดขึ้นได้แล้ว  ผมรู้สึกท้อใจมาก  จึงคิดจะเลิกปฏิบัติธรรม  เพราะรู้สึกทรมานเหลือเกิน  ภายหลังจึงหันกลับมากินข้าวเย็นอีก  นึกอยากดูทีวีก็ดู   นึกอยากจะไปเที่ยวก็ไป  แต่ด้วยความรักในการปฏิบัติ  จึงยังคงปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ  แต่ก็ไม่หวังจะได้มรรคผลนิพพานอีกต่อไป   เมื่อปฏิบัติต่อมาเรื่อย ๆ  ก็เห็นความก้าวหน้าของการปฏิบัติธรรม  เห็นว่าแม้ยังไม่บรรลุมรรคผล  แต่กิเลสที่ปรุงแต่งจิตก็อ่อนกำลังลง  ตัณหาในตัวลดลงเรื่อย ๆ  จึงได้หาเหตุผลว่าอะไร  ที่เป็นเหตุให้การปฏิบัติธรรมก้าวหน้า  ก็ได้พบคำตอบว่าทางสายกลางนั้นเองที่เป็นเหตุให้การปฏิบัติธรรมก้าวหน้า
        ทางสายกลางคืออะไร  ทางสายกลางก็คือความพอดี  ความพอเหมาะ  หรือความเหมาะสม  ในการปฏิบัติธรรมนั้น  จุดสุดท้ายเราต้องเอาชนะกิเลสก็จริงอยู่  แต่กิเลสในตัวเรานั้นมีกำลังมาก  เราไม่สามารถเอาชนะในทันทีได้  จึงต้องฝึกคู่ปรับของกิเลสให้มีกำลังเสียก่อนจึงจะสู้กับกิเลสได้  คู่ปรับของกิเลสก็คือ  สติสัมปชัญญะ  นั่นเอง  ฉะนั้นงานในขั้นต้นของเราก็คือการทำสติสัมปชัญญะให้เกิดขึ้นบ่อย ๆ เกิดขึ้นนาน ๆ  เกิดขึ้นเสมอ ๆ  จนมีกำลังมากพอ  เราจึงจะเอาสติสัมปชัญญะที่ฝึกดีแล้วนี้  ไปสู้กับกิเลสได้  ตัวเราเปรียบเสมือนนักชกหน้าใหม่  ฝีมือยังอ่อนหัด  จะไปหาญท้าชกกับแชมป์เปียนโลก  คือกิเลส  ก็มีแต่จะถูกน็อคเสียมวยไปเท่านั้น  ในตอนแรกเราควรจะฝึกฝนชกมวย  คือ  ฝึกสติสัมปชัญญะให้เป็นเสียก่อน  ต่อไปก็ฝึกให้ชำนาญให้แข็งแกร่งพอ  แล้วจึงจะไปท้าชกกับกิเลสในภายหลัง
        หลักในการปฏิบัติในทางสายกลางคือ  เราจะเอาชนะตัณหาถ้าชนะได้  แต่ถ้าชนะไม่ได้เราก็จะทำตามตัณหา  แต่ถ้าชนะไม่ได้เราก็จะทำตามตัณหา  แต่ในขณะที่สนองตัณหาอยู่นั้น  ก็ให้ปฏิบัติธรรม  คือ  ฝึกสติสัมปชัญญะไปด้วย  ยกตัวอย่างเช่น  ถ้าเราเดินไปเห็นไอศกรีม  นึกอยากกิน  ขณะนั้นได้ชื่อว่า  มีตัณหาเกิดขึ้น  ก็ให้ดับตัณหา  คือความอยากกินนั้นเสีย  ด้วยการทำสติสัมปชัญญะให้เกิดขึ้น  ถ้าสติสัมปชัญญะอ่อนกำลัง  ไม่สามารถดับความรู้สึกอยากกินลงได้  ก็จงเดินไปซื้อไอศกรีมกิน  แต่ขณะที่เดินไป  ก็พยายามทำสติสัมปชัญญะให้เกิดขึ้นด้วย  จะทำได้หรือทำไม่ได้  ก็อย่าไปสนใจ  ให้พยายามตั้งใจทำก็แล้วกัน  ขณะที่กินไอศกรีมก็ให้มีสติสัมปชัญญะอาจจะเป็นการเอาสติอยู่กับรส  ความเย็น  ความอ่อน  แข็ง  หรืออาการเคี้ยว  ก็แล้วแต่ความถนัดของผู้ปฏิบัติ  เมื่อกินอิ่มแล้ว  ตัณหา  คือ  ความอยากกิน  ก็หมดไป  เพราะเราได้สนองตัณหาแล้ว  แต่เราก็ได้ฝึกสติสัมปชัญญะไปด้วย  จะเห็นว่าเราได้ปฏิบัติธรรมด้วย  และไม่หงุดหงิดด้วย  ได้ชื่อว่าเดินตามทางสายกลาง  ต่างกับการที่เราอยากกินไอศกรีมแต่ไม่ยอมกิน  พยายามทำสติสัมปชัญญะให้เกิดขึ้นเพื่อดับความอยาก  ก็ดับไม่ได้  ความรู้สึกอยากกิน  ก็ยังคงมีอยู่  แม้เดินไปที่อื่นแล้ว  ความรู้สึกอยากกินก็ยังคงติดตามไป  ทำให้เกิดความหงุดหงิด  ฟุ้งซ่านรำคาญใจขึ้นมาอาจจะเกอดความกังวลว่าเอาชนะกิเลสไม่ได้  ทำให้กลุ้มใจหนักยิ่งขึ้นไปอีก  อย่างนี้เรียกว่าตึงเกินไป  ไม่เดินตามทางสายกลาง  จะทำให้ได้มรรคผลช้า  หรืออาจจะเลิกปฏิบัติธรรมไปเลยก็ได้  เพราะเห็นว่าการละตัณหาเป็นของยากสำหรับตน
     แล้วอย่างไหนที่เรียกว่าหย่อนเกินไปถ้าเราเห็นไอศกรีมแล้วอยากกินเราก็ไม่พยายามทำสติสัมปชัญญะให้เกิดขึ้น
เพื่อดับความอยากกินนั้นรีบเดินไปซื้อไอศกรีมกินเลย  แต่ขณะกินก็พยายามทำสติสัมปชัญญะให้เกิดขึ้นก่อนอย่างนี้เรียกว่า  เดินตามทางสายกลางที่ค่อนข้างหย่อน  จะทำให้ได้มรรคผลช้า  แต่ถ้าเห็นไอศกรีมนึกอยากกินก็ไม่พยายามดับความอยาก  ขณะเดินไปซื้อก็ไม่พยายามทำสติสัมปชัญญะให้เกิดขึ้น  ขณะกินก็ไม่พยายามทำสติสัมปชัญญะให้เกิดขึ้น  อย่างนี้เรียกว่าไม่ได้ปฏิบัติธรรมเลย  ย่อมไม่มีโอกาสได้มรรคผลแน่นอน
         ทางสายกลางนี้นับว่ามีประโยชน์มากสำหรับนักปฏิบัติธรรม  โดยเฉพาะพวกที่มีจิตใจไม่เข้มแข็ง  พวกที่มีตัณหามาก  พวกที่ชอบสบาย  บุคคลประเภทนี้ถ้าเดินตามทางสายกลางแล้วจะปฏิบัติธรรมได้อย่างสบาย  ไม่ต้องอดข้าวอดน้ำ  ไม่ต้องอดดูหนัง  ดูละคร  ไม่ต้องอดเที่ยวเตร่  เรียกว่า  ปฏิบัติธรรมแบบสบาย ๆ
         อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่มีจิตใจมั่นคงเข้มแข็ง  มีความอดทนสูง  มีสมาธิจิตสูง  ก็ควรเดินตามทางสายกลางที่ค่อนข้างตึง  กล่าวคือ  เมื่อตัณหาเกิดขึ้น  ก็ให้ละตัณหาเสียแม้ละไม่ได้  ก็ไม่ทำตามตัณหา  พยายามข่มใจ  พยายามระงับอารมณ์ให้ได้  เช่น  ถ้าเราเป็นคนชอบกินไอศกรีม  เมื่อเดินไปเห็นไอศกรีม  นึกอยากกิน  เรียกว่ามีตัณหาเกิดขึ้นในจิต  ก็ให้ดับตัณหา  คือความอยากกินนั้นเสีย  ด้วยการทำสติสัมปชัญญะให้เกิดขึ้น  ถ้าดับความอยากไม่ได้  เพราะสติสัมปชัญญะอ่อนกำลัง   ก็ไม่ทำตามตัณหา  คือไม่เดินไปซื้อไอศกรีมกิน  แต่ให้อดกลั้นไว้  พยายามข่มใจด้วยสมาธิบ้าง  ด้วยการพิจารณาธรรมบ้าง  เมื่อเดินผ่านไปความรู้สึกอยากกินไอศกรีมอาจจะรบกวนจิตใจ  ทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน  เกิดความหงุดหงิด  รำคาญใจ  ก็ให้อดกลั้น  ให้พยายามระงับอารมณ์เหล่านั้นไม่ให้กำเริบ  เมื่อเกิดตัณหาอยากทำโน่นทำนี่ก็พยายามดับตัณหาอีก  แม้ดับไม่ได้ก็ให้อดกลั้นไว้อีก  พยายามข่มใจ  พยายามระงับใจ  หาทางดับตัณหาให้ได้  ถ้าเราเอาชนะตัณหาด้วยวิธีนี้ได้เสมอ ๆ  ตัณหาก็จะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว  เพราะเราไม่ให้อาหารแก่ตัณหา  การปฏิบัติธรรมวิธีนี้เป็นวิธีที่ค่อนข้างตึง  เป็นวิธีที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาลปฏิบัติกัน  เป็นวิธีที่จะได้มรรคผลเร็วที่สุด  แต่ต้องใช้ความเพียร  ความอดกลั้นสูง  ใช้สมาธิมาก  เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติเองว่าควรจะเดินตามทางสายกลางในลักษณะใด

8.     อินทรีย์  5

         อินทรีย์  5  เป็นองค์ธรรม  5  อย่าง  ที่ผู้ปฏิบัติธรรมจะต้องทำให้มีกำลังมากพอ  จึงจะสามารถเอาชนะกิเลสถึงขั้นบรรลุมรรคผลได้  ในการปฏิบัติธรรมช่วงแรก ๆ  ของผมนั้นได้ใช้วิปัสสนาญาณ  16  ในการตรวจสอบความก้าวหน้า  ปรากฏว่าแทนที่จะช่วยให้ได้ผลเร็วขึ้น  กลับเป็นอุปสรรคเสียอีก  เพราะมัวแต่สำรวจตนเองอยู่เสมอว่าเราถึงญาณขั้นไหนแล้ว  มีสติสัมปชัญญะเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง  ก็มัวตรวจสอบครั้งหนึ่ง  เสียเวลาไปนาน  เมื่อปฏิบัติธรรมต่อ  มีสติสัมปชัญญะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง  ก็มาเสียเวลาตรวจสอบอีก  ทำให้การปฏิบัติธรรมไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร  ภายหลังผมใช้อินทรีย์  5  ในการตรวจสอบ  ปรากฏว่าได้ผลก้าวหน้าเร็วขึ้น  ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการสำรวจตนเองด้วยอินทรีย์  5  จะทำให้เรารู้จุดอ่อน  จุดบกพร่องต่าง ๆ  ของตัวเรา  เมื่อรู้ข้อบกพร่องแล้ว  เราก็สามารถที่จะปรับปรุงแก้ไขได้ถูกต้อง อุปสรรคในการปฏิบัติธรรมก็หมดไป องค์ธรรมทั้ง 5 ในอินทรีย์ 5 ก็ได้แก่

         ศรัทธา  คือ  ความเชื่อ  ความเลื่อมใส
         วิริยะ    คือ  ความเพียร
         สติ       คือ  การระลึกได้
         สมาธิ  คือ  ความตั้งมั่นของจิต
         ปัญญา  คือ  การรู้ตามความเป็นจริง

         การที่บุคคลบรรลุมรรคผลได้  จะต้องมีอินทรีย์  5  ที่แก่กล้าหรือมีกำลังมากพอ  ถ้าหย่อนในอย่างใดอย่างหนึ่ง  ก็จะยังไม่สามารถบรรลุมรรคผล  หน้าที่ของผู้ปฏิบัติก็คือตรวจสอบดูว่า  องค์ธรรมข้อใดบกพร่องหรืออ่อนกำลัง  เมื่อทราบแล้วก็พยายามหาวิธีทำให้องค์ธรรมข้อนั้นมีกำลังมากขึ้น  ถ้าองค์ธรรมทั้ง  5  มีกำลังสมบูรณ์   การปฏิบัติธรรมจะก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว  โดยปรกติองค์ธรรมทั้ง  5  จะเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน  เช่น  ถ้าศรัทธามีกำลังมาก  ก็จะเป็นเหตุให้ความเพียรมีกำลังมากขึ้นด้วย  ถ้าปัญญามีกำลังมากก็จะทำให้ศรัทธามีกำลังมากขึ้นด้วย  ต่อไปจะกล่าวถึงรายละเอียดขององค์ธรรมทั้ง  5  ข้อ  ดังนี้

         1). ศรัทธา
         ศรัทธา  หมายถึง  ความเชื่อ  คือเชื่อว่ามรรคผลนิพพานมีจริง  ปฏิบัติให้บรรลุได้จริง  เชื่อว่าการปฏิบัติธรรมเป็นของดี  มีประโยชน์  ศรัทธาในขั้นต้นก่อนลงมือปฏิบัติธรรมมักจะเกิดจากการได้ฟังธรรมจากผู้รู้ธรรม  อาจจะเป็นการไปนั่งฟังธรรมที่บรรยายตามสำนักต่าง ๆ  การดูรายการธรรมะทางโทรทัศน์  หรือการอ่านหนังสือธรรมะทั่วไป  ถ้าผู้บรรยายธรรมพูดเก่ง  พูดดีมีเหตุผล  เราก็จะมีศรัทธามาก  แต่ศรัทธาในขั้นต้นนี้ก็ยังอ่อนกำลัง  เพราะเป็นการเชื่อจากการฟังไม่ได้รู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง  ต่อเมื่อปฏิบัติธรรมได้ผล  ได้รู้สภาวธรรมตามความเป็นจริงด้วยตนเองแล้ว  ศรัทธาจึงจะแก่กล้าหรือมีกำลังมากขึ้น
         ลักษณะที่ศรัทธาอ่อนกำลังในขณะปฏิบัติธรรมก็คือ  เราจะรู้สึกว่าไม่อยากปฏิบัติธรรม  เพราะเห็นว่าไปทำกิจอย่างอื่นดีกว่า  เห็นว่าการปฏิบัติธรรมแล้วไม่ได้ผลดีอะไรขึ้นมา  สาเหตุที่ศรัทธาอ่อนกำลังอาจจะเกิดจากการปฏิบัติที่ผิดวิธีทำให้ไม่ได้ผล  เมื่อตั้งใจทำแล้วไม่ได้ผลก็เกิดความท้อใจเกิดความเบื่อหน่าย  วิธีแก้ไขให้ศรัทธามีกำลังมากขึ้นมาก็คือ  ต้องศึกษาหาวิธีปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง  หมั่นสนทนาธรรมกับผู้รู้ธรรม  หรือผู้ที่ปฏิบัติธรรมได้ผลแล้ว  เพื่อให้ตนเองมีกำลังใจในการปฏิบัติธรรมมากขึ้น  เมื่อปฏิบัติธรรมได้ผลแล้ว  ศรัทธาก็จะมีกำลังเพิ่มมากขึ้น  ไม่มีใครในโลกนี้ที่เชื่อคนอื่นมากกว่าตนเอง  เมื่อเราปฏิบัติจนได้เห็นธรรมด้วยตนเอง  ย่อมไม่มีความลังเลสงสัย  ย่อมมีความเชื่ออย่างสนิทใจได้ชื่อว่ามีศรัทธาอย่างแท้จริง

         2). วิริยะ
         วิริยะ  หมายถึง  ความเพียร  ซึ่งก็คือความตั้งใจในการปฏิบัติธรรมนั่นเอง  ลักษณะที่วิริยะหรือความเพียรอ่อนกำลังก็คือ  การไม่ตั้งใจปฏิบัติ  ให้เวลากับการปฏิบัติธรรมน้อยลง  ความเพียรย่อมเกิดจากศรัทธา  ถ้าศรัทธามีกำลัง  ความเพียรก็ย่อมมีกำลังด้วย  ถ้าศรัทธาย่อหย่อน  ความเพียรก็ย่อหย่อนด้วย  เช่น  เมื่อเห็นว่าปฏิบัติธรรมแล้วไม่ได้อะไรดีขึ้นมา  ความตั้งใจ  ความเอาใจใส่ในการปฏิบัติก็ย่อมลดลง
         นอกจากนี้สภาพแวดล้อมก็มีผลให้ความเพียรย่อหย่อนได้  เช่น  อากาศร้อนเกินไป  มีเสียงดังหนวกหู  กินอาหารอิ่มเกินไป ง่วงนอน  ก็จะทำให้ความเพียรย่อหย่อนได้  มีกิจการงานมากความเพียรก็ย่อหย่อนได้  ถ้าสติและสมาธิอ่อนกำลัง  ความเพียรก็ย่อหย่อนได้  ในการแก้ปัญหา  เราจะต้องหาสาเหตุที่ถูกต้องแล้วแก้ไข  เช่น  ถ้าอากาศร้อนเกินไป  ปฏิบัติธรรมไม่ได้  ก็อาจจะเปลี่ยนสถานที่ไปหาที่เย็นสบายกว่า  หรือไปอาบน้ำล้างหน้าให้สบายใจเสียก่อน  แล้วจึงมาปฏิบัติธรรมต่อ  ถ้าวิริยะหรือความเพียรมีกำลัง  เราจะรู้สึกว่ามีความขยัน  มีความเอาใจใส่  มีความตั้งใจในการปฏิบัติธรรม

         3). สติ
         สติ  หมายถึง  การระลึกได้  สตินับว่ามีความสำคัญมากในการปฏิบัติธรรม  เพราะเป็นตัวที่ฝึกได้ง่าย  สามารถกั้นกิเลสไม่ให้ครอบงำจิตได้  สามารถทำจิตที่หดหู่เศร้าหมองให้กลับเป็นจิตที่สดชื่นเบิกบานได้โดยรวดเร็ว  เราจึงควรฝึกฝนสติให้มาก  ลักษณะที่สติอ่อนกำลังก็คือ  ความรู้สึกในการรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ  ไม่ชัดเจนแจ่มใส  รู้สึกซึมเซา  ไม่กระปรี้กระเปร่า  วิธีแก้ไขทำได้โดยการฝึกสมาธิให้มาก ๆ  เพราะการฝึกสมาธิจะทำให้ทั้งสติและสมาธิมีกำลัง  เวลาทำอะไรก็พยายามตั้งใจทำให้มาก ๆ  เช่น  เวลามองก็ตั้งใจมองให้มาก ๆ  ให้รู้ชัดเจนว่ามองอะไร  เวลาฟังเสียก็ตั้งใจฟังให้มาก ๆ  เวลาพูดก็ให้ตั้งใจพูด  เวลาคิดก็ให้ตั้งใจคิดให้เป็นเรื่องเป็นราว  ให้รู้ชัดในเรื่องราวนั้น ๆ  การฝึกเช่นนี้จะทำให้สติมีกำลังมากขึ้น  ถ้าสติมีกำลังเราจะรู้ชัดในอารมณ์ต่าง ๆ  เช่น  เวลามองก็จะเห็นภาพชัดเจน  จิตใจรู้สึกปลอดโปร่งแจ่มใส  มีความกระปรี้กระเปร่า  รู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา

         4). สมาธิ
         สมาธิ  หมายถึง  ลักษณะที่จิตสงบ  ตั้งมั่น  ไม่ฟุ้งซ่าน  ปรกติแล้วสติกับสมาธิเกื้อหนุนกันอยู่เสมอ  คือ  ถ้าสติมีกำลังก็จะฝึกสมาธิได้ง่าย  ถ้าสมาธิมีกำลังก็จะฝึกสติได้ง่าย  ลักษณะที่สมาธิอ่อนกำลังก็คือ  มีความคิดฟุ้งซ่าน  เผลอง่าย  ใจรวนเร  สับสน  หงุดหงิดง่าย  โกรธง่าย  วิธีแก้ไขก็คือ  ต้องฝึกสมาธิให้มาก ๆ  ซึ่งวิธีฝึกก็ได้กล่าวไว้แล้วในบทที่ผ่าน  ๆ  มา  การหัดทำอะไรที่จำเจเหมือนเดิมเป็นเวลานาน ๆ  เช่น  การเคาะจังหวะ  การตีกลอง  การเดาะลูกตะกร้อหรือลูกบอล  การนับลูกประคำ  ก็เป็นการฝึกสมาธิที่ดีวิธีหนึ่ง  เราอาจจะฝึกสมาธิด้วยการหัดทำอะไรอย่างเดียวตลอดเวลานาน ๆ  ก็ได้  เช่น เอาแก้วน้ำมาวางไว้ข้างหน้า แล้วตั้งใจมอง มองให้นาน ๆ  ให้ใจอยู่ที่แก้วน้ำนั้นตลอด  ไม่ให้ไปรับรู้อารมณ์อื่นเลย  ถ้าเผลอไปแล้วนึกขึ้นมาได้  ก็ให้ตั้งใจดูที่แก้วน้ำใหม่  ให้ใจอยู่แต่ที่แก้วน้ำเท่านั้น  พยายามทำให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้  ถ้าสมาธิของเรามีกำลัง  เราก็จะรู้สึกว่าจิตสงบตั้งมั่นอยู่กับเรื่องราวที่สนใจ  ไม่ฟุ้งซ่าน  จิตใจสบาย  มีความสุข  จะนึกอะไรคิดอะไร  ก็เป็นเรื่องเป็นราวไม่สับสน

         5). ปัญญา
         ปัญญา  หมายถึง  การรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง  ซึ่งก็คือการมีสติอยู่กับปรมัตถธรรมนั่นเอง  ลักษณะที่ปัญญาอ่อนกำลังก็คือ  การบังคับให้สติอยู่กับปรมัตถ์  ทำได้ยาก  สติคอยแต่จะอยู่กับสมมุติร่ำไป  สาเหตุที่ปัญญาอ่อนกำลังก็เพราะมีตัณหามาก  มีใจเพลิดเพลินอยู่กับเรื่องราวต่าง ๆ  ในสมมุติ  ติดอยู่ในสมมุติ  ไม่อาจจะละความรู้สึกที่เป็นสมมุติต่าง ๆ  ได้  วิธีแก้ไขก็ต้องพิจารณาธรรมให้มาก ๆ  เช่น  พิจารณาถึงความแก่  ความตาย  เพื่อให้จิตคลายกำหนัดจากเรื่องราวต่าง ๆ  ในสมมุติ  เมื่อไม่ติดใจในสมมุติแล้ว  ก็สามารถที่จะเอาสติไปอยู่กับปรมัตถ์ได้ง่าย  เรียกว่าปัญญามีกำลังมากขึ้น
         ส่วนการที่เรามีสติอยู่กับสมมุติ  แต่ไม่ยินดียินร้ายในสมมุติ  ก็ได้ชื่อว่ามีปัญญาเช่นกัน  เพราะเรารู้สมมุติตามความเป็นจริง  ไม่ติดในสมมุติเหมือนกัน
         อินทรีย์  5  นี้  เมื่อทำให้แก่กล้า  คือ  มีกำลังมากขึ้นแล้ว  เรียกชื่อใหม่ว่า พละ  5  ในการปฏิบัติธรรม  ผู้ปฏิบัติจะต้องคอยตรวจสอบอยู่เสมอว่า ตนย่อหย่อนในข้อใด แล้วหาทางแก้ไขให้ถูกดต้อง  ถ้าเรานำอินทรีย์  5  มาใช้ในการตรวจสอบหาข้อบกพร่องของการปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ  ก็จะทำให้เราสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ  ไปได้
 
 

         มาถึงตรงนี้  เรื่องราวเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมก็จบบริบูรณ์  ผมเป็นเพียงผู้ที่แนะนำวิธีการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องให้แก่ท่านเท่านั้น  บัดนี้ก็หมดหน้าที่ของผมแล้ว  ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของท่านที่จะต้องลงมือปฏิบัติ  เพื่อประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของตัวท่านเอง ไม่มีใครที่จะทำแทนท่านได้ ท่านเท่านั้นที่ต้องลงมือปฏิบัติ  ท่านเท่านั้นที่เป็นผู้บรรลุธรรม  ไม่ใช่ใครอื่นเลย