คำขวัญประจำจังหวัดอยุธยา
" ราชธานีเก่า อู่ข้าวอู่น้ำ เลิศล้ำกานท์กวี คนดีศรีอยุธยา "

ความหมายของตราประจำจังหวัด

สังข์ซึ่งประดิษฐานอยู่บนพานแว่นฟ้า ภายในปราสาทใต้ต้นหมัน เป็นสัญลักษณ์อันประเสริฐ จึงใช้ เป็นดวงตราของจังหวัด
รูปหอยสังข์ประดิษฐานอยู่บนพานแว่นฟ้าภายในปราสาทใต้ต้นหมัน หมายถึง ดวงตรา
ประจำจังหวัดนี้มาจากตำนานการสร้างเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเล่ากันว่า ในปี พ.ศ.1890
โรคห่าระบาดจนผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก พระเจ้าอู่ทองจึงอพยพย้ายผู้คนออกจากเมืองเดิม
มาตั้งเมืองใหม่ที่ตำบลหนองโสน ซึ่งมีแม่น้ำล้อมรอบ ระหว่างที่ปักเขตราชวัติฉัตรธง ตั้งศาลเพียงตา กระทำพิธีกลบบัตรสุมเพลิง ปรับสภาพพื้นที่เพื่อตั้งพระราชวังอยู่นั้น ปรากฏว่า เมื่อขุดมาถึงใต้ต้นหมัน
ได้พบหอยสังข์ทักษิณาวัตรบริสุทธิ์ พระเจ้าอู่ทองทรงโสมนัสในศุภนิมิตรนั้น จึงสร้างปราสาทน้อย
ขึ้นเป็นที่ประดิษฐานหอยสังข์ดังกล่าว

ดอกไม้ประจำจังหวัด
ชื่อดอกไม้ ดอกโสน

ต้นไม้ประจำจังหวัด
ชื่อพรรณไม้ หมัน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cordia dichotoma

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือเรียกสั้น ๆ ว่าอยุธยา ตั้งอยู่ในภาคกลางและเป็นเมืองหลวงเก่า
ของไทยสร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.1893 โดยสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ในเวลา 417 ปีที่กรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี มีกษัตริย์ปกครอง 34 พระองค์จาก 5 ราชวงศ์ คือ ราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ราชวงศ์ สุโขทัย ราชวงศ์ปราสาททอง และราชวงศ์บ้านพลูหลวง นับเป็น
ราชธานีของไทยที่มีอายุยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่อยู่ในดินแดนแหลมทองแห่งนี้


วัดไชยวัฒนาราม

ภูมิประเทศของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตั้งอยู่ในภาคกลาง เป็นที่ลุ่มไม่มีภูเขาแต่มีแม่น้ำสายใหญ่คือ แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลลงมาบรรจบกันในลักษณะล้อมรอบผืนแผ่นดินส่วนใหญ่ ของตัวเมืองไว้ ตัวจังหวัดจึงเป็นเกาะที่มีบ้านเรือนปลูกเรียงรายหนาแน่นตามสองข้างฝั่งแม่น้ำ รอบตัวเมือง มีทางรถไฟและสถานีรถไฟอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะเมือง


พระราชวังบางประอิน

ตลอดระยะเวลา 417 ปีที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแห่งราชอาณาจักรไทย มิได้เพียงเป็นช่วงแห่ง ความเจริญสูงสุดของชนชาติไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างสรรค์อารยธรรมของหมู่มวลมนุษยชาติ ซึ่งเป็นที่ ประจักษ์แก่นานาอารยประเทศอีกด้วย แม้ว่ากรุงศรีอยุธยาจะถูกทำลายเสียหายจากการสงครามจากประเทศ เพื่อนบ้าน และจากน้ำมือการบุกรุกขุดค้นของพวกเรากันเองแล้ว ส่วนที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ยังมีร่องรอย หลักฐานซึ่งแสดงให้เห็นอัจฉริยภาพและความสามารถยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษแห่งราชอาณาจักร ผู้อุทิศตน สร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมและความมั่งคั่งไว้ให้แก่ผืนแผ่นดินไทย หรือแม้แต่ชาวโลก ทั้งมวลซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า ยูเนสโก้ โดยคณะกรรมการมรดกโลกได้มีมติให้รับเมืองเก่าพระนครศรีอยุธยา ให้เป็น " อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา " ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งใจกลางกรุงศรีอยุธยาที่ได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ไว้ในบัญชีมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534 ณ กรุงคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย พร้อมกับ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชร ซึ่งจะมีผลให้ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญา ที่ประเทศต่าง ๆ ได้ทำร่วมกัน จึงสมควรที่อนุชนคนรุ่นหลังน่าที่จะได้ไปศึกษาเยี่ยมชมเมืองหลวงเก่าของเราแห่งนี้


อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

สถานที่ท่องเที่ยวของพระนครศรีอยุธยาส่วนใหญ่เป็นโบราณสถาน ได้แก่ วัดและพระราชวัง
ต่าง ๆ พระราชวังในพระนครศรีอยุธยามีอยู่ 3 แห่ง คือ พระราชวังหลวง วังจันทรเกษมหรือวังหน้า
และวังหลัง นอกจากนี้ยังมีวังและตำหนัก ซึ่งเป็นที่สำหรับเสด็จประพาสอยู่นอกพระนครศรีอยุธยา
อีกหลายแห่ง คือ วังที่เกาะบางปะอิน อำเภอบางปะอิน ตำหนักนครหลวง ที่อำเภอนครหลวง

อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ
ทิศใต้
ทิศตะวันออก
ทิศตะวันตก
จดจังหวัดลพบุรี จังหวัดอ่างทองและจังหวัดสระบุรี
จดจังหวัดปทุมธานี และจังหวัดนนทบุรี
จดจังหวัดสระบุรี
จดจังหวัดสุพรรณบุรี

การปกครอง

จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 76 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 2,556.6 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 16 อำเภอ ได้แก่
อำเภอพระนครศรีอยุธยา
อำเภอบ้านแพรก
อำเภอลาดบัวหลวง
อำเภอบางปะหัน
อำเภอบางปะอิน
อำเภอวังน้อย
อำเภอนครหลวง
อำเภอบางซ้าย
อำเภอบางบาล
อำเภอเสนา
อำเภอผักไห่
อำเภอภาชี
อำเภอบางไทร
อำเภอมหาราช
อำเภออุทัย
อำเภอท่าเรือ


กระโจมแตร พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

การเดินทางสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ทางรถยนต์

จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้หลายเส้นทาง ดังนี้
1. ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แล้วแยกเข้าทางหลวง หมายเลข 32 ไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
2. ใชัเส้นทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือทางหลวงหมายเลข 302 (ถนนงามวงศ์วาน) เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ข้ามสะพานนนทบุรีหรือสะพานนวลฉวี ไปจังหวัด ปทุมธานี ต่อด้วยเส้นทาง ปทุมธานี-สามโคก-เสนา (ทางหลวงหมายเลข 3111) แล้วแยกขวาที่อำเภอเสนา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3263 ไปยังตัวเมืองอยุธยา
3. ใช้เส้นทาง กรุงเทพฯ-นนทบุรี-ปทุมธานี ทางหลวงหมายเลข 306 ถึงทางแยกสะพานปทุมธานี เลี้ยวเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 347 ผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อำเภอบางปะอิน เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ทางรถโดยสารประจำทาง
กรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา มีรถโดยสารทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ รถออกจากสถานี ขนส่งสายเหนือ (ตลาดหมอชิต) ทุกวัน ๆ ละหลายเที่ยว รายละเอียดสอบถามได้ที่ โทร. 2725242
ทางรถไฟ
สามารถใช้ขบวนรถโดยสาร ที่มีปลายทางสู่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะผ่าน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในเขตอำเภอบางปะอิน อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอภาชี ทางรถไฟจะแยกไปสายเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สถานีชุมทางบ้านภาชี เส้นทางสายเหนือจะผ่านอำเภอท่าเรือด้วยในแต่ละวันจะมีรถไฟบริการขนส่งสินค้า และผู้โดยสารขึ้นลงวันละหลายเที่ยว นอกจากนี้การรถไฟฯ ยังจัดขบวนรถจักรไอน้ำเดินระหว่างกรุงเทพฯ-สถานีอยุธยา-กรุงเทพฯ ในโอกาสพิเศษปีละ 3 ขบวน คือวันที่ 26 มีนาคม (วันสถาปนาการรถไฟและวันที่ระลึกถึงการเปิดทางรถไฟสายแรก ที่เดินรถระหว่างกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ในปี พ.ศ. 2433) วันที่ 14 กันยายน (วันบุรฉัตร-เพื่อรำลึกถึงพระองค์เจ้าบุรฉัตรฯ ผู้บัญชาการ รถไฟพระองค์แรก) วันที่ 23 ตุลาคม (วันปิยมหาราช-เพื่อรำลึกถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงให้กำเนิดกิจการรถไฟไทย) และวันที่ 5 ธันวาคม (วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้า- อยู่หัว) รายละเอียดสอบถาม หน่วยบริการเดินทาง สถานีรถไฟกรุงเทพฯ โทร. 2237010, 2237020
ทางเรือ
ปัจจุบันเป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศมาก เพราะนอกจากจะได้ชมทัศนียภาพ และชีวิตความเป็น อยู่ของประชาชนริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ยังเป็นการย้อนให้เห็นประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาที่ ประเทศไทยมีการค้าขายกับชาวต่างชาติโดยเรือสำเภาต่างประเทศที่สัญจรในลำน้ำเจ้าพระยาในอดีต
นอกจากนี้การท่องเที่ยวทางน้ำเลียบชายฝั่งรอบเกาะเมืองทำได้โดย การเช่าเหมาลำเรือหางยาวได้ที่ ท่าน้ำหลายแห่ง เช่น ที่ท่าน้ำตลาดหัวรอ ท่าน้ำตรงข้ามวัดไชยวัฒนาราม อัตราค่าบริการจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาและเส้นทาง แต่โดยปกติแล้วจะเหมาลำรอบเกาะพระนครศรีอยุธยาตกประมาณ 500 บาท ซึ่งสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 10 คน

แผนที่ท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา