รูปแบบการสอนแบบไม่ชี้นำ สุเทพ อ่วมเจริญ : ดุษฏีบัณฑิต มศว ประสานมิตร |
|
แนวคิด การสอนแบบไม่นำทาง หรือ Nondirective Teaching เป็นงานของ คาร์ล โรเจอร์ (Carl R.Roger, 1969) จากประสบการณ์ของโรเจอร์ในการเป็นนักจิตบำบัด (Psycho Therapist) โรเจอร์ ได้ใช้วิธีการให้คำปรึกษาหารือแก่ผู้ป่วย โดยวิธีคำนึงถึงผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Client-Centered) ด้วยการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้ป่วย มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ เชิดชูในคุณค่าศักดิ์ศรีของบุคคลทุกคน สร้างบรรยากาศความเป็นกันเอง ความเชื่อมั่นไว้วางใจ ให้เกิดกับผู้มารับคำปรึกษา จะทำให้ผู้มาหารู้สึกสบายใจ รู้สึกเป็นอิสระเสรี มีความกล้าพอที่จะเปิดเผยความรู้สึกนึกคิดของตนให้นักจิตวิทยาฟัง โดยผู้ฟังจะต้องให้ความสนใจแสดงการยอมรับเคารพในสิทธิการแสดงความรู้สึกและความคิดเห็นของผู้มาปรึกษา ฟังด้วยความสนใจ ด้วยใจเป็นกลาง ด้วยการถามทบทวนในบางครั้ง เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจปัญหาและความรู้สึกของตนเองอย่างกระจ่างชัด และเพื่อให้ผู้ป่วยมีความกล้าพอที่จะเผชิญกับปัญหาและได้ขบคิดปัญหาของตนเอง นักจิตวิทยาทำหน้าที่เป็นคนกลาง คอยส่งเสริมให้กำลังใจ กระตุ้นให้ผู้ป่วยเปิดเผยตนเองขบคิดปัญหา และทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงในบางครั้ง หรือแนะนำแหล่งข้อมูลให้โดยไม่ทำหน้าที่ตัดสินใจให้ผู้ป่วย โรเจอร์ได้สรุปแนวคิดไว้ว่า ถ้าการบำบัดความสามารถใช้ความสามารถของผู้รับบริการคือผู้ป่วย (Client) ในการแก้ปัญหาของตนเอง และถ้าผู้ใดการบำบัดมุ่งที่จะใช้ความสามารถนี้ ทำไมถึงไม่ใช้คุณสมมุติฐานอันนี้ และนำวิธีสอนแบบนี้ไปใช้ ? ถ้าการสร้างบรรยากาศของการยอมรับ การเข้าใจและการเคารพนับถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด ในการส่งเสริมการเรียนรู้ในการบำบัด (Thera py) ถ้าเช่นนี้จะนำมาเป็นมาตรการในการเรียนรู้ในการศึกษาได้หรือไม่ ถ้าการบำบัดปรากฏผลออกมาว่า นอกจากจะทำให้ตนรู้จักตนเองดีแล้ว ยังสามารถช่วยตัวเองในสภาพการอย่างใหม่ ๆ ได้อย่างดีอีกด้วย ก็พอจะหวังผลคล้ายกันนี้ในวงการศึกษาได้หรือไม่ นอกจากนี้ โรเจอร์ให้ทัศนต่อไปอีกว่า สำหรับสังคมที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่นในสังคมในอดีตนั้น การสอนเนื้อหาวิชาความรู้และทักษะให้ผู้เรียนอาจจะเหมาะสมกับสังคมในขณะนั้น แต่สังคมในสมัยใหม่ มนุษย์กำลังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป้าหมายของการเรียนการสอน ควรเป็นการอำนวยความสะดวกเพื่อการเรียนรู้ (facilitator of learning) ครูมีหน้าที่เป็นผู้อำนวยการความสะดวกในการเรียนรู้ (facilitator) ครูควรมีคุณสมบัติด้านให้ความจริงใจแก่ผู้เรียน เคารพให้เกียรติและการเห็นคุณค่าของผู้เรียน และเป็นผู้ที่เอาใจเขามาใส่ใจเรา รวมถึงเป็นผู้มีความละเอียดอ่อนในการเข้าถึงอารมณ์ของผู้เรียน เป้าหมาย เป้าหมายที่สำคัญของการให้การศึกษาไม่ว่าจะเป็นการให้การศึกษาแก่เด็กหรือผู้ใหญ่ ก็คือการที่ผู้เรียนเสาะแสวงขวนขวายที่จะศึกษาด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีผู้ใดบังคับ เป็นการเรียนที่เกิดจากใจชอบใจรักซึ่งเกิดจากแรงจูงใจภายใน การเรียนรู้ในลักษณะนี้เรียกว่า เป็นการเรียนรู้จากการนำตนเอง (Self directed learning) ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่นักการศึกษาพึงประสงค์ให้เกิดกับผู้เรียนมากที่สุด โรเจอร์เรียกแนวการสอนข้างต้นว่า Student centered ครูหรือผู้อำนวยความสะดวกจะต้องรับผิดชอบในฐานะ เป็นสมาชิกของกลุ่มและเป็นผู้นำการเรียน จะต้องเป็นผู้สร้างบรรยากาศของการมีส่วนร่วมในกลุ่ม เป็นผู้รักษาบรรยากาศของการยามรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เป็นผู้ช่วยแนะแหล่งวิทยาการ ที่จะหาความรู้เพิ่มเติมตามที่กลุ่มต้องการ และเห็นว่าเป็นประโยชน์ เป็นผู้มีความยืดหยุ่น และสามารถทำได้หลายบทบาท เช่น เป็นผู้ตีความหมาย เป็นผู้ชี้ขาด หรือเป็นเพียงสมาชิกธรรมดาคนหนึ่งในกลุ่มผู้เรียน การเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student centered approach) อาศัยแนวคิดการรักษาผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางการบำบัด (Client-centered Therapy) โดย โรเจอร์ได้ตั้งสมมติฐานดังนี้ 1. ผู้สอนจะไม่สอนผู้เรียนโดยตรงแต่จะช่วยอำนวยให้ (facilitate) ผู้เรียนได้เรียนรู้ ทั้งนี้ เพราะว่าบุคคลทุกคนจะอยู่ในโลกแห่งประสบการณ์ของตน สิ่งที่มีชีวิตนั้นจะมีปฏิสัมพันธ์ต่อสนาม (field) แห่งปรากฏการณ์ต่าง ๆ ตามที่เขาแต่ละคนประสบและรับรู้ 2. ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดีในสิ่งที่ผู้เรียนเห็นว่าสิ่งนั้น ๆ เกี่ยวข้องกับการดำรงรักษาหรือเพิ่มพูนลักษณะของผู้เรียนช่วยส่งเสริมหรือช่วยให้เขาสามารถรักษาโครงสร้างภายในของตนเองได้ 3. ผู้เรียนจะปฏิเสธประสบการณ์ที่เขาคิดว่าเป็นประสบการณ์ที่จะต้องให้เขาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในของตนเอง (Organization of self) 4. ถ้าหากผู้เรียนอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือสถานการณ์ที่เขาคิดว่าเคร่งเครียดภายใต้การบังคับควบคุมผู้เรียนจะยิ่งยืนหยัด ไม่ยอมยืดหยุ่นปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ไม่มีสิ่งใดมาทำให้เขาตึงเครียด เขาจะปรับตัวเองให้เข้ากับประสบการณ์ได้ 5. สภาวะทางการศึกษาที่จะมีประสิทธิภาพที่สุดในการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้จะต้องเป็นสภาวะที่ไม่ข่มขู่ผู้เรียนและเป็นภาวะที่ผู้เรียน สามารถจำแนกวิเคราะห์องค์ประกอบของสถานการณ์ที่เขาประสบและรับรู้อยู่ แนวการสอน การสอนแบบ Student Centered บางครั้งอาจใช้ในรูปของคำว่า The Learner at the Center หลักสำคัญของการสอนวิธีนี้ ผู้สอนควรมีบทบาทดังนี้ 1. จะต้องเป็นผู้สร้างบรรยากาศที่ดีในชั้นเรียน 2. คอยช่วยทำให้เกิดความกระจ่างชัดในเป้าหมายของแต่ละคนและของกลุ่ม 3. ต้องใช้ความต้องการ และความสนใจของผู้เรียนแต่ละคน เป็นแรงจูงใจในการเรียนการสอน 4. ต้องพยายามจัดหาแหล่งทรัพยากรในการเรียนรู้ (Resources for learning) ให้เปิดกว้างมากที่สุด 5. ต้องคำนึงว่าตนเองเป็นแหล่งทรัพยากรในการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นได้สำหรับกลุ่มผู้เรียน 6. ในการปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน ผู้สอนจะต้องจำแนกได้ว่าสิ่งใดเป็นเนื้อหาวิชาการและสิ่งใดเป็นอารมณ์หรือความรู้สึกของผู้เรียน และควรพยายามที่ให้ความสำคัญแก่ทั้งสองสิ่งนี้ในทางที่เหมาะสมต่อความรู้สึกของผู้เรียนและกลุ่มผู้เรียน 7. ในห้องเรียนที่มีความเป็นกันเอง ผู้สอนสามารถปรับเปลี่ยนบทบาทของตัวเองเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่ม และแสดงความคิดเห็นได้ในฐานะผู้เรียนคนหนึ่งเท่านั้น 8. ผู้สอนควรริเริ่มแสดงความรู้สึก ความนึกคิดของตัวเองกับสมาชิกของกลุ่มในลักษณะที่เป็นการแสดงออกระหว่างบุคคล ที่มีความใกล้ชิดกัน ซึ่งแต่ละฝ่ายจะรับฟังหรือไม่รับฟังก็ได้ 9. ตลอดเวลาที่มีปฏิสัมพันธ์กัน ผู้สอนจะต้องมีความไวต่อการแสดงออกด้วยอารมณ์ที่ลึกซึ้งและรุนแรงระหว่างสมาชิกของกลุ่ม 10. ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก และต้องยอมรับว่าตนเองมีข้อจำกัดบางประการในการเป็นผู้อำนวยความสะดวก รูปแบบการสอน รูปแบบการสอน (Model of Teaching) โดยใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางที่เรียกว่า Nondirective Teaching เป็นรูปแบบรายบุคคล (Personal Model) ซึ่งมีความสำคัญอยู่ที่ - ครูและผู้เรียนต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการเรียนการสอน การเรียนการสอนไม่สามารถจะกำหนดให้เป็นรูปแบบตายตัวได้ มีเพียงส่วนน้อยที่ควบคุมได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว เหตุการณ์และกิจกรรมจะแปรผันไปตามสภาพการณ์ในแต่ละครั้งแล้ว แต่ว่าผู้เรียนหรือกลุ่มจะนำไปนั่นคือ - กิจกรรมการเรียนการสอนไม่สามารถกำหนดไว้ก่อนล่วงหน้าให้แน่ชัดลงไปได้ แตกต่างจากวิธีสอนส่วนใหญ่ที่กิจกรรมได้ถูกกำหนดไว้แน่ชัด และมีลำดับ ขั้นตอน ที่เป็นเช่นนี้เป็นผลมาจากการนำเสนอ และการวิเคราะห์เรื่องราวที่เรียกนั้นให้ความสำคัญกับผู้เรียนในรูปแบบการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง บทบาทของครูจะต้องลดน้อยลง ลำดับขั้นของกิจกรรมที่กำหนดไว้ก็ลดลง บทบาทของมีข้อจำกัดบางประการในการเป็นผู้อำนวยความสะดวก ควรเน้นหนักที่เป็นผู้แนะนำเท่าที่ผู้เรียนมีความต้องการ และไม่อาจที่จะกำหนดให้หรือคาดไว้ล่วงหน้าได้ ดังนั้น เพื่อให้รูปแบบการเรียนการสอนบรรลุผล ผู้สอนจะต้องเรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ที่มีความไวในการรับรู้จากบุคคลอื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นทักษะที่จะต้องฝึกฝนเพิ่มเติม รวมทั้งประสบการณ์ในรูปแบบการสอนอย่างเดียวกันนี้ ที่ผ่านมาในอดีต ขั้นตอนของกิจกรรมการเรียนการสอน โรเจอร์กล่าวว่าแม้ว่ากิจกรรมการเรียนการสอนจะมีความหลากหลายจน ไม่สามารถจะกำหนดไว้ล่วงหน้าได้ แต่ก็สามารถแบ่งลำดับขั้นของกิจกรรมได้ เป็น 5 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้ (Bruce Joyce, and Marsha Weil, 1986 : 151) ขั้นแรก กำหนดสถานการณ์ที่เป็นปัญหาครูจะช่วยตั้งข้อสังเกตจากความคิดเห็น หรือความรู้สึกที่ผู้เรียนแสดงออกมาอย่างอิสระ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมองเห็นปัญหาที่แจ่มชัด ขั้นที่สอง ครูจะต้องกระตุ้นให้ผู้เรียนแสดงความรู้สึกต่อเรื่องนั้น ๆ ทั้งทางบวกและทางลบ เพื่อกำหนดและสำรวจข้อปัญหา ขั้นที่สาม ครูพยายามช่วยให้ผู้เรียนเกิด insight ในปัญหานั้นทีละน้อย ๆ เช่น รับรู้ความหมายใหม่ มองเห็นความสัมพันธ์เชิงเหตุผล เข้าใจความหมายของพฤติกรรมที่ผ่านมา ฯลฯ ขั้นที่สี่ ครูกระตุ้นให้ผู้เรียนมองเห็นแนวทางในการแก้ปัญหา ผู้เรียนจะช่วยกันวางแผนและตัดสินใจเลือกทางเลือก ในการแก้ปัญหาโดยมีครูเป็นผู้ให้ความกระจ่างชัดในแต่ละทางเลือก ขั้นที่ห้า ผู้เรียนนำเสนอการกระทำด้วยวิธีการหลาย ๆ อย่าง การนำไปใช้ Nondirective Teaching Model สามารถนำไปใช้ได้กับปัญหาระดับต่าง ๆ ทั้งระดับบุคคล สังคม และวิชาการ ในระดับส่วนบุคคลนั้น ผู้เรียนจะสำรวจความรู้สึกเกี่ยวกับตนเอง ในปัญหาสังคมผู้เรียนจะสำรวจความรู้สึกที่มีความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ และความสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึกที่มีต่อตนเองกับความรู้สึกที่มีต่อคนอื่นในปัญหาด้านวิชาการ ผู้เรียนจะสำรวจความรู้สึกของตนเอง เกี่ยวกับความสามารถและความสนใจ ทั้งสามกรณีดังกล่าวนี้ เนื้อหามักจะเป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่า เรื่องอื่น ๆ ปกติจุดเน้นจะอยู่ที่ความรู้สึกของแต่ละบุคคล ประสบการณ์ การหยั่งเห็น และวิธีการแก้ปัญหา การใช้วิธีสอนนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ครูจะต้องยอมรับว่านักเรียนสามารถที่จะเข้าใจและสามารถแก้ปัญหาของตนเองได้ ครูจะต้องเชื่อว่าผู้เรียนมีศักยภาพในตัวเอง และครูจะต้องเชื่อว่าผู้เรียนมีศักยภาพในตัวเอง และครูจะต้องแสดงออกทางคำพูดด้วย ครูจะต้องไม่ตัดสินให้ผู้เรียนว่าอะไรดีอะไรเลว ครูจะต้องไม่วิเคราะห์ปัญหาเฉพาะในสายตาของครูเท่านั้น ครูจะต้องพยายามมองโลกของผู้เรียนในสายตาของผู้เรียนที่ผู้เรียนจะมองด้วยวิธีการต่าง ๆ นี้ อาจกล่าวได้ว่าครูจะต้องปรับตัวเองให้รับคนอื่น (ผู้เรียน) ได้ในบทบาทของครูที่จะเป็นตัวแทน (alter-ege) ของผู้เรียนครูจะต้องพัฒนา frame of reference ซึ่งยากที่จะทำ แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ หากครูมีความต้องการที่จะเข้าใจผู้เรียนเช่นเดี่ยวกับที่ผู้เรียนเข้าใจ ในการยอมรับจำเป็นต้องสร้าง frame of reference คือความสามารถที่มองอย่างที่ผู้เรียนมอง ในสถาบันการศึกษาที่มีลักษณะ Open-Classrooms จะพบว่าได้นำหลักการ Non-directive ไปใช้ ซึ่งมีลักษณะต่าง ๆ ดังนี้ จุดประสงค์ของ Open-Classrooms พัฒนาความรู้สึกและความเจริญ self- concept
ของผู้เรียน และความต้องการการเรียนรู้ของผู้เรียน โมเดลนี้มีโครงสร้างภายนอกน้อยมาก ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก ผู้เรียนเป็นผู้นำเสมอ การอภิปรายเน้นเรื่องปัญหาเป็นศูนย์กลาง (Problem-centered) เน้นปัญหาไม่มีการให้รางวัลหรือการลงโทษ (เพราะไม่มีการตัดสินว่าดีไม่ดี ผิดไม่ผิด) รางวัลที่ได้รับเกิดขึ้นในตนเอง (intrinsic) ไม่ใช่คนอื่นมาบอก (ให้) หลักปฏิบัติ (Principles of Reaction) ครูเป็นผู้เข้าไปหาผู้เรียน เห็นอกเห็นใจและช่วยให้ผู้เรียนนิยามปัญหากระตุ้นให้ ผู้เรียน (ทำเอง) ลงมือปฏิบัติเพื่อให้ได้วิธีแก้ปัญหานั้น องค์ประกอบสนับสนุน (Principles of Reaction) ครูต้องการที่จะมีสถานที่เงียบ และเป็นการส่วนตัว เพื่อพูดคุยกับผู้เรียนได้ตัวต่อตัว และต้องการแหล่งวิทยาการ (resource center) สำหรับการพูดคุยประชุมเชิงวิชการ บทสรุป ขั้นตอนของ Nondirective Teaceing Model ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ดังนี้ (Joyce and Wiel, 1986) นิยามสถานการณ์ ที่เป็นประโยชน์ (Defining the Helping Situation) ครู สำรวจปัญหา (Exploring the Problem) ผู้เรียนร่วมกันนิยามปัญหา ครู การทำความเข้าใจปัญหาให้กระจ่าง (Developing Insight) ผู้เรียนอภิปราย การวางแผนและการตัดสินใจ (Planning and Decision Making) ผู้เรียนวางแผนการตัดสินใจเบื้องต้น
ครูชี้แนะแนวทางการแก้ปัญหา การตัดสินใจในทางเลือกที่เป็นไปได้
|