พระพุทธศาสนากับองค์พระมหากษัตริย์ไทย

ศาสนาพุทธ " ศาสนาประจำชาติ "
โดย พระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ)


พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย…….เหตุฉะนี้ เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องตั้งใจที่จะรักษาความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยอย่าให้มีอันตรายมาถึงได้… จึงเป็นหน้าที่ของเราทั้งหลายที่เป็นเชื้อชาตินักรบต้องรักษาพระศาสนานี้ให้คงอยู่ในเมืองไทยอีกต่อไป ต้องรักษาไว้เพื่อให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานของเราทั้งหลาย….เราจะต้องรักษาความเป็นไทยของเราให้ยั่งยืน เราจะต้องรักษาพระพุทธศาสนาให้ถาวรวัฒนาการอย่างที่เป็นมาแล้วหลายชั่วโคตรของเราทั้งหลาย

องค์ประกอบของพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนามีองค์ประกอบที่สำคัญ ๔ ประการ คือ
๑. ศาสนวัตถุ เช่น วัดวาอาราม โบสถ์ วิหาร สถูปเจดีย์ พระพุทธรูป สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนา
๒. ศาสนพิธีหมายถึง พิธีกรรม ระเบียบประเพณีทางพระพุทธศาสนา เช่น พิธีทำบุญ พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ พิธีบวช พิธีทอดกฐิน ทอดผ้าป่า
๓. ศาสนบุคคล หมายถึง บุคคลในพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระภิกษุ สามเณร พุทธศาสนิกชนทุกคน
๔. ศาสนธรรม หมายถึง หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา กล่าวโดยย่อ ได้แก่ ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิและปัญญา

ศาสนธรรม เป็นแก่นแท้ของศาสนาที่จะต้องพยายามให้เข้าถึงส่วนศาสนวัตถุ ศาสนพิธี และศาสนบุคคล เป็นเปลือกหรือกะพี้ ซึ่งก็มีความสำคัญเพราะช่วยห่อหุ้มแก่นไว้ เหมือนเปลือกกะพี้ต้นไม้ที่หุ้มห่อแก่นของต้นไม้ไว้ ต้นไม้ที่มีแต่แก่น หากไม่มีเปลือกและกะพี้ห่อหุ้มไว้ไม่อาจจะอยู่ได้นานฉันใด พระสัทธรรมที่ขาดศาสนวัตถุ ศาสนพิธี และศาสนบุคคล ก็ไม่อาจอยู่ได้นานฉันนั้น

การส่งเสริมพระพุทธศาสนาจึงต้องส่งเสริมองค์ประกอบทั้ง ๔ ของพระพุทธศาสนา คือ รักษาส่งเสริมศาสนวัตถุให้อยู่ในสภาพที่ดี เช่น รักษาวัดวาอารามให้สะอาด น่ารื่นรมย์ ให้เหมาะสมเป็นสถานที่ศึกษาและปฏิบัติธรรม รักษาและปฏิบัติตามศาสนพิธี คือ พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาให้ถูกต้อง สนับสนุนการศึกษา การปฏิบัติธรรม และการเผยแผ่ธรรมของพระสงฆ์ ส่งเสริมพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้มีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงในพระพุทธศาสนา ปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา รักษาและปฏิบัติตามศาสนธรรมที่เป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่สัทธรรมปฏิรูปหรือสัทธรรมปลอม ป้องกันสัทธรรมปฏิรูปหรือสัทธรรมปลอมเข้ามาในพระพุทธศาสนา
ในภาวะวิกฤตของสังคมไทยเช่นในปัจจุบัน การก่อสร้างศาสนวัตถุใหญ่โตที่ไม่จำเป็น ซึ่งต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากและรบกวนประชาชน ควรจะระงับไว้ก่อน สิ่งที่ควรจะสร้างในปัจจุบัน คือ "คน" คือ พยายามนำธรรมะให้เข้าถึงคน และพยายามนำคนให้เข้าถึงธรรมะ ให้คนได้มีธรรมะเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ อย่าอยู่อย่างคนที่ไร้ที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยว เมื่อมีมรสุมพัดมาก็อาจจะถูกมรสุมพัดพาไปสู่ภัยพิบัติได้โดยง่าย

พระพุทธศาสนากับชาติไทย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้า ได้ทรงพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับชาติและศาสนา มีข้อความดังนี้

" ชาติกับศาสนาเป็นสิ่งต่อเนื่องกัน ถ้าชาติพินาศแล้วศาสนาก็จะตั้งอยู่ไม่ได้ ถ้าศาสนาเสื่อมทรามจนสูญสิ้นไปแล้ว ประชาชนก็จะมีคุณธรรมย่อหย่อนลงไป จนท้ายไม่มีอะไรเลย ชาติใดไร้คุณธรรม ชาตินั้นก็ต้องถึงแก่ความพินาศล่มจม คงต้องเป็นข้าชาติอื่นที่มีคุณธรรมบริบูรณ์อยู่ " 

ในเทศนาเสือป่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งถึงพระพุทธศาสนา มีข้อความดังนี้

" พุทธศาสนาเป็นของไทย เรามาชวนกันนับถือพระพุทธศาสนาเถิด ผู้ที่แปลงศาสนา คนเขาดูถูกยิ่งกว่าคนที่แปลงชาติ เพราะเหตุฉะนั้น เป็นความจำเป็นที่เราทั้งหลายผู้เป็นไทยจะต้องมั่นอยู่ในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาสำหรับชาติเรา "

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราช ได้ทรงมีพระราชดำรัสแด่พระสันตปาปา จอห์นพอลที่ ๒ ประมุขแห่งศาสนจักร คาทอลิก ในคราวที่เข้าเฝ้า ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๗ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

" คนไทยเป็นศาสนิกชนที่ดีทั่วกัน ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติ " 

" ชาวไทยซึ่งเป็นพุทธมามกะชน มีจิตสำนึกมั่นคงอยู่ในกุศลสุจริตและในความเมตตากรุณา เห็นว่าศาสนาทั้งปวงย่อมสั่งสอนความดี ให้บุคคลประพฤติปฏิบัติแต่ในทางที่ถูก ที่ชอบ ที่เป็นประโยชน์ ให้ใฝ่หาความสงบสุขความผ่องใสให้แก่ชีวิต ทั้งเรายังมีเนติแบบธรรมเนียมให้ต้อนรับนับถือชาวต่างชาติต่างศาสนาด้วยความเป็นมิตร แผ่ไมตรีแก่กันด้วยเมตตาจิตและด้วยความจริงใจ บริสุทธิ์ใจ มิให้ดูแคลนเบียดเบียนผู้ถือสัญชาติและศาสนาอื่น ด้วยจะเป็นการนำความแตกร้าวและความรุนแรงเดือดร้อนมาให้ ดังนี้ คริสต์ศาสนาจึงเจริญงอกงามขึ้นในประเทศนี้ "

พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ ได้ทรงประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะทศพิธราชธรรม

ทศพิธราชธรรมเป็นธรรมของพระราชาและนักปกครอง มี ๑๐ ประการ คือ
      ๑. ทาน การให้ ทั้งวัตถุทาน ธรรมทาน และอภัยทาน
      ๒. ศีล ความประพฤติดีงาม งดเว้นจากการทำชั่ว เสียหาย ไม่ทำอะไรที่เป็นการไม่เหมาะไม่ควร
      ๓. ปริจจาคะ การเสียสละ ยอมเสียสละประโยชน์ส่วนตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวม
      ๔. อาชชวะ ความตรง คือประพฤติซื่อตรง ไม่คิดทรยศต่อประชาชนและประเทศชาติ
      ๕. มัททวะ ความอ่อนโยน มีกายวาจาสุภาพ อ่อนโยน ต่อคนทั้งปวง
      ๖. ตปะ ความเพียร เพียรปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างสม่ำเสมอ ไม่ลดละเบื่อหน่าย มีความกล้าหาญไม่อ่อนแอย่อท้อ 
      ๗. อักโกธะ ความไม่โกรธ ไม่ลุอำนาจของความโกรธ และกระทำไปด้วยอำนาจของความโกรธ
      ๘. อวิหิงสา การไม่เบียดเบียน ไม่ทำอะไรให้เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น ทั้งทางตรงและทางอ้อม มีจิตประกอบด้วยกรุณาคิดช่วยเหลือผู้อื่น
      ๙. ขันติ ความอดทน มีความอดทนต่อความลำบาก ตรากตรำทั้งปวง อดทนต่อถ้อยคำที่จาบจ้วงล่วงเกิน
      ๑๐. อวิโรธนะ ความไม่ผิด จะทำอะไรก็ศึกษาพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดเมื่อรู้ว่าอะไรผิดก็ไม่ทำ
พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ยังทรงเป็นองค์เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภ์ ทรงให้ความอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ ทรงทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช 
" คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ท่วยปั่ว ท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้หญิง ฝูงท่วย มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษากรานกฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว…"
กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฎฐารศ มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม มีปู่ครูนิส (สัยมุต) มีเถร มีมหาเถร เบื้องตะวันตกเมืองสุโขทัยนี้ มีอรัญญิก พ่อขุนรามคำแหงกระทำโอยทานแก่มหาเถรสังฆราชปราชญ์ เรียนจบปิฎกตรัย หลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมา ในกลางอรัญญิก มีพิหารอันหนึ่งมนใหญ่สูงงามแก่กม มีพระอัฎฐารศอันหนึ่งลุกยืน เบื้องตะวันออกเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีปู่ครู…


พระนเรศวรมหาราช
" พระบาทสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า จึงตรัสประกาศแก่เทพยดาทั้งปวงว่า ให้บังเกิดมาในประยูรมหาเศวตฉัตรจะให้บำรุงพระบวรพุทธศาสนา ไฉนจึงมิช่วยให้สว่างแลเห็นข้าศึกเล่า พอตกพระโอษฐ์ลง พระพายก็พัดควันอันเป็นหมอกมืดนั้นสว่างไป ทอดพระเนตรเห็นช้างเศวตฉัตร ๑๖ ช้าง มีช้างดั้ง ช้างกันยืนอยู่เป็นอันมาก…"

พระนารายณ์มหาราช 
"พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ จะให้เราเข้ารีดดังนั้นหรือ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะในราชวงศ์ของเราก็ได้นับถือพระพุทธศาสนามาช้านานแล้ว จะให้เราเปลี่ยนศาสนาอย่างนี้เป็นการยากอยู่ และถ้าพระเจ้าผู้สร้างฟ้าสร้างดินจะต้องการให้คนทั่วโลกได้นับถือศาสนาอันเดียวกันแล้ว พระเจ้ามิจัดการให้เป็นเช่นนั้นเสียแล้วหรือ?" 
" จริงอยู่เมื่อฟอลคอน ในเวลาหมอบอยู่ข้างพระบาท พระเจ้ากรุงสยามได้แปลคำชักชวนที่
พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ได้รับสั่งมากับราชทูตนั้น ฟอลคอนก็กลัวจนตัวสั่นและสมเด็จพระนารายณ์ทรง
พระกรุณาโปรดให้อภัยแก่ฟอลคอน แต่ก็ได้รับสั่งว่า ได้ทรงนับถือศาสนาอันได้นับถือต่อ ๆ กันมาถึง ๒,๒๒๙ ปีแล้ว เพราะฉะนั้นที่จะให้พระองค์เปลี่ยนศาสนาเสียนั้น เป็นการที่พระองค์จะทำไม่ได้ "


สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 
             
                        อันตัวพ่อ ชื่อว่า พระยาตาก
                       ทนทุกข์ยาก กู้ชาติ พระศาสนา
                       ถวายแผ่นดิน ให้เป็น พุทธบูชา
                       แด่พระศาสดา สมณะ พระพุทธโคดม
                       ให้ยืนยง คงถ้วน ห้าพันปี
                       สมณะพราหมณ์ชี ปฏิบัติ ให้พอสม
                       เจริญสมถะ วิปัสสนา พ่อชื่นชม
                       ถวายบังคม รอยบาท พระศาสดา
                       คิดถึงพ่อ พ่ออยู่ คู่กับเจ้า
                       ชาติของเรา คงอยู่ คู่พระศาสนา
                       พุทธศาสนา อยู่ยง คู่องค์กษัตรา
                       พระศาสดา ฝากไว้ ให้คู่กัน


พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 

" ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนาจะป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี "
" แล้วมีพระราชโองการปฏิสันถารแก่เจ้าพระยาและพระยาทั้งปวงว่า " สิ่งของทั้งนี้ จงจัดทำนุบำรุงไว้ให้จงดี จะได้ป้องกันรักษาแผ่นดิน ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และพระราชอาณาเขตสืบไป " แล้วอัครมหาเสนาบดีรับพระราชโองการกราบบังคมทูลว่า " ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทใส่เกล้าใส่กระหม่อม ขอเดชะ " แล้วเสด็จกลับขึ้นข้างในเสด็จประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ…

ครั้นเสร็จการฉลองพระนครแล้ว จึงพระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องกับนามพระพุทธรัตนปฏิมากรว่า " กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรัมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยะวิษณุกรรมประสิทธ์" เป็นพระมหานครที่ดำรงรักษาพระมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นแก้วอย่างดีมีสิริอันประเสริฐ สำหรับพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ประดิษฐานกรุงเทพมหานครนี้ ตั้งแต่พระราชทานนามนี้มา บ้านเมืองก็อยู่เย็นเป็นสุขเกษมสมบูรณ์ขึ้น (ครั้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปลงสร้อยที่ว่าบวรรัตนโกสินทร์นั้นเป็นอมรรัตนโกสินทร์ นอกนั้นคงไว้ตามเดิม)


พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

"ศุภมัสดุ ๑๑๗๙ ศก…พระบาทสมเด็จบรมธรรมมิกมหาราชารามาธิราช บรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว…ทรงพระราชศรัทธาจะยกรื้อวิสาขบูชามหายัญพิธีอันขาดประเพณีมานั้น ให้กลับคืนเจรียรฐิติกาลปรากฏสำหรับแผ่นดินสืบไป จะให้เป็นอัตตัตถประโยชน์และปรัตถประโยชน์ ทรงพระราชศรัทธาจะให้สัตว์โลก ข้าขอบขัณฑเสมาทั้งปวงจำเริญอายุและอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากทุกข์ภัยในชั่วนี้แลชั่วหน้า... "


พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

" ด้วยกำลังทรงพระมหากรุณาเมตตากับไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเป็นอันมาก ทรงพระกรุณาดำรัสให้จดหมาย (คือ จด) กระแสพระราชโองการปฏิญาณยกพระนามพระรัตนตรัยสรณาคมน์ อันอุดมเป็นประธานพยานอันยิ่ง ให้เห็นความจริงในพระบรมหฤทัยแล้วทรงพระราชดำรัสยอมอนุญาต ให้เจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม พระยาศรีพัฒน์รัตนราชโกษา พระยาราชสุภาวดีกับขุนนางผู้น้อยทั้งปวง จงมีความสโมสรสามัคคีรสปรึกษาพร้อมกัน เมื่อเห็นว่าพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดที่มีวัยวุฒิปรีชารอบรู้ราชานุวัตร จะเป็นศาสนูปถัมภกยกพระบวรพุทธศาสนา แลจะปกป้องไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์รักษาแผ่นดินให้เป็นสุขสวัสดิ์โดยยิ่ง เป็นที่ยินดีแก่มหาชนทั้งปวงได้ ก็สุดแท้แต่จะเห็นดีประนีประนอมพร้อมใจกันยกพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์นั้นขึ้นเสวยมไหสวรรยาธิปัตย์ราชสืบสัตติวงศ์ดำรงราชประเพณีต่อไปเถิด อย่าได้กริ่งเกรงพระราชอัธยาศัยเลย เอาแต่ให้ได้เป็นสุขทั่วหน้า อย่างให้เกิดการรบราฆ่าฟันกันให้ได้ความ ทุกข์ร้อนแก่ราษฎร…"



พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

"การพระราชบริจาคอันนี้ ทรงพระราชดำริเห็นว่าไม่ขัดขวางเป็นเหตุให้ท่านผู้ใดขุ่นเคืองขัดใจเลย พระนครนี้เป็นถิ่นที่ของคนนับถือพระพุทธศาสนามาแต่เดิม ไม่ใช่แผ่นดินของศาสนาอื่น คนที่ถือศาสนาอื่นมาแต่อื่นก็ดี อยู่ในเมืองนี้ก็ดี จะโทมนัสน้อยใจด้วยริษยาแก่พระพุทธศาสนาเพราะบูชาอันนี้ไม่ได้ ด้วยไม่ใช่เมืองของศาสนาตัวเลย ถ้าโทมนัสก็ชื่อว่าโลภล่วงเกินไป"



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช 


" ข้าพเจ้าย่อมรู้สึกว่า เป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าที่จะต้องทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งคู่กับพระราชอาณาจักร ให้ดำเนินไปในทางวัฒนาถาวรพร้อมกันทั้งสองฝ่าย" 
" ข้าพเจ้าขอปฏิญาณตนเฉพาะหน้าพระสงฆ์เถรานุเถระทั้งหลาย อันประชุมอยู่ ณ ที่ว่านั้น การที่ข้าพเจ้าคิดจะไปประเทศยุโรป ณ ครั้งนี้ ด้วยข้าพเจ้ามุ่งต่อความดีแห่งพระราชอาณาจักรและด้วยความหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ตัวข้าพเจ้าด้วย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าตั้งใจจะรักษาตนให้สมควรแก่ที่เป็นเจ้าของประชาชนชาวสยามทั้งปวง จะรักษาเกียรติยศแห่งพระราชอาณาจักรอันเป็นเอกราชนครนี้ จนสุดกำลังที่ข้าพเจ้าจะป้องก้นได้ "และเพื่อจะให้เป็นเครื่องเตือนใจตัวข้าพเจ้า และเป็นเครื่องเย็นใจแห่งผู้ซึ่งมีความรักใคร่มุ่งหมายความดีต่อข้าพเจ้า ปราศจากวิตกกังวลใจด้วยความประพฤติรักษาของข้าพเจ้า ๆ จึงขอสมาทานข้อทั้งหลายที่จะกล่าวต่อไปนี้

๑. ข้าพเจ้าจะไม่มีจิตยินดีน้อมไปในศาสดาอื่น นอกจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธรรมอันพระองค์ได้ตรัสรู้ชอบดีแล้ว กับทั้งพระสงฆ์หมู่ใหญ่ อันได้ประพฤติตาม
คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเลยเป็นอันขาด จนตราบกว่าสิ้นชีวิต 

๒. การที่ข้าพเจ้าไปครั้งนี้ แม้ว่าจะช้านานเท่าใดก็ดี ข้าพเจ้าจะไม่ร่วมประเวณีด้วยสตรีใดจนกลับเข้ามาถึงในพระราชอาณาเขต

๓. ถึงแม้ว่าจะไปในประเทศซึ่งเขาถือกันว่า การให้สุราเมรัยไม่รับเป็นการเสียกิริยาอันดีฤาเพื่อป้องกันโรคภัยอันเปลี่ยนอากาศเป็นต้น ข้าพเจ้าจะไม่เสพสุราเมรัยให้มึนเมาเสียสติ ฤาแม้แต่มีกายวิกลเกินปรกติเป็นอันขาด
คำปฏิญาณสมาทานสามประการนี้ ข้าพเจ้าได้ทำไว้เฉพาะหน้าพระสงฆ์เถรานุเถระ อันได้มาประชุมในการพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล แห่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ และที่ปรึกษาของผู้สำเร็จราชการ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง วันที่ ๒๑ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๕ พระพุทธศาสนายุกาล ๒๔๓๙ พรรษา เป็นวันที่ ๑๐๓๕๘ ในรัชกาลปัจจุบัน "



พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

" พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาสำหรับชาติเรา เราจำเป็นต้องถือด้วยความกตัญญูต่อบิดามารดาและต้นโคตรวงศ์ของเรา จำเป็นต้องถือไม่มีปัญหาอะไร… เมื่อข้าพเจ้ารู้สึกได้แน่นอน จึงได้กล้าลุกขึ้นยืนแสดงเทศนาทางพระพุทธศาสนาแก่ท่านทั้งหลาย โดยหวังแน่ว่าบรรดาท่านทั้งปวงซึ่งเป็นคนไทย เมื่อรู้สึกแน่วแน่แล้วว่า ศาสนาในสมัยนี้เป็นของที่แยกจากชาติไม่ได้…พุทธศาสนาเป็นของไทย เรามาชวนกันนับถือพระพุทธศาสนาเถิด…ผู้ที่แปลงศาสนา คนเขาดูถูกยิ่งเสียกว่าผู้ที่แปลงชาติ เพราะเขาย่อมเห็นว่า สิ่งที่นับถือเลื่อมใสกันมาตลอดครั้งปู่ย่าตายาย ตั้งแต่เด็กมาแล้วเป็นของสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คนนั้นมีความสัตย์ มีความมั่นคงในใจหรือไม่ เมื่อมาแปลงชาติศาสนาได้แล้ว เป็นแลเห็นได้ทันทีว่าเป็นคนไม่มั่นคง อย่าว่าแต่อะไรเลย ศาสนาที่ใครทั้งโลกเขานับถือว่าเป็นของสำคัญที่สุด เขายังแปลงได้ตามความพอใจ หรือเพื่อสะดวกแก่ตัวของเขา…เหตุฉะนี้ ผู้แปลงศาสนาถึงแม้จะไม่เป็นผู้ถึงเกลียดชังแห่งคนทั่วไป ก็ย่อมเป็นผู้ที่เขาสามารถจะเชื่อได้น้อย เพราะเหตุฉะนั้น เป็นความจำเป็นที่เราทั้งหลายผู้เป็นไทยจะต้องมั่นอยู่ในพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาสำหรับชาติเรา ต้องเข้าใจพุทธศาสนาในเวลานี้ ไม่มีแห่งใดในโลกที่จะถือจริงรู้จริงเท่าในเมืองไทยเรา เมืองไทยเราเปรียบเหมือนป้อมอันใหญ่ ซึ่งเป็นแนวที่สุดของพระพุทธศาสนาแนวที่ ๑ แนวที่ ๒ ร่อยหรอเต็มทีแล้ว ยังแต่แนวที่ ๓ และแนวที่สุด คือ เมืองไทย… เราทั้งหลายเป็นผู้รักษาแนวนี้ ถ้าเราไม่ตั้งใจรักษาจริง ๆ แล้ว ถ้ามีอันตรายอย่างใดมาถึงพระพุทธศาสนา เราทั้งหลายจะเป็นผู้ที่ได้รับความอับอายด้วยกันเป็นอันมาก…เหตุฉะนี้ เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องตั้งใจที่จะรักษาความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย อย่าให้มีอันตรายมาถึงได้… ผู้ที่คนอื่นเขาส่งเข้ามาปลอมแปลงเพื่อทำลายพระพุทธศาสนา เราทั้งหลายต้องคอยระวังรู้เท่าไว้จึงจะควร…จึงเป็นหน้าที่ของเราทั้งหลายที่เป็นเชื้อชาตินักรบต้องรักษาพระศาสนาอันนี้ให้คงอยู่ในเมืองไทยอีกต่อไป ต้องรักษาไว้เพื่อให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานของเราทั้งหลายให้เขารักษากันต่อไปยั่งยืน เป็นเกียรติแก่ชาติของเราชั่วกัลปาวสานเวลานี้ทั้งโลกเขาพูดเขานิยมว่า ชาติไทยเป็นชาติที่ถือพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธศาสนายั่งยืนอยู่ได้ เพราะมีเมืองไทยเป็นเหมือนป้อมใหญ่ในแนวรบเราเคราะห์ดีที่สุดที่นานมาแล้ว เราได้ตกไปอยู่ในพระพุทธศาสนา จึงได้เป็นมนุษย์ชั้นสูงสุดจะเป็นได้ในทางธรรม เหตุฉะนี้ ขอท่านทั้งหลายที่นั่งฟังอยู่ ผู้ที่ตะเกียกตะกายอยากเป็นฝรั่ง อย่าทำเหมือนฝรั่งในทางธรรมเลย ถ้าจะเอาอย่างฝรั่งจงเอาอย่างในทางที่ฝรั่งเขาทำดี คือในทางวิชาการบางอย่าง ซึ่งเขาทำดีเราควรเอาอย่าง แต่การรักษาศีล รักษาธรรม เรามีตัวอย่างดีกว่าฝรั่งเป็นอันมาก ถือพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างของเราแล้ว เรามีตัวอย่างหาที่เปรียบเสมอเหมือนมิได้

พระพุทธศาสนาก็ดี หรือศาสนาใดก็ดี ที่ตั้งมั่นอยู่ได้ก็ด้วยความมั่นคงของผู้เลื่อมใส ตั้งใจที่จะรักษา และข้าพเจ้าพูดทั้งนี้ ก็เพื่อชักชวนท่านทั้งหลาย อย่างเป็นเพื่อนไทย และเพื่อนพุทธศาสนิกชนด้วยกันทั้งนั้น เพื่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา ข้าพเจ้ารู้สึกว่าได้ทำหน้าที่สมควรแก่อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา เราตั้งใจจะรักษาศาสนาของเราด้วยชีวิต ข้าพเจ้าและท่านตั้งใจอยู่ในข้อนี้ และถ้าท่านตั้งใจจะช่วยข้าพเจ้าในกิจอันใหญ่นี้แล้ว ก็จะเป็นที่พอใจข้าพเจ้าเป็นอันมาก
เมืองเราเกือบจะเป็นเมืองเดียวแล้วในโลกได้มีบุคคลถือพระพุทธศาสนามาก และเป็นเหล่าเดียวกัน เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของเราทั้งหลายที่จะช่วยกันบำรุงรักษาพระพุทธศาสนาอย่าให้เสื่อมสูญไป การที่จะบำรุงพระพุทธศาสนา เราต้องรู้สึกก่อนว่าหลักของพระพุทธศาสนาคืออะไร
เราทั้งหลายที่ยังไม่แน่ ตั้งแต่วันนี้จะได้พร้อมกันตั้งใจว่าในส่วนตัวเราเองจะริษยากันก็ตาม จะเป็นอย่างไรก็ตาม จะทำการเช่นนี้ต่อเมื่อเวลาว่างไม่มีภัย เมื่อมีเหตุสำคัญจำเป็นที่เราจะต้องต่อสู้ชาติอื่น แม้การส่วนตัวของเราอย่างไร จะทำให้เสียประโยชน์แก่ชาติเราแล้ว สิ่งนั้นเราจะทิ้งเสีย เราจะรวมกัน ไม่ว่าในเวลานี้ชอบกันหรือชังกัน เราจะถือว่าเราเป็นไทยด้วยกันหมด เราจะต้องรักษาความเป็นไทยของเราให้ยั่งยืน เราจะต้องรักษาพระพุทธศาสนาให้ถาวรวัฒนาการ อย่างที่เป็นมาแล้วหลายชั่วโคตรของเราทั้งหลาย" 


ความหมายแห่งไตรรงค์ 

                ขอร่ำรำพรรณบรรยาย ความคิดเครื่องหมาย
                แห่งสีทั้งสามงามถนัด
                ขาว คือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์ หมายพระไตรรัตน์
                และธรรมะคุ้มจิตไทย
                แดง คือโลหิตเราไซร้ ซึ่งยอมสละได้
                เพื่อรักษาชาติศาสนา
                น้ำเงิน คือสีโสภา อันจอมประชา
                ธ โปรดเป็นของส่วนองค์ 
                จัดริ้วเข้าเป็นไตรรงค์ จึ่งเป็นสีธง
                ที่รักแห่งเราชาวไทย
                ทหารอวตารนำไป ยงยุทธ์วิชัย
                วิชิตก็ชูเกียรติสยามฯ






พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 

" ศาสนาจะเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงน้ำใจ ให้ทนความลำบากได้ ให้มีแรงที่จะทำการงานของตนให้เป็นผลสำเร็จได้ และยังเป็นยาที่จะสมานหัวใจ ให้หายเจ็บปวดในยามทุกข์ได้ด้วย…พวกเราทุก ๆ คน ควรพยายามให้เด็ก ๆ ลูกหลานของเรามี " ยา " สำคัญ คือ คำสั่งสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าติดตัวไว้เป็นกำลัง เพราะ " ยา " อย่างนี้เป็นทั้ง " ยาบำรุงกำลัง " และ " ยาสมานหรือระงับความเจ็บปวด 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน

พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ได้ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างดียิ่งตลอดมา โดยทรงอุปถัมภ์ในทุก ๆ ด้าน คือ ด้านศาสนธรรมก็ได้ทรงอุปถัมภ์ การชำระและจารึกพระไตรปิฎก การศึกษาพระปริยัติธรรม ตลอดจนการปฏิบัติธรรม ด้านศาสนบุคคลก็ได้ทรงอุปถัมภ์คณะสงฆ์และการสถาปนาพระราชาคณะ ด้านศาสนวัตถุก็ได้ทรงอุปถัมภ์การสร้างและการทะนุบำรุงถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนา อีกทั้งทรงพระราชทานวิสุงคามสีมาให้แก่วัดในพระพุทธศาสนาเท่านั้น
อนึ่ง พระราชกรณียกิจที่พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงบำเพ็ญ ไม่ว่าจะเป็นงานพระราชพิธี งานพระราชกุศล และรัฐพิธี ล้วนแต่มีพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นหลักทั้งสิ้น แม้จะมีพิธีพราหมณ์ปนอยู่ พิธีพราหมณ์เหล่านั้นก็เป็นเพียงส่วนประกอบปลีกย่อยเท่านั้น จึงสรุปได้ว่าประเทศไทย แม้จะไม่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้งว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่โดยพฤตินัยและพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับเครื่องหมายธงชาติไทย ก็เป็นอันนับได้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศไทยมาแต่อดีต
อนึ่ง เครื่องชี้ชัดอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้สิ้นความสงสัยว่า สถาบันศาสนาได้แก่สถาบันพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชาติ จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน ในโอกาสเสด็จออกทรงผนวชเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๙ ว่า "โดยที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของเรา ทั้งตามความศรัทธาเชื่อมั่นของข้าพเจ้าเอง ก็เห็นเป็นศาสนาที่ดีศาสนาหนึ่ง เนื่องในบรรดาสัจจธรรมคำสั่งสอนอันชอบด้วยเหตุผล จึงเคยคิดอยู่ว่าถ้าโอกาสอำนวย ข้าพเจ้าควรจักได้บวชสักเวลาหนึ่งตามราชประเพณี ซึ่งจัดเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระราชบูรพการีตามคตินิยมด้วยและนับตั้งแต่ข้าพเจ้าได้ครองราชย์สืบสัตตติวงศ์
ต่อจากสมเด็จพระเชษฐาธิราชก็ล่วงมากว่าสิบปีแล้ว เห็นว่าน่าจะถึงเวลาที่ควรจะทำความตั้งใจไว้นั้นแล้วประการหนึ่ง… จึงได้ตกลงใจที่จะบรรพชาอุปสมบทในวันที่ ๒๒ เดือนนี้"
พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาททั้งหลายที่ได้อันเชิญมานี้ เป็นพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท ของพระมหากษัตริย์ที่ทรงความสำคัญยิ่งหลายพระองค์ในทุกยุคทุกสมัย ได้ตรัสไว้ทำนองเดียวกัน จึงเป็นหลักฐานยืนยันที่ชัดเจนได้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่บรรพบุรุษของเราได้ยอมรับนับถือเป็นศาสนาประจำชาติและเป็นสถาบันหลักของชาติสืบเนื่องติดต่อมา 
การที่บรรพบุรุษของเรา ได้กำหนดให้สถาบันชาติ สถาบันพระพุทธศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสถาบันหลักที่สำคัญนั้น ทำให้เรามองเห็นถึงพระปรีชาสามารถปราดเปรื่องของบรรพบุรุษของเราเป็นอย่างยิ่งว่า สถาบันดังกล่าวทั้ง ๓ สถาบันนี้จะขาดสถาบันใดสถาบันหนึ่งมิได้ ต่างอาศัยเกี่ยวพัน
ซึ่งกัน คือ

๑. สถาบันชาติ  เครื่องหมายของความเป็นชาติย่อมมีส่วนประกอบหลายอย่าง แต่ส่วนประกอบสำคัญที่บ่งชี้ถึงความเป็นชาติ ได้แก่ ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ และตามที่กล่าวมาแล้วว่าโดยที่ประเทศไทยของราได้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาช้านานแต่โบราณ ทำให้ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทยตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อถือทางพระพุทธศาสนาเกือบทั้งสิ้น ฉะนั้น หากพระพุทธศาสนาได้รับความกระทบกระเทือนย่อมมีผลให้สถาบันชาติสั่นคลอนไปด้วย

๒. สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะโดยกฎมณเฑียรบาลและโดยรัฐธรรมนูญการที่ชนในชาติยังมีความเลื่อมใส ศรัทธายอมรับนับถือพระพุทธศาสนาอยู่ตราบใด ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีลัทธิความเชื่อถือที่สอดคล้องกับองค์พระประมุข มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะสูงสุดร่วมกัน อันเป็นพื้นฐานความมั่นคงที่สำคัญ

. สถาบันพระพุทธศาสนา โดยที่เนื้อแท้ของสถาบันพระพุทธศาสนานั้นมิอาจตั้งอยู่ได้โดยปราศจากความอุปถัมภ์จากองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกและจากรัฐ เพราะพระภิกษุสามเณรซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของสถาบันนี้ เป็นผู้ทรงศีล เป็นผู้ขัดเกลากิเลส เป็นผู้เผยแพร่ประกาศพระศาสนาในฐานะศาสนทายาท มิได้ประกอบอาชีพการงานเยี่ยงคฤหัสถ์ การดำรงสมณเพศต้องอาศัยชาวบ้านและฝ่ายบ้านเมือง หากขาดการอุปถัมภ์ค้ำจุนจากรัฐบาลและจากองค์พระประมุขเมื่อใดก็ย่อมจะดำรงตั้งอยู่ไม่ได้เช่นกันด้วยโครงสร้างของชาติไทยที่มีความผูกพันเกี่ยวเนื่อง
กับพระพุทธศาสนามาแต่อดีตอันยาวนาน จนคำสอนในพระพุทธศาสนากลายเป็นรากฐานของขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี วัฒนธรรม ที่คนไทยทั้งชาติยึดถือร่วมกัน อีกทั้งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะตามกฎมณเฑียรบาล และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทำให้โครงสร้างความเป็นชาติไทย ซึ่งประกอบด้วยสถาบันหลักสามสถาบัน ได้แก่ สถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ มีความสัมพันธ์อาศัยซึ่งกันและกัน มิอาจแยกจากกันได้ หากขาดสถาบันหนึ่งสถาบันใด อีกสองสถาบันก็มิอาจดำรงอยู่ได้ ด้วยเหตุดังกล่าว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ จึงได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของชนชาวไทยทุกคนต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันทั้งสาม ดังเช่นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๖๖ บัญญัติว่า " บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่ง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์…"





>>

<<

!!